กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--NW ONLINE
คณะกรรมการยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม วางโรดแม็ป พัฒนาสิ่งแวดล้อม ทางบก น้ำ และอากาศ สร้างสังคมเศรษฐกิจสีเขียว เทียบมาตรฐานสากล อนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติรองรับการใช้งานไม่ให้เกินขีดความสามารถ
ศาสตราจารย์ธนวัฒน์ จารุพงศ์สกุล ประธานกรรมการจัดทำยุทธศาสตร์ด้านการสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ขอบเขตงานค่อนข้างใหญ่ ครอบคลุมพื้นดิน ใต้ดิน น้ำทะเล และอากาศ ที่ผ่านมาได้เข้าพบรัฐมนตรีกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงคมนาคม และคณะกรรมการปฏิรูปด้านพลังงาน มีการประชุมกลุ่มย่อยกับเยาวชนร่วมกับทางจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ฟังความคิดเห็นเยาวชน และได้นำร่างยุทธศาสตร์เราไปให้องค์กรระหว่างประเทศ 17 องค์กรดูว่าสิ่งที่เรากำลังจะเดินไปเรื่องสิ่งแวดล้อม องค์กรระหว่างประเทศคิดอย่างไร เพื่อนำมาประมวลผล
สิ่งที่คณะกรรมการฯเป็นห่วงมาก คือทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมใช้แล้วหมดไป สร้างขึ้นลำบาก ถ้าดูจากแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติแผนที่ 1 ตอนนั้นคนไทยมีประมาณ 20 ล้านคน ตอนนี้มี 60 กว่าล้านคนมาใช้ทรัพยากรเพิ่มขึ้น และปีที่แล้วคนมาเที่ยวเมืองไทย 35 ล้านคน คาดการณ์ว่าการเติบโตของการท่องเที่ยวแบบนี้คนจะมาใช้ทรัพยากรกับเรา 50-70 ล้านคน หนีไม่พ้นแน่นอน เป็นโจทย์ที่ยากและเรื่องการสร้างการเติบโตและสิ่งแวดล้อมเป็นเรื่องที่ประเทศไทยต้องทำ
คณะกรรมการฯ มองว่าต้องสร้างการเติบโตร่วมกันบนเส้นทางสีเขียวภายใต้คอนเซ็ปท์ Inclusive Green Growth จะทำอย่างไรในเป้าหมาย 3 ด้าน 1.อนุรักษ์ทรัพยากรที่มีอยู่ส่งต่อคนรุ่นต่อไป 2.ทำอย่างไรเพื่อฟื้นฟูทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่เสียไปให้กลับมาเติบโตบนสังคมเศรษฐกิจที่เรากำลังมุ่งเป้าให้สอดคล้องกัน และ 3.การบริหารจัดการและใช้ทรัพยากรไม่ให้เกินขีดความสามารถธรรมชาติที่มีอยู่
ศาสตราจารย์ธนวัฒน์ กล่าวอีกว่า คณะกรรมการฯได้วางการพัฒนาสิ่งแวดล้อมออกมาเป็น 6 เป้าหมาย 1.การสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจสีเขียว มองมิติบนบกทรัพยากรบนบก 2.สร้างการเติบโตสิ่งแวดล้อมบนสังคมเศรษฐกิจภาคทะเล 3.การสร้างความเติบโตอย่างยั่งยืนบนสังคมเศรษฐกิจที่เป็นมิตรต่อสภาพภูมิอากาศ 4.การพัฒนาพื้นที่เมือง ชนบท เกษตร และอุตสาหกรรมเชิงนิเวศ ที่ผ่านมามีปัญหาหลายด้าน เพราะมุ่งพัฒนาเศรษฐกิจแต่ไม่ดูความเหมาะสม เช่นพื้นที่เหมาะทำการเกษตรอย่างอยุธยา แต่กลายเป็นพื้นที่อุตสาหกรรม ก็เกิดปัญหาที่เราก็แก้ไม่ได้ 5.ฐานการพัฒนาเรื่องความมั่นคง น้ำ พลังงานอาหาร เกษตรเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เป็นมิติพื้นฐานแต่ก่อนแยกกันแต่ในอนาคตต้องเชื่อมโยงกัน และ 6.ทำอย่างไรเพื่อยกระดับกระบวนทัศน์ประเด็นใหม่ๆ ในอนาคต เช่น เรามีพื้นที่ทะเล 2 มหาสมุทร สามารถเชื่อมโยงสู่การเป็นมหาอำนาจทางทะเลได้จาก 2 มหาสมุทรได้หรือไม่
ที่ผ่านมาเราดูแต่ละภาคส่วนเรื่องเกษตร อุตสาหกรรม GDP ขึ้นทีละนิด ถ้าเราปรับกระบวนทัศน์เป็นภาพใหญ่ การสร้างความเติบโตบนสังคมเศรษฐกิจดี ทำไบโออีโคโนมี่ การผลิตน้อยแต่ราคาสูง เช่น สมุนไพร กัญชา กัญชง กระท่อม เหล่านี้เป็นยาถ้าพัฒนาได้มูลค่าเพิ่มสูง แต่เราต้องแก้กฎหมาย สิ่งสำคัญเราต้องวางการพัฒนาเป็นประเด็นยุทธศาสตร์ที่ชัดเจน ประเด็นที่ 1. ทรัพยากรธรรมชาติสิ่งแวดล้อม แม่น้ำลำคลองต้อง สีเขียว เราพยายามผลักดันให้พื้นที่สีเขียวได้ 40% ในอดีต ในอนาคตต้องเป็น 55% เป็นพื้นที่ป่าธรรมชาติและเป็นพื้นที่ป่าเศรษฐกิจด้วย ประเด็นที่ 2 การสร้างการเติบโตบนฐานทะเล ปัญหาขยะลงสู่ทะลต้องลดน้อยลง เรื่องการแก้ปัญหาพื้นที่กัดเซาะ เราอาจต้องทำผังทะเลเพื่อให้รู้พื้นที่ทะเลของจริง มีอะไรในทะเลมีทรัพยากรมหาศาล ไบโออีโคโนมี่ทางทะเล เสาะหาสิ่งน้อยๆ มาทำยา
ประเด็นที่ 3. เรื่องอากาศ การปลดปล่อยแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ทุกวันนี้เราใช้ที่ 20% การวางโครงสร้างพื้นฐานไม่วางถนนไปกีดขวางทางน้ำ เราต้องเอาแนวคิดเรื่องการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศเข้าไปเกี่ยวข้องด้วย ประเด็นที่ 4.มองทั้งระบบเรื่องของผังภูมินิเวศน์ การจัดการมลพิษทั้งหมด ทำเรื่องขยะให้เป็นศูนย์ เรื่องฝุ่นละอองที่มีปัญหาอยู่ต้องแก้ไข สุดท้ายความมั่นคงของน้ำมาตรฐานนานาชาติอยู่ที่ 80% ตอนนี้เรามีคะแนนความมั่นคงของน้ำอยู่ที่ 54% อนาคตอาจต้องบูธไปถึง 80%