ปภ. แนะวิธีปฏิบัติตนเพื่อความปลอดภัยในการขับขี่รถบรรทุกสิ่งของ

ข่าวทั่วไป Thursday October 4, 2007 15:14 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--4 ต.ค.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แนะวิธีปฏิบัติตนของผู้ขับขี่รถบรรทุกสิ่งของ ขนาดของสิ่งของที่บรรทุกไม่ควรเกินที่กฎหมายกำหนด ขณะขนส่งสิ่งของควรมีผ้าใบคลุม เพื่อป้องกันสิ่งของตกหล่น ถ้าขนาดสิ่งของยื่นเกินกว่าความยาวตัวรถ ควรใช้ผ้าสีแดงผูกหรือติดสัญญาณไฟไว้บริเวณสิ่งของที่ยื่นออกมา เพื่อให้รถคันหลังสังเกตเห็นได้อย่างชัดเจนในระยะไกล
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า สถิติอุบัติเหตุ ทางถนนที่เกิดบนถนนทางหลวงแผ่นดินซึ่งเป็นทางเชื่อมต่อระหว่างจังหวัด พบว่าส่วนหนึ่งเกิดจากรถบรรทุก ทำสิ่งของหลังรถหล่นลงมาบนพื้นถนนทำให้เกิดอุบัติเหตุ เพื่อป้องกันการเกิดอุบัติเหตุในลักษณะดังกล่าว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอให้ผู้ขับขี่รถบรรทุกสิ่งของศึกษาวิธีการบรรทุกสิ่งของที่ถูกต้องเพื่อ ความปลอดภัยบนท้องถนน โดยขนาดของสิ่งของที่บรรทุกไม่ควรยื่นออกมาเกินความยาวและความกว้างของตัวรถ ส่วนด้านหลังไม่ควรยื่นจากตัวรถเกิน 2.30 เมตร ถ้ารถบรรทุกสิ่งของเป็นรถปิคอัพความสูงของสิ่งของที่บรรทุกต้องสูงจากพื้นถนนไม่เกิน 3.00 เมตร ถ้าเป็นรถที่มีความกว้างเกิน 2.30 เมตร หรือรถบรรทุกขนาดใหญ่ เช่น รถหกล้อหรือรถสิบล้อ สิ่งของที่บรรทุกต้องสูงจากพื้นถนนไม่เกิน 3.80 เมตร กรณีบรรทุกสิ่งของยื่นเกินกว่าความยาวของตัวรถ หากเป็นเวลากลางวันต้องติดผ้าสีแดงเรืองแสงรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า ขนาด 30 x 45 เซนติเมตร ผูกติดบริเวณส่วนปลายของสิ่งของที่ยื่นออกมาจากท้ายรถ เพื่อให้ผู้ขับขี่รถคันที่ตามหลังมาสังเกตเห็นได้ชัดเจนยิ่งขึ้น หากเป็นเวลากลางคืนหรือในเวลาที่ไม่สามารถมองเห็นได้ในระยะ 150 เมตร ต้องติดสัญญาณไฟสีแดงที่สามารถมองเห็นได้ชัดเจนในระยะที่มากกว่า 150 เมตร หากเป็นการบรรทุกสิ่งของที่สามารถร่วงหล่นลงมาได้ ให้ใช้ผ้าใบคลุมและผูกมัดสิ่งของให้แน่นหนา เพื่อป้องกันสิ่งของตกหล่น รั่วไหล ส่งกลิ่น หรือปลิวออกจากรถ จะเห็นได้ว่า การขับขี่รถเพื่อบรรทุกสิ่งของนั้นสามารถทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ง่าย ดังนั้น ผู้ขับขี่รถบรรทุกสิ่งของ ควรเพิ่มความระมัดระวังให้มากขึ้นและปฏิบัติตามคำแนะนำ ที่สำคัญควรปฏิบัติตามกฎจราจรอย่างเคร่งครัด เมาไม่ขับ ง่วงอย่าขับ และไม่ขับรถเร็วเกินอัตราที่กฎหมายกำหนด เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้กับชีวิตและทรัพย์สินได้

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ