กรุงเทพฯ--28 พ.ค.--กรมส่งเสริมการเกษตร
กรมส่งเสริมการเกษตร เตรียมจัดอบรมเพิ่มทักษะอาชีพแก่เกษตรกรผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ เน้นให้ความรู้ด้านการเกษตร วางรากฐานพัฒนาระยะยาว หวังเพิ่มรายได้แก่เกษตรกรอย่างยั่งยืน
นายสมชาย ชาญณรงค์กุล อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2560 เห็นชอบให้ดำเนินโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2560 พบว่ามีผู้มีรายได้น้อย
ที่ลงทะเบียนและผ่านการตรวจคุณสมบัติกว่า 11 ล้านราย เป็นเกษตรกรเกือบ 4 ล้านราย กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการแก้ปัญหาเพื่อสร้างความเข้มแข็งให้แก่เกษตรกร
ผู้มีรายได้น้อย จึงจัดทำโครงการเพิ่มทักษะอาชีพแก่เกษตรกรผู้ลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ภายใต้มาตรการพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อถ่ายทอดความรู้และเทคโนโลยีด้านการเกษตรที่เหมาะสมในแต่ละพื้นที่ให้แก่เกษตรกรผู้ลงทะเบียนในโครงการฯ ดังกล่าว
การฝึกอบรมตามโครงการฯ จะเริ่มดำเนินการในช่วงเดือนมิถุนายนถึงสิงหาคม 2561 โดยเกษตรกรผู้ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถยื่นความจำนงเข้ารับการฝึกอบรมได้ตามความสนใจ ความถนัด และมีคุณสมบัติเหมาะสม โดยจะได้รับการวิเคราะห์อาชีพที่เหมาะสมโดยทีมหมอประชารัฐสุขใจ (ปรจ.) สู่การฝึกอบรมอาชีพการเกษตร
8 ด้าน ประกอบด้วย ด้านพืชไร่ ไม้ผลไม้ยืนต้น พืชผักและสมุนไพร ไม้ดอกไม้ประดับ ผึ้งและแมลงเศรษฐกิจ เครื่องจักรกลเกษตร การแปรรูปผลผลิตการเกษตร และการเกษตรอื่น ๆ รวม 85 หลักสูตร ซึ่งจะแบ่งเกษตรกรออกเป็น 9 รุ่น รุ่นละประมาณ 30 คน เข้าอบรมรุ่นละ 3 วัน ณ ศูนย์ปฏิบัติการ 40 ศูนย์ของกรมส่งเสริมการเกษตร ใน 35 จังหวัดทั่วประเทศ
นอกจากนี้ เกษตรกรที่เข้ารับการอบรมตามโครงการฯ จะได้รับความรู้ ทักษะในการประกอบอาชีพ
ด้านการเกษตรแล้ว ยังได้เรียนรู้ ทำความเข้าใจในหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงและเกษตรตามแนวทฤษฎีใหม่ การจัดทำบัญชีครัวเรือน ตลอดจนวิธีการสร้างโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนของเกษตรกรอีกด้วย
อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร กล่าวเพิ่มเติมว่า การจัดโครงการฯ ในครั้งนี้ เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรทั่วประเทศให้มีชีวิตความเป็นอยู่และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตลอดจนมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น สามารถแก้ปัญหาของเกษตรกรได้อย่างตรงจุด และเป็นการวางรากฐานการพัฒนาในระยะยาวอย่างยั่งยืน ทั้งนี้ คาดว่าเกษตรกรที่เข้าอบรมจะมีความรู้และทักษะในการเกษตรเพิ่มขึ้น สามารถนำไปใช้ประกอบอาชีพ สร้างรายได้ให้แก่ตนและครอบครัวมากขึ้น มีการดำเนินชีวิตตามแนวทางหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง มีภูมิคุ้มกัน มีวินัยทางการเงิน ทั้งการลงทุนและการใช้จ่ายอย่างเหมาะสม