กรุงเทพฯ--7 พ.ย.--ปภ.
กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) ยึดแนวทางบริหารจัดการสาธารณภัย ตาม พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 เพื่อให้เกิดความเป็นเอกภาพในการบริหารงาน ซึ่งกำหนดให้กรมปภ. เป็นหน่วยงานกลางของรัฐในการป้องกันและบรรเทา สาธารณภัยของประเทศ โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป (6 พ.ย. 50)
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) กล่าวว่า แต่เดิมการบริหารจัดการสาธารณภัยของประเทศ ยึดแนวทางการปฏิบัติตามกฎหมาย ว่าด้วยการป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน และกฎหมายว่าด้วยการระงับอัคคีภัย ทำให้การดำเนินงานซ้ำซ้อน และไม่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติงานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ เกิดความเป็นเอกภาพในการอำนวยการและบริหารจัดการสาธารณภัย จึงได้ยกเลิกพระราชบัญญัติป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติป้องกันและระงับอัคคีภัย พ.ศ.2542 และตราพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 ขึ้น ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป (6 พ.ย.50) มีการกำหนดขอบเขตการปฏิบัติงานช่วยเหลือ ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยครอบคลุมภัยทุกประเภท ทั้งภัยที่เกิดจากการกระทำของมนุษย์ และภัยธรรมชาติที่ส่งผลกระทบในวงกว้าง รวมถึงภัยทางอากาศและการก่อวินาศกรรม โดยมีคณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ (กปภ.ช.) ซึ่งมีนายกรัฐมนตรีหรือรองนายกรัฐมนตรีที่มอบหมายเป็นประธาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ปลัดกระทรวงกระทรวงมหาดไทยเป็นรองประธาน และอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นกรรมการและเลขานุการ มีหน้าที่กำหนดแผนป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติเพียงองค์กรเดียว พิจารณาให้ความเห็นชอบแผนการป้องกันฯ ก่อนเสนอคณะรัฐมนตรี รวมทั้งบูรณาการพัฒนาระบบการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยระหว่างหน่วยงานของรัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และหน่วยงานภาคเอกชนที่เกี่ยวข้องให้มีประสิทธิภาพ วางระเบียบเกี่ยวกับค่าตอบแทน ค่าทดแทน และค่าใช้จ่ายในการดำเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ตลอดจนให้คำแนะนำ ปรึกษาและสนับสนุนการปฏิบัติหน้าที่ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ทั้งนี้ ในกรณีเกิดสาธารณภัยร้ายแรง นายกรัฐมนตรี หรือรองนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมายจะเป็น ผู้บัญชาการเหตุการณ์ โดยกรม ปภ.จะเป็นหน่วยงานกลางของรัฐในการดำเนินการเกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยของประเทศ มีภารกิจหลักในการจัดทำแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ศึกษา วิเคราะห์ วิจัยเพื่อหามาตรการ ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ปฏิบัติการ ประสานการปฏิบัติ ให้การสนับสนุนและช่วยเหลือทุกหน่วยงาน รวมถึงการสงเคราะห์เบื้องต้นแก่ผู้ประสบภัย แนะนำ ให้คำปรึกษา และอบรมเกี่ยวกับการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยให้แก่หน่วยงานต่างๆ
นายอนุชา กล่าวต่อไปว่า การดำเนินการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว จะเป็นการบูรณาการร่วมกันจากทุกภาคส่วน ส่งผลให้หน่วยงานทุกระดับทั้งส่วนกลาง ส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เข้ามามีบทบาทในงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยในพื้นที่มากยิ่งขึ้น อีกทั้งมีผู้บัญชาการเหตุการณ์ในแต่ละระดับอย่างชัดเจน ทำให้เกิดความเป็นเอกภาพในการบริหารจัดการสาธารณภัยของประเทศ ผู้ประสบภัยได้รับความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว ทั่วถึง เป็นธรรม และบรรลุเป้าหมายในการพัฒนาประเทศไทย ให้เป็นเมืองปลอดภัยน่าอยู่