กรุงเทพฯ--2 ต.ค.--บีโอไอ
บีโอไอ ปรับมาตรฐานการตั้งเขตอุตสาหกรรม ให้สอดคล้องกับมาตรฐานการตั้งนิคมอุตสาหกรรมของกนอ. หวังช่วยลดต้นทุนการพัฒนานิคมและลดราคาขายพื้นที่ในนิคม พร้อมกำหนดขนาดพื้นที่ในนิคมอุตสาหกรรมสิ่งทอต้องไม่ต่ำกว่า 500 ไร่ เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการขยายเครือข่ายการผลิตตั้งแต่ต้นน้ำ ยันปลายน้ำ
นายโฆสิต ปั้นเปี่ยมรัษฎ์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานประชุมคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บอร์ดบีโอไอ) ว่า ที่ประชุมเห็นชอบให้บีโอไอ ปรับเงื่อนไขการส่งเสริมกิจการเขตอุตสาหกรรมทั่วไป ตามข้อเสนอของการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย โดยผ่อนผันให้ กิจการเขตอุตสาหกรรมทั่วไป ที่มีพื้นที่เกิน 1,000 ไร่ มีพื้นที่ตั้งโรงงานได้เกินกว่าร้อยละ 75 ได้ โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน จากเดิมที่กำหนดให้พื้นที่ตั้งโรงงานจะต้องไม่น้อยกว่าร้อยละ 60 และไม่เกินร้อยละ 75 ของพื้นที่ทั้งหมด
ทั้งนี้เพราะเทคโนโลยีของเขตอุตสาหกรรมได้เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก ดังนั้น ความจำเป็นที่จะต้องใช้พื้นที่ส่วนกลางสำหรับจัดทำระบบสาธารณูปโภคจึงลดลง ตัวอย่างเช่น ระบบบำบัดน้ำเสียแบบใหม่ใช้พื้นที่น้อยกว่าเดิม เพราะก่อสร้างในแนวดิ่ง ในขณะที่ระบบเดิมต้องใช้พื้นที่มาก นิคมอุตสาหกรรมหลายแห่งซื้อน้ำจากภายนอก จึงไม่จำเป็นต้องก่อสร้างอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ภายในนิคม และนิคมอุตสาหกรรมสามารถใช้บริการกำจัดขยะจากภายนอก โดยไม่ต้องมีพื้นที่เตาเผาขยะ
สำหรับเงื่อนไขเรื่องพื้นที่ขั้นต่ำของกิจการเขตอุตสาหกรรมทั่วไปนั้น ยังกำหนดไว้เหมือนเดิมคือไม่ต่ำกว่า 500 ไร่ เพื่อให้เกิดความสะดวกและง่าย ต่อการพัฒนาคลัสเตอร์และการเชื่อมโยงอุตสาหกรรมภายในพื้นที่เดียวกัน
อย่างไรก็ตามในส่วนของกิจการนิคมอุตสาหกรรมสิ่งทอครบวงจร ซึ่งปัจจุบันไม่มีการกำหนดพื้นที่ขั้นต่ำไว้ ที่ประชุมได้เห็นชอบให้กำหนดพื้นที่ขั้นต่ำไว้ที่ 500 ไร่ เพื่อส่งเสริมให้มีพื้นที่มากพอ สำหรับอุตสาหกรรมสิ่งทอที่จะมีการขยายการดำเนินกิจการในทุก ๆ ขั้นตอน หรือส่งเสริมให้เกิดการรวมกลุ่มในกลุ่มอุตสาหกรรมสิ่งทอในกิจการหลาย ๆ ประเภท
ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2543 จนถึงปัจจุบัน มีการจัดตั้งเขตอุตสาหกรรมทั่วไปแล้วทั้งสิ้น 25 โครงการ เงินลงทุน 25,458 ล้านบาท นิคมอุตสาหกรรมสิ่งทอครบวงจร 1 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 257 ล้านบาท เขตอุตสาหกรรมการพิมพ์ 1 โครงการ มูลค่า 772 ล้านบาท เขตอุตสาหกรรมภาพยนตร์ 1 โครงการ มูลค่าเงินลงทุน 1,229 ล้านบาท และ เขตอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ มูลค่าเงินลงทุน 3,867 ล้านบาท