กรุงเทพฯ--25 พ.ค.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
ก.แรงงาน จับมือรัฐ-เอกชน จัดแข่งขันช่างเชื่อมมือาชีพ เฟ้นหาสุดยอดเยาวชน ต่อยอดฝีมือสู่สากล
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่าปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาการขาดแคลนช่างเชื่อมโลหะเป็นจำนวนมาก ทั้งช่างเชื่อมโลหะมีรายได้ค่อนข้างสูงเมื่อเทียบกับช่างอื่นๆ แต่ภาคการศึกษาไม่สามารถผลิตช่างเชื่อมโลหะให้เพียงพอต่อภาคอุตสาหกรรมได้ เนื่องจากผู้เรียนน้อย ต้องมีความอดทนสูง และอีกปัญหาหนึ่งที่ส่งผลโดยตรงต่อสถานประกอบกิจการก็คือการขาดแคลนช่างเทคนิคสำหรับควบคุมและบำรุงรักษาหุ่นยนต์เชื่อมอุตสาหกรรม ที่มีทักษะการติดตั้ง การควบคุม และการบำรุงรักษาให้มีประสิทธิภาพ สามารถใช้งานได้อย่างคุ้มค่ากับงบประมาณที่ลงทุนไป ซึ่งหุ่นยนต์เชื่อมอุตสาหกรรมนิยมใช้ในโรงงานผลิตรถยนต์และชิ้นส่วน โรงงานประกอบเครื่องจักร โรงงานผลิตเหล็ก กพร. กระทรวงแรงงาน จึงดำเนินการตามนโยบายพลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ด้านการพัฒนาทักษะฝีมือคนทำงาน ทุกเพศ ทุกวัย ตั้งแต่ 1.0-4.0 ให้เป็นแรงงานทักษะ (Skilled labour) มีการเพิ่มพูนสมรรถนะให้ตรงกับความต้องการของตลาด
ล่าสุด กพร. ได้ใช้แนวทางประชารัฐร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา สมาคมครูและผู้ประกอบการวิชาชีพช่างเชื่อม และบริษัท ยู บี เอ็ม เอเชีย (ประเทศไทย) จำกัด จัดให้มีการแข่งขันทักษะฝีมือแรงงานช่างเชื่อมประเทศไทย ครั้งที่ 6 ขึ้นในงานอินเตอร์แมค 2018 ณ ศูนย์แสดงนิทรรศการและการประชุมไบเทค เมื่อเร็วๆ นี้ โดยมีการแข่งขันทักษะฝีมือช่างเชื่อม (Welding Skills Competition) และการแข่งขันทักษะฝีมือช่างควบคุมหุ่นยนต์ (Robot Welding Competition)
นายธวัช เบญจาทิกุล รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในฐานะประธานพิธีปิดงานแข่งขันฯกล่าวว่าการแข่งขันครั้งนี้เปิดโอกาสให้เยาวชนจากสถาบันอาชีวะ หน่วยงานฝึกอบรมในสังกัดกพร. สถานศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชน ทั่วประเทศ เข้าร่วมแข่งขัน ซึ่งมีเยาวชนให้ความสนใจเข้าร่วมจำนวน 96 คน แบ่งเป็นการแข่งขันทักษะฝีมือช่างเชื่อมจำนวน 54 คน และการแข่งขันทักษะฝีมือช่างควบคุมหุ่นยนต์ จำนวน 21 สถานศึกษา รวม 42 คน วัตถุประสงค์ เพื่อคัดเลือกช่างเชื่อมที่มีทักษะฝีมือการเชื่อมที่มีคุณภาพและได้มาตรฐานสากล ส่งเสริมการพัฒนาบุคคลากรทางด้านช่างเชื่อมของประเทศไทย และแก้ปัญหาการขาดแคลนแรงงานฝีมือทางด้านช่างเชื่อมของประเทศ รวมถึงพัฒนาความรู้และทักษะการควบคุมหุ่นยนต์เชื่อมโลหะของภาคอุตสาหกรรม ให้สอดคล้องกับการลงทุนโครงการเมกะโปรเจ็กของรัฐบาลใน10 อุตสาหกรรมเป้าหมาย ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และการขยายโครงสร้างพื้นฐานของสนามบิน ท่าเรือ รวมถึงที่พักอาศัย
"การแข่งขันครั้งนี้ยังเป็นการตอกย้ำว่าช่างเชื่อมไทยมีทักษะฝีมือระดับโลก เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานทั้งในและต่างประเทศ ก่อนหน้านั้นกพร. ได้ส่งเยาวชนเข้าแข่งขันฝีมือแรงงานช่างเชื่อมในระดับภูมิภาคหรือระดับนานาชาติและมักจะทำผลงานได้ดีได้รับรางวัลในระดับนานาชาติ เช่น การแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียน ครั้ง 8-11 ที่ผ่านมา เยาวชนไทยสามารถคว้าเหรียญทองในสาขาเทคโนโลยีงานเชื่อมมาโดยตลอด โดยการแข่งขันฝีมือแรงงานอาเซียนครั้งที่ 12 จะจัดขึ้นที่ประเทศไทย คาดว่าเยาวชนไทยจะทำผลงานได้ดีเช่นกัน"