กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--ปตท.
ราคาน้ำมันเฉลี่ยรายสัปดาห์ผันผวน โดยน้ำมันดิบเบรนท์ (Brent) เพิ่มขึ้น 0.01 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 78.76 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบดูไบ (Dubai) เพิ่มขึ้น 1.04 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 76.63 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อย่างไรก็ตามน้ำมันดิบเวสท์เท็กซัสฯ (WTI) ลดลง 0.34 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 70.97 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ขณะที่ราคาน้ำมันเบนซินออกเทน 95 เพิ่มขึ้น 1.32 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 90.91 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้น 0.66 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล อยู่ที่ 92.70 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงบวก
- สหรัฐฯ คว่ำบาตรทางการเงินต่อเวเนซุเอลาเพิ่มเติม หลังการเลือกตั้งประธานาธิบดี เมื่อ 20 พ.ค. 61 โดยนาย Nicholas Maduro ชนะการเลือกตั้ง ได้ดำรงตำแหน่งสมัยที่ 2 เป็นเวลาอีก 6 ปี โดยห้ามชาวสหรัฐฯ เกี่ยวข้องกับการระดมทุนของรัฐบาลเวเนซุเอลา อาทิ พันธบัตร หรือตราสารหนี้บริษัทที่รัฐบาลถือหุ้นมากกว่า 50% รวมถึงทำธุรกรรมกับธนาคารกลางเวเนซุเอลา ทำธุรกรรมกับนที่และบริษัทน้ำมันแห่งชาติ PDVSA ทั้งนี้เวเนซุเอลาผลิตน้ำมันดิบในเดือน เม.ย. 61 ปริมาณ 1.5 ล้านบาร์เรลต่อวัน (ต่ำกว่าระดับการผลิตเฉลี่ยในปี 2560 ที่ 2.1 ล้านบาร์เรลต่อวัน) ลดลงจากปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ
- รัฐมนตรีกระทรวงต่างประเทศของสหรัฐฯ นาย Mike Pompeo เรียกร้องให้อิหร่านเปลี่ยนแปลงข้อตกลงนิวเคลียร์ อาทิ ห้ามพัฒนาสมรรถนะแร่ยูเรเนียมทั้งหมด (เดิม พัฒนาได้แต่จำกัดความเข้มข้น) และหยุดสนับสนุนกองกำลังในตะวันออกกลาง เช่น กลุ่ม Hezbollah ในประเทศเลบานอน กลุ่ม Jihad ในประเทศปาเลสไตน์ ฯลฯ
- โรงกลั่นน้ำมัน Sinopec ของจีนมีแผนนำเข้าน้ำมันดิบจากสหรัฐฯ ในเดือน มิ.ย. 61 ปริมาณ 533,000 บาร์เรลต่อวัน สูงสุดเป็นประวัติการณ์ และเพิ่มขึ้นจากค่าเฉลี่ยในช่วง 6 เดือน (ก.ย. 60 - ก.พ. 61) ที่ 330,000 บาร์เรลต่อวัน สอดคล้องกับที่รัฐบาลจีนมีนโยบายลดการได้ดุลการค้ากับสหรัฐฯ ซึ่งในปี 2560 อยู่ที่ 335,000ล้านดอลลาร์
- กระทรวงน้ำมันของอิรักรายงานการส่งออกน้ำมันดิบจากทางตอนใต้ของประเทศ (อาทิ ท่าส่งออก Basrah) ในเดือน เม.ย. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 110,000 บาร์เรลต่อวัน มาอยู่ที่ 3.34 ล้านบาร์เรลต่อวัน
ปัจจัยที่กระทบต่อราคาน้ำมันดิบในเชิงลบ
- EIA ของสหรัฐฯ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดิบเชิงพาณิชย์ที่ สัปดาห์สิ้นสุด 18 พ.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 5.7 ล้านบาร์เรล มาอยู่ที่ 438.1 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 5 เดือน
- Baker Hughes Inc. บริษัทลูกของ General Electric Co. รายงานจำนวนแท่นขุดเจาะ (Rig) น้ำมันดิบในสหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 25 พ.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 15 แท่น WoW อยู่ที่ 859 แท่น สูงสุดในรอบกว่า 3 ปี
- บริษัท AGOCO ของลิเบียแถลงปริมาณการผลิตน้ำมันดิบในวันที่ 24 พ.ค.61 เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 180 บาร์เรลต่อวัน และคาดว่า 25 พ.ค. 61 จะอยู่ที่ระดับ 200,00-220,000 บาร์เรลต่อวัน เพิ่มขึ้นหลังจากในวันที่ 23 พ.ค. 61 ผลิตลดลง อยู่ที่ 146,000 บาร์เรลต่อวัน เนื่องจากสภาพภูมิอากาศร้อนจัด และแหล่ง Raguba (5,000 บาร์เรลต่อวัน) กลับมาผลิตน้ำมันดิบ หลังการประท้วงสิ้นสุด
แนวโน้มราคาน้ำมัน
ราคาน้ำมันดิบในช่วงปลายสัปดาห์ลดลง จากการเทขายรุนแรง โดยมีชนวนเหตุสำคัญคือ นักลงทุนกังวลต่ออุปทานน้ำมันโลก โดยคาดการณ์ว่ากลุ่ม OPECและผู้ผลิตพันธมิตรนอกกลุ่ม นำโดยรัสเซีย มีแนวโน้มจะตัดสินใจเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมันดิบ เพื่อชดเชยอุปทานที่อาจขาดแคลน จากความเสี่ยงของเวเนซุเอลา และอิหร่าน หลังจากสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรทั้งสองประเทศเพิ่มเติม โดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานของซาอุดิอาระเบีย และรัสเซีย หารือกันที่กรุง St. Petersburgประเทศรัสเซีย ถึงแนวทางในการผลิตน้ำมันดิบเพิ่มขึ้น เนื่องจากขณะนี้ OPEC และพันธมิตร ลดการผลิตน้ำมันดิบลง 2.7 ล้านบาร์เรลต่อวัน (เทียบจากเดือน ต.ค. 59) มากกว่าในข้อตกลงเกือบ 1 ล้านบาร์เรลต่อวัน จึงอาจกลับมาเพิ่มการผลิตเพื่อปรับปริมาณให้ใกล้เคียงกับข้อตกลง โดยซาอุดีอาระเบีย รัสเซีย และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ จะร่วมหารือทางเลือกต่างๆ ทั้งนี้กลุ่ม OPEC ตัดสินใจเกี่ยวกับการเพิ่มปริมาณการผลิต รวมถึงโควตาการผลิตที่แต่ละประเทศจะได้รับการจัดสรร ในการประชุมกลุ่มOPEC และพันธมิตร วันที่ 22-23 มิ.ย. 61 ที่กรุงเวียนนา ประเทศออสเตรีย อย่างไรก็ตาม Societe Generale ปรับเพิ่มประมาณการณ์ราคาน้ำมันดิบ Brent ในปี 2561 ขึ้น $9.20/BBL มาอยู่ที่ $75.35/BBL จากการวิเคราะห์ทางด้านเทคนิค คาดว่าในสัปดาห์นี้ ราคาน้ำมันดิบ ICE Brent จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 73.5-80.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล น้ำมันดิบ NYMEX WTI อยู่ในกรอบ 65.5-72.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบ Dubai จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 77.5-70.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันเบนซิน
ราคาน้ำมันเบนซินเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น Reuters รายงานอินเดียส่งออกน้ำมันเบนซินในเดือน เม.ย. 61 ลดลงจากเดือนก่อนหน้า 2.5 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 7.8 ล้านบาร์เรล โรงกลั่นน้ำมันในประเทศหยุดซ่อมบำรุง อาทิ Bharat Petroleum Corp. Ltd. (BPCL) มีแผนปิดซ่อมบำรุงโรงกลั่น Bina (120,000 บาร์เรลต่อวัน) เป็นเวลา 45 วัน ตั้งแต่ช่วงกลางเดือน ก.ย. 61 และ Essar Oil ของอินเดียยกเลิกการประมูลขาย น้ำมันเบนซิน 92 RON ส่งมอบกลางเดือน มิ.ย. 61 เพราะอุปสงค์ภายในประเทศแข็งแกร่ง จากการท่องเที่ยวในช่วงฤดูร้อนของอินเดีย ด้านปริมาณสำรอง IES รายงานปริมาณสำรองเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 พ.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 600,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 13.88 ล้านบาร์เรล ต่ำสุดในรอบ 2 สัปดาห์ อย่างไรก็ตาม PAJ รายงานปริมาณสำรองน้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 19 พ.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 400,000 บาร์เรล อยู่ที่ 11.2 ล้านบาร์เรล และ EIA รายงานปริมาณสำรอง น้ำมันเบนซินเชิงพาณิชย์ที่สหรัฐฯ สัปดาห์สิ้นสุด 18 พ.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 1.9 ล้านบาร์เรล WoW มาอยู่ที่ 233.9 ล้านบาร์เรล อีกทั้งหน่วยงานศุลกากรจีนรายงานปริมาณส่งออกน้ำมันเบนซิน เดือน เม.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 33 % อยู่ที่ระดับ 343,000 บาร์เรลต่อวัน จากการวิเคราะห์ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันเบนซิน จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 85.5-92.5 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซล
ราคาน้ำมันดีเซลเฉลี่ยรายสัปดาห์เพิ่มขึ้น Reuters รายงานอินเดียส่งออกน้ำมันดีเซลในเดือน เม.ย. 61 ลดลงจากเดือนก่อน 5.1 ล้านบาร์เรล อยู่ที่ 11.6 ล้านบาร์เรล เนื่องจากอุปสงค์ภายในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่โรงกลั่นน้ำมันในประเทศหยุดซ่อมบำรุง ด้านปริมาณสำรอง Petroleum Association of Japan (PAJ) รายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ในญี่ปุ่น สัปดาห์สิ้นสุด 19 พ.ค. 61 ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 130,000 บาร์เรล อยู่ที่ 9.8 ล้านบาร์เรล อย่างไรก็ตามปริมาณการผลิตน้ำมันดีเซลเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 10.2 % อยู่ที่ 690,000 บาร์เรลต่อวัน ขณะที่ปริมาณส่งออกเพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 65 % อยู่ที่ 110,000 บาร์เรลต่อวัน และ IESรายงานปริมาณสำรองน้ำมันดีเซลเชิงพาณิชย์ที่สิงคโปร์ สัปดาห์สิ้นสุดวันที่ 23 พ.ค. 61 เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 940,000 บาร์เรล มาอยู่ที่ 8.27 ล้านบาร์เรล สูงสุดในรอบ 1 เดือน ประกอบกับสำนักงานสถิติแห่งชาติจีน (National Bureau of Statistics: NBS) รายงานปริมาณการผลิตน้ำมันดีเซล ในเดือน เม.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 2.8% อยู่ที่ 3.68 ล้านบาร์เรลต่อวัน และหน่วยงานศุลกากรจีนรายงานปริมาณส่งออกดีเซล เดือน เม.ย. 61 เพิ่มขึ้นจากปีก่อน 48.6% อยู่ที่ 455,000 บาร์เรลต่อวัน จากการวิเคราะห์ทางด้านเทคนิคในสัปดาห์นี้คาดว่าราคาน้ำมันดีเซล จะเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบ 87-94 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล