กรุงเทพฯ--5 ก.ย.--กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้ดำเนินการสถาปนามาตรฐานด้านเวลาของประเทศไทย (Coordinated Universal Time หรือ UTC (NIMT) ให้เป็นไปตามข้อกำหนดของหน่วยงานที่ดูแลเวลามาตรฐานระหว่างประเทศ (Bureau International des Poids et Mesures :BIPM) โดยใช้วิธีเปรียบเทียบผลการวัดกับต่างประเทศ พร้อมเปิดให้บริการปรับเทียบเวลามาตรฐานทาง Internet ผ่านระบบ (Network Time Protocol : NTP) จึงได้จัด แถลงข่าว เรื่อง “วิธีการปรับเทียบเวลามาตรฐานทาง Internet ผ่านระบบ NTP” เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์วิธีการปรับเทียบเวลามาตรฐานทาง Internet ผ่านระบบ NTP ให้แก่ผู้สนใจทั่วไป เมื่อวันที่ 4 กันยายน 2550 ณ ห้องโถงชั้น 1 อาคารกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมี ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นประธาน ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กล่าวว่า
“เวลาเป็นสิ่งที่มีค่ามีบทบาทสำคัญต่อการดำเนินชีวิตของทุกคนในหลายด้าน และในหลายระดับ ได้แก่ การติดต่อธุรกิจ การจราจร การขนส่ง การสื่อสาร การเงิน การแพทย์ หรือการทหาร และเกี่ยวข้องกับคุณภาพของผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม ซึ่งกิจกรรมทั้งหมด การดำเนินงานจะต้องทำให้เข้าจังหวะสอดคล้องกัน ส่งผลต่อการวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบ ในการขนส่งสินค้า ถ้าหากผู้ผลิตส่งสินค้าไปยังลูกค้าไม่ทัน อาจทำให้เกิดความเสียหายแก่ธุรกิจของลูกค้าและทำให้ลูกค้าเสียความเชื่อถือต่อผู้ผลิตได้ ในปัจจุบันธุรกิจการเงินและการลงทุน การซื้อขายหุ้นมีมูลค่ามหาศาล ถ้าหากทำการซื้อขายช้าไปเพียงเล็กน้อยก็อาจทำให้สามารถทำกำไรหรือขาดทุนนับล้านบาท”
“ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นตัวอย่างอันน้อยนิดในเรื่องความสำคัญของเวลา และเมื่อมนุษย์ได้ เล็งเห็นแล้วว่าเวลามีความสำคัญมากเช่นนี้ ก็นำไปสู่การสร้างมาตรฐานของเวลาขึ้น เพื่อให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วโลก ซึ่งมาตรฐานของเวลานี้ก็ได้พัฒนาขึ้นเป็นลำดับเรื่อยมาจากอดีตจนถึง
ปัจจุบัน จากการดูดวงอาทิตย์ขึ้นและตกในแต่ละวัน การดูดวงจันทร์ และดวงดาวอื่นประกอบเข้า การรู้เวลาจากนาฬิกาแดด การสร้างนาฬิกาทราย การสร้างนาฬิกาน้ำจากภาชนะเจาะรู จนมาถึงการสร้างกลไกเครื่องจักรนาฬิกา มาจนถึงนาฬิกาควอตซ์ นาฬิกาอะตอมที่ใช้เป็นมาตรฐานเวลาของประเทศต่างๆ ในปัจจุบัน”
พล.อ.ต.ดร.เพียร โตท่าโรง ผู้อำนวยการสถาบันมาตรวิทยา กล่าวเพิ่มเติมว่า “มาตรฐานด้านเวลาที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน และเวลาที่ใช้อ้างอิงระหว่างประเทศได้นั้น เป็นเวลามาตรฐานที่ทุกประเทศทั่วโลกจะใช้เหมือนกัน คือ นาฬิกาซีเซียม โดยมีหน่วยวัดทางเวลา คือ วินาที และตามนิยามของวินาทีอ้างถึงการเปลี่ยนแปลงสภาวะของอะตอมซีเซียม ซึ่งได้ถูกพัฒนาเป็นนาฬิกาอะตอมซีเซียม และเวลาจากนาฬิกาอะตอมซีเซียมของประเทศต่างๆ ทั่วโลกถูกนำมาคำนวณเป็นเวลาที่ใช้อ้างอิงระหว่างประเทศ (International Atomic Time :TAI) และเวลามาตรฐาน ณ ตำแหน่งต่างๆ บนพื้นโลก (Coordinated Universal Time : UTC)”
“สำหรับวิธีการปรับเทียบเวลามาตรฐาน มี 5 วิธี คือ 1) การสอบเทียบที่ห้องปฏิบัติการ 2) การสอบเทียบผ่านระบบเครือข่าย Internet (Network Time Protocol : NTP) ซึ่งสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติติดตั้งและเปิดให้บริการแล้ว 3) การใช้เครือข่ายโทรศัพท์ (Access Computer Telephone System) ซึ่งเหมาะสำหรับผู้ที่ไม่มี NTP สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติมีโครงการที่จะพัฒนาระบบนี้ในอนาคต 4) การเทียบเวลากับประกาศเวลามาตรฐาน (Speaking Clock) และ 5) การถ่ายทอดเวลาผ่านคลื่นวิทยุ (Radio Transmission) เป็นการส่งสัญญาณรหัสเวลาส่งออกอากาศไปยังเครื่องรับสัญญาณ”
การใช้บริการถ่ายทอดเวลามาตรฐานผ่านระบบเครือข่าย Internet ของสถาบัน ที่กล่าวข้างต้นนั้น สามารถใช้ฟังก์ชั่นเวลาใน Window XP หรือใช้ Freeware ต่างๆ เช่น Dimension 4 หรืออื่นๆ ซึ่งหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่ http://tf.nist.gov/general/softwarelist.htm โดยหากผู้สนใจต้องการที่จะปรับเทียบเวลามาตรฐานผ่านทางระบบเครือข่าย Internet ของสถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ สามารถ Synchronize เวลาได้ที่ NTP Server หมายเลข 203.185.69.60 หรือ ติดต่อขอข้อมูลการติดตั้งและวิธีการใช้งานได้ที่ ห้องปฏิบัติการด้านเวลาและความถี่ ฝ่ายมาตรวิทยาไฟฟ้า สถาบันมาตรวิทยาแห่งชาติ 3/4 — 5 หมู่3 ตำบลคลองห้า อำเภอ คลองหลวง จังหวัดปทุมธานี โทรศัพท์ 0 2577 5100-9 แฟกซ์ 0 2577 3658 ได้ทุกวันในเวลาราชการ หรือ Email Address :: somchai@nimt.or.th หรือ thepbodin@nimt.or.th หรือเข้าไปดูรายละเอียดได้ที่ www.nimt.or.th
ผู้เขียนข่าว: ภนิกษ์ณิชา
ผู้ตรวจข่าว: หัวหน้ากลุ่มงานประชาสัมพันธ์ โทร.0-2354-4466 ต่อ 118, 120