กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น
ปัจจุบันหนึ่งในโรคภัยสุขภาพที่น่ากลัวและพบมากขึ้นเรื่อยๆ นั่นคือ โรคหัวใจและหลอดเลือด แต่ด้วยความก้าวหน้าและเทคโนโลยีทางการแพทย์ ในการตรวจหาความผิดปกติเกี่ยวกับโรคหัวใจและลดผลกระทบกับอวัยวะข้างเคียงที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะการตรวจหาโรคความผิดปกติของเนื้อเยื่อหัวใจ ด้วยเทคโนโลยีคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า Magnetic Resonance Imaging (MRI) ที่มีระดับความเข้มของสนามแม่เหล็กในระดับ 3 เทสลา (3.0 Tesla) ประกอบกับ ซอฟแวร์ที่มีความทันสมัย ซึ่งทำให้ภาพ MRI ที่ใช้ในการวินิจฉัยโรคมีความละเอียดสูง สามารถใช้วินิจฉัยอาการผิดปกติของเนื้อเยื่อ กล้ามเนื้อหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างมีคุณภาพ
นพ.ประดับ สุขุม ผู้อำนวยการอาวุโส โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวว่า ประเทศไทย มีผู้ป่วยโรคหัวใจเพิ่มขึ้นทุกปี ซึ่งการเข้าถึงการรักษานั้นอาจใช้เวลานานในผู้ป่วยของสถานพยาบาลภาครัฐ แม้ว่าโรคหัวใจจะมีหลายสภาวะอาการให้ผู้ป่วยกังวลใจหากไม่ได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที ทางโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ ได้เห็นความสำคัญในการรักษาโรคหัวใจในทุกกระบวนการวินิจฉัยและการตรวจรักษา เพื่อให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาได้อย่างตรงจุด รพ.จึงได้เพิ่มทางเลือกในการรักษาพยาบาลให้กับผู้ป่วยโรคหัวใจและโรคหลอดเลือด ด้วยการตรวจเนื่อเยื่อหัวใจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า MRI 3 Tesla ให้แก่ผู้มีสิทธิเบิกค่ารักษาพยาบาลกับทางราชการตามกฎหมาย อาทิ ข้าราชการ ลูกจ้างประจำ ผู้รับเบี้ยหวัดบำนาญ และบุคคลในครอบครัว นอกเหนือจากสถานพยาบาลที่เป็นของรัฐ โดยกรมบัญชีกลางจะรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการรักษาบางส่วนให้ ซึ่งเป็นไปตามข้อกำหนดของกรมบัญชีกลาง เพื่อช่วยลดภาระของผู้ป่วยที่ได้รับสิทธิ์และยังช่วยอำนวยความสะดวก ให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาด้วยเครื่องมือแพทย์ที่ทันสมัย โดยแพทย์เป็นผู้อ่านผล และผู้ป่วยเข้าถึงการรักษาได้อย่างรวดเร็วมากขึ้น
พญ.เลิศลักษณ์ เชาวน์ทวี อายุรแพทย์โรคหัวใจ โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ กล่าวถึง การตรวจเอ็มอาร์ไอ (Magnetic Resonance Imaging : MRI) คือ การสร้างภาพจากคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า โดยภาพ MRI ที่ได้สามารถใช้ตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะต่างๆ ในร่างกายได้ทุกส่วน MRI เป็นเครื่องมือทางการแพทย์สำหรับตรวจภายนอก เพื่อตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะภายใน (non-invasive tool) โดยไม่มีการใส่ส่วนใดของอุปกรณ์เข้าไปในร่างกาย (noninvasive equipment) หลักการทำงานของเอ็มอาร์ไอ คือ การทำปฏิกิริยาของคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้ากับอนุภาคโปรตอนที่อยู่ในส่วนประกอบของเนื้อเยื่อแต่ละชนิด การทำปฏิกิริยานี้จะทำให้ได้สัญญาณภาพที่จะถูกเปลี่ยนเป็นภาพอวัยวะภายในด้วยระบบคอมพิวเตอร์ โดยการแสดงผลภาพ MRI นี้ทำให้การแสดงผลภาพเป็นแบบ Grey Scale สามารถแยกแยะความแตกต่างของเนื้อเยื่อ น้ำในร่างกาย ไขมัน กล้ามเนื้อ รวมไปถึงเนื้อเยื่อบริเวณใกล้เคียงได้ ช่วยให้มองเห็นภาพส่วนที่ต้องทำการรักษาได้อย่างชัดเจน ทั้งยังเป็นเครื่องมือที่ปลอดรังสีเอกซเรย์ เพราะไม่ใช้รังสีเอกซเรย์ในการสร้างภาพของอวัยวะภายในเพื่อวินิจฉัยโรค
การตรวจหาความผิดปกติและวินิจฉัยโรคด้วย MRI ที่มีระดับความเข้มของสนามแม่เหล็ก 3 เทสลา (3.0 Tesla) เป็นเทคโนโลยีที่ได้รับการพัฒนา เพื่อใช้สำหรับการวินิจฉัยอาการผิดปกติของหัวใจและหลอดเลือดได้อย่างมีคุณภาพและความละเอียดสูง โดยเฉพาะการตรวจหาโรคของความผิดปกติของเนื้อเยื่อหัวใจ อาทิ โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด โรคกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ โรคอะไมลอยโดซิสของกล้ามเนื้อหัวใจ (cardiac amyloidosis) ความผิดปกติของหลอดเลือด ตรวจสมรรถภาพการทำงานของหัวใจ โรคของลิ้นหัวใจ โรคของหลอดเลือดโคโรนารี และหลอดเลือดแดงใหญ่ โรคหัวใจและหลอดเลือดที่ผิดปกติมาแต่กำเนิด (congenital heart disease) ทั้งก่อนและหลังการรักษาทั้งในเด็กและผู้ใหญ่ รวมถึงการตรวจเพื่อประเมินความเสี่ยงของการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจตีบโดยการกระตุ้นด้วยยา (MRI stress test with pharmacologic induction) และ การตรวจดูก้อนเลือดในคนไข้ที่มีกล้ามเนื้อหัวใจตายมีแรงบีบตัวน้อยทำให้เลือดในห้องหัวใจแข็งตัวง่ายเป็นต้น การตรวจ MRI 3.0 Tesla นับเป็นทางเลือกหนึ่งสำหรับผู้ป่วย ที่ไม่ต้องเสี่ยงต่อการได้รับรังสีเอกซเรย์ ปลอดภัยสำหรับผู้ป่วย เช่น ผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ ผู้ป่วยที่แพ้สารทึบรังสี หรือผู้ป่วยในภาวะไตวาย รวมถึงผู้ป่วยสูงอายุที่ไม่สามารถกลั้นหายใจนานๆ ได้ และผู้ป่วยที่ปราศจากข้อห้ามในการตรวจ MRI นอกจากนี้ ตัวเครื่องยังมีลักษณะเป็นอุโมงค์ทรงกระบอกในแนวนอนกว้างขวางขึ้นจากเดิม สามารถรองรับผู้ป่วยที่มีขนาดตัวที่ใหญ่ได้ ช่วยลดอาการกลัวการเข้าไปอยู่ในบริเวณแคบและปิดทึบของผู้ป่วยได้ แต่ทั้งนี้สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการกลัวที่แคบจริงๆ แพทย์จะพิจารณาเป็นรายๆ ไป และคนไข้ที่ใส่ลิ้นหัวใจเทียมบางชนิด เครื่องกระตุ้นเส้นประสาท คนไข้ที่ใส่ขดลวดดามหลอดเลือด (stent) ในเวลาน้อยกว่า 8 สัปดาห์ จะไม่สามารถใช้การตรวจ MRI ได้แพทย์จะพิจารณาตรวจวินิจฉัยด้วยวิธีอื่นต่อไป
แม้ MRI 3.0 Tesla เป็นเครื่องมือที่ปลอดรังสีเอกซเรย์ แต่ทั้งนี้ก็ยังมีข้อจำกัดในการตรวจ MRI 3.0 Tesla ได้แก่ ผู้ป่วยที่ตั้งครรภ์ หรือให้นมบุตร(ในกรณีที่คนไข้ต้องฉีด สารเปรียบต่าง Contrast agent) ผู้ป่วยที่มีอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่เป็นโลหะฝังอยู่ร่างกาย เช่น เครื่องกระตุ้นหัวใจ และผู้ป่วยที่มีค่าอัตราการกรองของไตน้อยกว่า 30 เปอร์เซ็นต์ ควรปรึกษาแพทย์เฉพาะโรคไตเพื่อประเมินความเสี่ยงก่อนตรวจ การเตรียมตัวของผู้ป่วยก่อนเข้ารับการตรวจ ได้แก่ 1.ผู้ป่วยงดน้ำและอาหาร 4 ชั่วโมงก่อนการตรวจ MRI stress test (ทดสอบสมรรถภาพหัวใจด้วยการใช้ยากระตุ้น) การตรวจMRI แบบอื่นนอกเหนือจาก stress test ไม่ต้องงดอาหารก่อนตรวจ 2.ผู้ป่วยที่เข้ารับการตรวจ ต้องถอดฟันปลอม เครื่องประดับโลหะต่างๆ เพราะส่วนประกอบที่มีโลหะจะส่งผลรบกวนคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้ 3.ผู้ป่วยที่เคยเข้ารับการผ่าตัดใส่โลหะในร่างกาย ต้องแจ้งเจ้าหน้าที่ให้ทราบก่อนเข้าห้องตรวจ 4.ทำธุระเข้าห้องน้ำให้เสร็จเรียบร้อยก่อนเข้าห้องตรวจเนื่องจากการตรวจอาจใช้ระยะเวลานาน 5.ระหว่างการตรวจผู้ป่วยจะต้องนอนนิ่ง ไม่เคลื่อนไหวร่างกายส่วนใดส่วนหนึ่งขณะทำการตรวจ เพื่อจะได้ภาพที่ชัดเจน 6.สามารถกดสัญญาณขอความช่วยเหลือจากเจ้าหน้าที่ได้หากมีอาการผิดปกติเช่น แน่นหน้าอก อึดอัด หายใจไม่ออก
MRI เป็นอีกหนึ่งเทคโนโลยีที่สามารถช่วยให้แพทย์วินิจฉัยโรคได้ตรงจุด และนำไปสู่การรักษาโรคต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทันท่วงทีมากยิ่งขึ้น เพื่อช่วยตรวจหาความผิดปกติของหัวใจ หลอดเลือด และเนื้อเยื่อหัวใจ ด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI 3.0 Tesla) ทางโรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพเปิดบริการให้สิทธิ์สำหรับผู้ป่วยที่เป็นข้าราชการและครอบครัว ที่สามารถเบิกจ่ายกับกรมบัญชีกลาง ได้เข้าถึงสิทธิประโยชน์ในการรักษานี้ สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่แผนก Cardiac Imaging โรงพยาบาลหัวใจกรุงเทพ โทร. 02-755-1292, 02-755-1294 สามารถเข้ารับสิทธิ์ได้ตั้งแต่วันนี้ – 31 ธันวาคม 2561