กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--สำนักงาน กปร.
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้องคมนตรีเดินทางไปติดตามและเร่งรัดการดำเนินงานโครงการก่อสร้างทำนบดินบ้านไทรนอง 2 อันเนื่องมาจากพระราชดำริ หลังจากที่ทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ให้บังเกิดประโยชน์สุขกับราษฎรโดยเร็ว
บ้านไทรนอง ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี มีประชากร 185 ครัวเรือน รวม 578 คน ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำสวนผลไม้เป็นหลัก อาทิ ทุเรียน มังคุด เงาะ ลองกอง เป็นต้น
สภาพภูมิประเทศของบ้านไทรนองติดกับเทือกเขาสุกิม มีลักษณะเป็นเนินเขามีความลาดชันค่อนข้างมาก โดยมีต้นน้ำอยู่ที่เทือกเขาสุกิม ในช่วงฤดูฝนประมาณเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน จะมีปริมาณน้ำมากแต่จะขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้ง เพราะน้ำจะไหลลงพื้นที่ราบและลงสู่ทะเลอย่างรวดเร็ว มีปริมาณน้ำท่าน้ำไหลผ่านทั้งปีประมาณ 700,000 ลูกบาศก์เมตร หลังจากที่กรมชลประทานได้ดำเนินการก่อสร้างทำนบดินบ้านไทรนอง ปริมาณความจุ 60,000 ลูกบาศก์เมตร แล้ว ยังพบว่าในฤดูแล้งราษฎรยังประสบปัญหาในเรื่องการขาดแคลนน้ำสำหรับอุปโภค-บริโภค และทำการเกษตร
ต่อมา นายวีระ จันทวังโส ราษฎรบ้านไทรนอง หมู่ที่ 15 ตำบลสองพี่น้อง อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี ได้ขอพระราชทานโครงการก่อสร้างฝายทดน้ำคลองไทรนองตอนบน เพื่อบรรเทาปัญหาการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภค-บริโภค และการเกษตรของราษฎร ซึ่งจากการสำรวจสภาพพื้นที่ของสำนักงานคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ (สำนักงาน กปร.) ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง สรุปได้ว่าควรดำเนินการก่อสร้างทำนบดินเพิ่มเติมอีกแห่งหนึ่งทางตอนล่างของบ้านไทรนอง ซึ่งห่างจากทำนบดินบ้านไทรนองเดิม โดยออกแบบฝายที่มีความสูงประมาณ 9 เมตร ยาวประมาณ 200 เมตร คาดว่าเมื่อการก่อสร้างแล้วเสร็จจะสามารถกักเก็บน้ำได้เพิ่มขึ้นประมาณ 54,000 ลูกบาศก์เมตร ทำให้ช่วยเหลือพื้นที่การเกษตรของราษฎรได้ประมาณ 55 ไร่ อีกทั้งพื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ครอบครองของราษฎรและมีเอกสารสิทธิ์ได้ยินยอมอุทิศให้ดำเนินการ ซึ่งโครงการดังกล่าวสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริแล้ว ต่อมาเมื่อวันที่ 17 มีนาคม 2559 จังหวัดจันทบุรีได้อนุมัติงบประมาณ จำนวน 7,000,000 บาท ให้แก่โครงการชลประทานจันทบุรี เพื่อดำเนินการก่อสร้างตามที่สำนักงาน กปร. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ร่วมพิจารณาออกแบบการก่อสร้าง
เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม 2561 พลอากาศเอกชลิต พุกผาสุข องคมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการติดตามและขับเคลื่อนโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริพื้นที่ภาคกลาง พร้อมคณะฯ ได้เดินทางไปติดตามและเร่งรัดการดำเนินงานโครงการก่อสร้างทำนบดินบ้านไทรนอง 2 อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ได้กล่าวภายหลังจากการรับฟังความคืบหน้าในการดำเนินงานว่า โครงการนี้นับเป็นโครงการแรก ๆ ที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ทรงพระกรุณารับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ คาดว่าไม่น่าจะเกิน 2 เดือนนับจากนี้ การก่อสร้างก็จะแล้วเสร็จสามารถแก้ไขปัญหาเรื่องน้ำให้กับประชาชนในพื้นที่ได้มากขึ้น
พร้อมนี้ได้กล่าวกับประชาชนและคณะผู้ติดตามว่า ...
"ดีใจที่ได้มีโอกาสเดินทางมาพื้นที่ครั้งนี้ คิดว่าผลผลิตทางการเกษตรของเกษตรกรในพื้นที่ เช่น ทุเรียน เงาะ ลองกอง และมังคุด ก็คงจะสมบูรณ์มากยิ่งกว่าที่ผ่านมา ก็ขอให้ส่วนงานที่เกี่ยวข้องร่วมกับประชาชนในพื้นที่ช่วยกันดูแลบริหารจัดการให้โครงการฯ นี้เอื้อประโยชน์ต่อพี่น้องประชาชนในพื้นที่ต่อไป"
ทางด้าน นายอาคม วาจาสัตย์ เกษตรกรหมู่ที่ 15 ต.สองพี่น้อง จ.จันทบุรี เปิดเผยว่า ตนมีอาชีพทำสวนผลไม้ ปลูกเงาะ มังคุด ที่ผ่านมาทุกปี ในช่วงหน้าแล้งจะต้องใช้น้ำมาก หากน้ำไม่พอผลผลิตจะเสียหาย จำหน่ายไม่ได้ราคา ที่ผ่านมาก็มีปัญหาทุกปีต้องลงทุนกันเองในการหาน้ำด้วยการขุดสระน้ำแล้วดูดน้ำขึ้นไปรดต้นไม้ แต่ปัญหาก็ไม่หมด ปีใหนแล้งมากสระที่ขุดก็แห้งไม่มีน้ำ ปีไหนมีฝนก็โชคดีไป ปีไหนฝนมาช้าก็ลำบากเช่นกัน ต้องเสียค่าไฟฟ้าเดือนหนึ่งประมาณ 10,000 บาท ไปรดต้นไม้ประมาณ 4 เดือน ก็คิดเป็นค่าใช้จ่ายประมาณ 40,000 กว่าบาท หากเมื่อโครงการนี้แล้วเสร็จก็จะเก็บกักน้ำได้เพิ่มมากขึ้น จะเป็นผลดีต่อชาวสวนทั้ง 2 ฝั่ง ที่จะมีน้ำเพียงพอต่อการบำรุงต้นไม้ที่ปลูกได้ตลอดทั้งปี ผลผลิตที่ออกมาก็จะมีคุณภาพขายได้ราคา อีกทั้งได้กล่าวด้วยว่า... "ผมได้เสียสละพื้นที่ของสวน 1 ไร่ เพื่อให้มีพื้นที่สำหรับรองรับน้ำของโครงการฯ ซึ่งเมื่อมองถึงประโยชน์ที่จะได้รับแล้วนับว่าคุ้มค่ามาก และเป็นประโยชน์ที่ส่วนรวมต่างก็ได้รับเช่นเดียวกัน นับเป็นพระมหากรุณาธิคุณเป็นอย่างยิ่งที่พระองค์ทรงพระราชทานโครงการนี้มาให้เกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งตอนนี้ราษฎรทั้งสองฝั่งของโครงการฯ ได้ตกลงกันแล้วว่าจะร่วมกันดูแลโครงการฯ และช่วยกันบำรุงรักษาเพื่อประโยชน์ร่วมกันต่อไป"
สำหรับความเป็นมาของโครงการฯ และการดำเนินการก่อสร้างนั้น นายทินกร สุทิน ผู้อำนวยการชลประทานจันทบุรี กล่าวว่า... เดิมพื้นที่ตรงนี้เป็นพื้นที่ค่อนข้างลาดชัน น้ำที่ไหลมาจากร่องน้ำที่สูงจะไหลไปตามร่องต่ำหมด ฤดูแล้งก็จะเก็บน้ำไม่ได้ ทำให้เกษตรกรที่ทำสวนตลอดถึงการอุปโภคบริโภคขาดแคลนน้ำ ราษฎรจึงได้ทำหนังสือขอพระราชทานความช่วยเหลือ ก็ได้รับพระบรมราชานุญาตรับไว้เป็นโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในรัชกาลที่ 10 ทางจังหวัดจันทบุรี ก็ได้สนับสนุนงบประมาณเป็นงบพัฒนาจังหวัดเข้ามาดำเนินการ ในระยะแรกที่ทางส่วนงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาดำเนินการปรากฏว่ามีปัญญาเรื่องสปริงเวย์ซึ่งต้องสร้างในพื้นที่ของราษฎร และมีต้นทุเรียนที่ปลูกแล้วประมาณ 10 กว่าต้น เพื่อไม่ให้ราษฎรเดือดร้อนจึงได้มีการสั่งหยุดการก่อสร้าง พร้อมทำการแก้ไขแบบด้วยการย้ายสปริงเวย์ไปไว้ในอีกทางหนึ่ง
ครั้งที่ 1 ที่กำหนดแบบเพื่อย้ายสปริงเวย์แต่สำรวจไม่ละเอียด ปรากฏว่าพื้นดินข้างล่างเจอหินก้อนใหญ่ ก็ไม่สามารถทำสปริงเวย์ ณ จุดนั้นได้ ก็ทำการแก้ไขแบบใหม่อีกครั้งหนึ่งเพื่อขยับเข้ามาอีก ซึ่งขณะนี้แบบชุดล่าสุดได้ดำเนินการแล้วเสร็จคาดว่าสิ้นเดือนพฤษภาคม 2561 นี้จะสามารถดำเนินการก่อสร้างได้ใหม่อีกครั้งหนึ่ง ซึ่งจะใช้ระยะเวลาในการดำเนินการไม่น่าจะเกิน 2 เดือนข้างหน้าก็จะแล้วเสร็จ
สำหรับพื้นที่ที่จะได้รับประโยชน์ โดยเฉพาะพื้นที่ทางการเกษตรของราษฎรจะได้รับอย่างเต็มที่ แม้ดูเหมือนการเก็บกักน้ำของทำนบจะน้อยคือ 54,000 ลูกบาศก์เมตร ก็ตาม แต่จากสภาพของภูมิประเทศของจังหวัดจันทบุรีก็จะมีน้ำเติมเข้ามาอย่างต่อเนื่อง ด้วยเหตุนี้จึงทำให้ทำนบตัวนี้จะมีน้ำใช้น้ำได้ตลอดทั้งปี ซึ่งจะช่วยเหลือราษฎรได้ทั้งหมู่บ้าน ที่สำคัญมีแหล่งน้ำธรรมชาติมาจากเทือกเขาสุกิมในพื้นที่จังหวัดจันทบุรี เป็นน้ำต้นทุนที่มีไหลตลอดทั้งปี
"สำหรับประโยชน์ในการใช้น้ำจากโครงการฯ นี้ จากการพูดคุยกับราษฎรในพื้นที่แล้วพบว่า หากมีปริมาณน้ำเพียงพอ ทางชุมชนจะนำมาใช้เป็นน้ำดิบผลิตประปาหมู่บ้านเพื่อใช้ในการอุปโภคและบริโภคของราษฎรในชุมชนด้วย ซึ่งจะใช้ประมาณ 2 หมื่นกว่าคิวต่อปีเท่านั้น ซึ่งมีปริมาณเพียงพอ"