กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--กรมส่งเสริมสหกรณ์
กรมส่งเสริมสหกรณ์ร่วมมือสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ และนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำผลจากการวิจัยเพื่อศึกษาแนวทางการรวมกลุ่มอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ ลงพื้นที่ถ่ายทอดความรู้ขั้นตอนการสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ในพื้นที่ต่างๆ เริ่มจากสหกรณ์ในพื้นที่โครงการพระราชดำริเป็นอันดับแรก หวังยกระดับสหกรณ์ให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน
นายพิเชษฐ์ วิริยะพาหะ อธิบดีกรมส่งเสริมสหกรณ์ เปิดเผยว่า ตามที่สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระฯ ร่วมกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ทำการวิจัยเพื่อศึกษาแนวทางการรวมกลุ่มอย่างยั่งยืน ตามแนวพระราชดำริ ซึ่งผลของงานวิจัยดังกล่าวได้ชี้ให้เห็นว่า กระบวนการพัฒนากลุ่มชุมชนให้ประสบความสำเร็จ ต้องพัฒนาใน 3 ขั้นตอน คือจากระดับครัวเรือน สู่ชุมชน และสู่สังคมภายนอก ซึ่งการพัฒนาจากระดับครัวเรือนเข้าสู่ชุมชนเป็นก้าวที่สำคัญ เพราะหากครัวเรือนมีความเข้มแข็งแล้วรวมกลุ่มกันได้สำเร็จ สังคมชนบท จะมั่นคงขึ้นได้อย่างรวดเร็ว จึงนำมาสู่งานวิจัยในขั้นถัดไป คือ เรื่องของการรวมกลุ่มในชุมชนให้เข้มแข็งยั่งยืน โดยสรุปเป็นผลการศึกษาสรุปเป็นแนวทางในการขับเคลื่อนการพัฒนากลุ่มอย่างยั่งยืนตามแนวพระราชดำริ ด้วยบันไดความสำเร็จ 7 ขั้น และกรมส่งเสริมสหกรณ์ได้รับความร่วมมือจากสถาบันฯปิดทองหลังพระ นำงานวิจัยดังกล่าวมาเป็นแนวทางในการเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสหกรณ์ที่อยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ โดยจะเริ่มจากสหกรณ์ 126 แห่งในโครงการพระราชดำริต่าง ๆ เป็นกลุ่มแรก เพื่อให้สหกรณ์เป้าหมายได้ศึกษากระบวนการในการสร้างกลุ่มให้มีความเข้มแข็งและยั่งยืน พร้อมทั้งได้นำความรู้ที่ได้ไปประยุกต์ใช้ในการพัฒนาสหกรณ์ของตนเอง
ปัจจุบันสหกรณ์การเกษตรทั่วประเทศมีจำนวน 4,409 แห่ง จากจำนวนสหกรณ์ทั้งสิ้น 8,171 แห่ง และยังมีกลุ่มเกษตรกรอีก 4,924 แห่ง ซึ่งสหกรณ์การเกษตรที่อยู่ในระดับเข้มแข็งและมีความมั่นคงในการดำเนินงานมีประมาณ 24.57% สหกรณ์ที่อยู่ในระดับพอใช้มีประมาณ 55.19% ซึ่งยังต้องใช้องค์ความรู้ต่าง ๆ เข้าไปพัฒนาให้ก้าวหนาและเข้มแข็งมากยิ่งขึ้น เนื่องจากสหกรณ์มีความเกี่ยวข้องกับสมาชิกถึง 12 ล้านคน มีปริมาณธุรกิจรวมแล้วมากกว่า 2.2 ล้านล้านบาท เชื่อมั่นว่าหากสหกรณ์มีความเข้มแข็งมากขึ้นเท่าไหร่ ระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศก็จะเข้มแข็งตามไปด้วย
นายประสิทธิ โอสถานนท์ ที่ปรึกษาสถาบันปิดทองหลังพระ ฯ เปิดเผยว่า ความร่วมมือนี้จะช่วยในการยกระดับสหกรณ์ นอกจากนี้ทางกรม ฯก็จะเข้ามาร่วมพัฒนาการร่วมกลุ่มในพื้นที่ปิดทองหลังพระฯ ลักษณะงานจะดำเนินอย่างเป็นขั้นตอน ได้แก่ การประเมินความเข้มแข็ง การพัฒนาหลักสูตรฝึกอบรม การอบรม และการร่วมพัฒนา "ความร่วมมือกับกรมส่งเสริมสหกรณ์จะเป็นอีกก้าวหนึ่งของหน่วยงานรัฐที่นำแนวพระราชดำริเข้าไปใช้ในระบบ ตรงตามพระราชประสงค์ให้ประชาชนมีความก้าวหน้า มั่นคง"
สำหรับจุดเริ่มต้น สถาบันปิดทองหลังพระ ฯ กรมส่งเสริมสหกรณ์และวิทยาลัยนวัตกรรม ได้ร่วมกันจัดทำสื่อการเรียนรู้ขึ้น ประกอบด้วยคู่มือการรวมกลุ่ม โปสเตอร์ชุด และแอนิเมชั่นที่จะรับชมได้ที่ www.pidthong.org/.7steps และ http://www.cpd.go.th/cpdth2560/index.php/component/k2/item/202
"แนวพระราชดำริจากการค้นคว้าวิจัย พบว่าแนวทางการพัฒนาชนบทประกอบด้วย 3 ขั้นตอน คือจากระดับครัวเรือน สู่ชุมชน และกลุ่มพัฒนายั่งยืนสู่ภายนอก ส่วนการรวมกลุ่มให้ยั่งยืนนั้น แบ่งเป็นการพัฒนาแบบบันได 7 ขั้น มีเป้าหมายและข้อพึงระวังอย่างชัดเจนในแต่ละขั้น โดยทั้งหมดนี้ยืนบนหลักการเศรษฐกิจพอเพียงทั้งสิ้น" นายประสิทธิ์กล่าว