กรุงเทพฯ--30 พ.ค.--แมสคอท คอมมิวนิเคชั่น
วันงดสูบบุหรี่โลกตรงกับวันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี องค์การอนามัยโลกเล็งเห็นอันตรายจากการสูบบุหรี่ ผลกระทบต่อสุขภาพของผู้สูบ และเปรียบได้กับเป็น"บุหรี่มือสอง"เพราะผู้ที่อยู่ใกล้ๆ ก็จะได้รับควันบุหรี่จากคนที่สูบไปทางอ้อมก่อให้เกิดโรคร้ายเหมือนสูบบุหรี่เองโดยตรงได้เช่นกัน โดยทั่วไปเรารู้จักบุหรี่ธรรมดากันมานานมากแล้ว ขณะที่บุหรี่ไฟฟ้าถือเป็นของใหม่ ยังไม่มีข้อมูลวิจัยมากพอที่จะระบุถึงอันตรายของสารเคมีแต่ละตัวในบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะหากยิ่งใช้นานๆ ในระยะยาว แต่การที่ยังไม่มีข้อมูลว่าอันตรายไม่ได้แปลว่าไม่มีอันตราย ควรร่วมกันรณรงค์ ลด ละ เลิกบุหรี่ ไม่ใช่เพียงแค่บุหรี่ธรรมดาแต่รวมถึงบุหรี่ไฟฟ้าที่อันตรายไม่แพ้กัน
นพ.จตุภัทร คุณสงค์ จิตแพทย์ประจำศูนย์จิตรักษ์กรุงเทพ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอุปกรณ์สูบบุหรี่ชนิดหนึ่งซึ่งใช้กลไกไฟฟ้าทำให้เกิดความร้อนและไอน้ำที่ประกอบไปด้วยสารเคมีต่างๆ โดยไม่มีควันจากกระบวนการเผาไหม้เหมือนบุหรี่ปกติทั่วไป ประกอบด้วยส่วนประกอบหลัก 3 ส่วน คือ แบตเตอรี่ ตัวทำให้เกิดไอและความร้อน (Atomizer) และน้ำยา และถ้ากล่าวถึงเฉพาะส่วนของน้ำยาที่ถูกทำให้เป็นไอและเข้าสู่ร่างกายของผู้สูบจะประกอบด้วยสารประกอบหลักๆ คือ นิโคติน ถือเป็นสารเสพติดชนิดหนึ่งที่พบได้ในทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ปกติทั่วไป ที่ทำให้ร่างกายเสพติดการสูบบุหรี่ โพรไพลีนไกลคอล เป็นส่วนประกอบในสารสำหรับการทำให้เกิดไอ กลีเซอรีน เป็นสารเพิ่มความชื้นที่จะผสมผสานกับสารโพรไพลีนไกลคอล องค์การอาหารและยา (FDA) ยืนยันถึงความปลอดภัยว่าใช้ได้ทั้งในอาหารและยา แต่ยังไม่ได้รับการยืนยันว่าเมื่อเปลี่ยนรูปแบบเป็นไอที่สูบหรือสูดแล้วเกิดผลกระทบอย่างไรต่อร่างกาย เช่นเดียวกันกับโพรไพลีนไกลคอล และสารแต่งกลิ่นและรส ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้กับอาหารทั่วๆไป ซึ่งสารเคมีชนิดต่างๆ ที่พบในน้ำยาสามารถก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ เช่น นิโคติน เมื่อเข้าสู่ร่างกายจะไปกระตุ้นระบบประสาทส่วนกลาง เพิ่มความดันโลหิต เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจ เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอดโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจมะเร็งช่องปาก หลอดอาหารและตับอ่อน นอกจากนี้นิโคตินยังกระตุ้นให้มีการหลั่งฮอร์โมนคอร์ติซอลเพิ่มขึ้น ซึ่งสารนี้ทำให้น้ำตาลในเลือดเพิ่มขึ้น เป็นสาเหตุของการเป็นโรคเบาหวาน นิโคตินกระตุ้นให้จำนวนเซลล์ผนังหลอดเลือดเพิ่มขึ้น ทำให้เส้นเลือดตีบ เพิ่มความเสี่ยงโรคหัวใจ และหลอดเลือดสมอง สำหรับหญิงตั้งครรภ์ นิโคตินส่งผลต่อการพัฒนาของสมองทารกในครรภ์ การได้รับสารนิโคตินในระดับที่สูง (60 mg. ในผู้ใหญ่ และ 6 mg. ในเด็กเล็ก) เสี่ยงต่อการเสียชีวิต โพรไพลีนไกลคอลและสาร Glycerol/Glycerin เมื่อสัมผัสหรือสูดดมเข้าไปอาจทำให้เกิดการระคายเคืองที่ผิวหนัง ดวงตาและปอดได้ โดยเฉพาะในผู้ที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง โรคหอบหืด และโรคถุงลมโป่งพอง นอกจากนี้ยังพบสารประกอบอีกมากมายในไอของบุหรี่ไฟฟ้าที่มีข้อมูลว่าเป็นอันตรายต่อร่างกาย เช่น โลหะหนัก สารหนู สารกลุ่ม Formaldehyde และกลุ่ม Benzene เป็นต้น จากการวิจัยพบว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดโรคต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่นโรคหัวใจ เกิดการเปลี่ยนแปลงของ DNA ในเซลล์ปอด หัวใจ และกระเพาะปัสสาวะ ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงในการเกิดมะเร็ง บุหรี่ไฟฟ้า เสพติดหรือไม่ แน่นอนว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคติน ซึ่งเป็นสารที่ทำให้เกิดการเสพติด ดังนั้นการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจึงทำให้ผู้สูบ "ติด" ได้ไม่ต่างจากบุหรี่ธรรมดา นอกจากนี้รูปแบบ ขั้นตอนในการสูบบุหรี่ไฟฟ้าก็มีความใกล้เคียงกับการสูบบุหรี่ธรรมดามาก ทำให้ผู้สูบยังคง "ติด" ในพฤติกรรมการสูบเหมือนบุหรี่ธรรมดา
ข้อสงสัยสำคัญที่เคยได้ยินกันมานานที่ว่า หากอยากเลิกบุหรี่ธรรมดาแล้วหันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้าแทนจะช่วยได้หรือไม่ ทำให้ผู้สูบลดการสูบบุหรี่ธรรมดาลงจริงหรือ ผลสรุปในทางตรงกันข้ามคือ การสูบบุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยลดการสูบบุหรี่ธรรมดาลงเลย ร้ายไปกว่านั้นยังทำให้อัตราการสูบบุหรี่โดยรวมทั้งธรรมดาและไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นไปอีก โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะการที่มีนิโคตินเหมือนกัน และเยาวชนที่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มที่สูบบุหรี่(ไม่ว่าจะเริ่มจากชนิดไหน)ท้ายที่สุดก็จะมีการแลกเปลี่ยนทดลองกันภายในกลุ่ม จนคุ้นเคยกับบุหรี่ทุกๆ รูปแบบ ขณะที่ประเทศสหรัฐอเมริกาได้มีการประกาศห้ามอย่างเป็นทางการมิให้บริษัทบุหรี่โฆษณาว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยเลิกบุหรี่ธรรมดาได้ เพราะขัดกับข้อมูลจากการวิจัยอย่างชัดเจน เป็นความจริงที่ว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีกลไกการทำงานที่ไม่มีกระบวนการเผาไหม้เหมือนบุหรี่ธรรมดา ทำให้ผู้สูบลดความเสี่ยงที่จะได้รับสารที่เป็นอันตรายจากการเผาไหม้บางตัวเช่น น้ำมันดินหรือทาร์ (Tar) และคาร์บอนมอนอกไซด์ (Carbon Monoxide) ซึ่งเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งและโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ จากที่กล่าวมาข้างต้น สารประกอบอื่นๆ ที่พบในบุหรี่ไฟฟ้าก็ก่อให้เกิดอันตรายต่อร่างกายได้ไม่แพ้กัน นอกจากนี้ยังมีบางงานวิจัยที่ระบุว่าไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้ามีขนาดอนุภาคที่เล็กกว่าบุหรี่ธรรมดา ทำให้สามารถสูดเข้าไปในปอดส่วนลึกได้มากกว่า อนุภาคที่เล็กนี้จะจับเข้ากับเนื้อเยื่อปอดและดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือดได้อย่างรวดเร็ว และยากที่กลไกธรรมชาติของร่างกายจะขับออกมาได้
ขณะนี้บุหรี่ไฟฟ้า ถือเป็นสินค้าต้องห้าม บุคคลที่มีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในความครอบครอง ถือว่ามีความความผิดทั้งผู้นำเข้า ผู้ขายและผู้ใช้ เมื่อเจ้าหน้าที่พบเห็นความผิดซึ่งหน้าสามารถเข้าจับกุมได้ กรณีเป็นผู้นำเข้ามีโทษ จำคุกไม่เกิน 10 ปี หรือปรับเป็นเงิน 5 เท่า ของสินค้าที่นำเข้า หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีจำหน่ายจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ส่วนกรณีผู้สูบหรือมีบุหรี่ไฟฟ้าไว้ในครอบครอง ถือว่ามีความผิดในฐานครอบครองสิ่งที่นำเข้ามาโดยผิดกฎหมาย ต้องระวังโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับเป็นเงิน 4 เท่าราคาของซึ่งรวมค่าอากรเข้าด้วยแล้ว หรือทั้งจำทั้งปรับ ดังนั้น เพื่อสุขภาพที่ดี จึงขอร่วมรณรงค์ ลด ละ เลิกบุหรี่ เพื่อตัวท่านเองและคนรอบข้างเพื่อสุขภาพกายและใจที่แข็งแรง ก้าวผ่านควันบุหรี่ที่เป็นอันตรายได้