กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--มรภ.สงขลา
อาจารย์ มรภ.สงขลา ร่วมเวทีประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์วิจัย ครั้งที่ 10 สุดเจ๋งใช้แบบจำลองคณิตศาสตร์วิเคราะห์การแพร่กระจายเชื้อเอดส์และวัณโรค คว้ารางวัลผลงานระดับดีมาก
ผศ.ดร.อนุมัติ เดชนะ คณบดีคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 24-25 พฤษภาคม ที่ผ่านมา คณาจารย์และนักศึกษาของทางคณะฯ ประกอบด้วย อ.วาสนา มู่สา โปรแกรมวิชาชีววิทยา และชีววิทยาประยุกต์ อ.นันธิดา ลิ่มเสฎโฐ โปรแกรมวิชาเคมีและเคมีประยุกต์ อ.อดิศักดิ์ เด็นเพ็ชรหน๋อง อ.ศรัณยา เฮงสวัสดิ์ และ อ.ธีระพงศ์ คงเกื้อ โปรแกรมวิชาคณิตศาสตร์และสถิติ และ น.ส.กานต์พิชชา แซ่ตั้ง นักศึกษาโปรแกรมคณิตศาสตร์และสถิติ เข้าร่วมนำเสนอผลงานในงานประชุมวิชาการวิทยาศาสตร์วิจัย ครั้งที่ 10 "วิทยาศาสตร์มุ่งนวัตกรรมไทยแลนด์ 4.0" ณ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ผลปรากฏว่างานวิจัยเรื่อง การวิเคราะห์เสถียรภาพของแบบจำลองคณิตศาสตร์สำหรับโรคเอชไอวี/เอดส์ และวัณโรค (Stability Analysis of HIV/Aids and Tuberculosis Mathematical Model) ซึ่งนำเสนอโดย อดิศักดิ์ เด็นเพ็ชรหน๋อง ศศิวิมล แทนด้วง และ จุฑาลักษณ์ แก้วบพิธ ได้รับรางวัลนำเสนอผลงานวิจัยระดับดีมาก ภาคโปสเตอร์ ซึ่งแบบจำลองทางคณิตศาสตร์ที่คณะผู้วิจัยคิดค้นขึ้น ถือเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์อย่างมากในการทำความเข้าใจและวิเคราะห์การเปลี่ยนแปลงของโรค ทั้งยังสามารถนำข้อมูลที่ได้ไปใช้ในการพิจารณาการแพร่กระจายและควบคุมการติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ และวัณโรคได้อีกด้วย
ในงานประชุมวิชาการดังกล่าว ยังมีผลงานของคณาจารย์และนักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ร่วมนำเสนอในครั้งนี้ด้วยอีก 4 เรื่อง ดังนี้ 1. การพยากรณ์จำนวนผู้ป่วยโรคอุจจาระร่วงของจังหวัดสงขลา (Forecasting Number of Diarrhea Patients of Songkhla Province) นำเสนอโดย ธีระพงศ์ คงเกื้อ ปาริฉัตร รักเงิน และ อลิษา พรามแผลง 2. สมบัติของลำดับทั่วไปของลำดับฟีโบนักชีและลำดับลูคัส (Some Properties for New Generalizations of Fibonacci and Lucas Sequences นำเสนอโดย กานต์พิชชา แซ่ตั้ง ปารตี สุระคำแหง และ ศรัณยา เฮงสวัสดิ์ 3. การผลิตเซลลูโลสจากแบคทีเรียโดยใช้น้ำแตงโมเป็นสับสเตรท (Production of Bacterial Cellulose Using Watermelon Juice as Substrate) นำเสนอโดย ภาริกา ไฝ่นุ้ย อารี ศรจอน วาสนา มู่สา และ 4. การนำเสนอผลงานวิจัยแบบบรรยาย เรื่อง ปริมาณฟินอลิกทั้งหมด ฤทธิ์ต้านอนุมูลอิสระและฤทธิ์ต้านแบคทีเรียก่อโรคจากสารสกัดใบละมุดสีดา (Total phenolic content antioxidant and antipathogenic bacterial activities from the Madhuca esculenta leaves extracts) นำเสนอโดย ต่วนรอฮานี โตะบูกาฮา โนร์เลียนา ยะโก๊ะ ทวีสิน นาวารัตน์ และ นันธิดา ลิ่มเสฎโฐ