กรุงเทพฯ--7 พ.ย.--ปภ.
กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เตือนผู้ประกอบการดอกไม้เพลิงให้ระมัดระวังการเกิดเหตุระเบิดและเพลิงไหม้สถานประกอบการ โดยกำหนดมาตรการเข้มงวดกับผู้ปฏิบัติงาน ห้ามสูบบุหรี่และประกอบกิจกรรมที่ทำให้เกิดประกายไฟภายในบริเวณสถานที่ผลิตดอกไม้เพลิงโดยเด็ดขาด เพราะอาจเกิดการระเบิดขึ้นได้ รวมทั้งติดตั้งเครื่องดับเพลิงชนิดผงเคมี และควรจัดซ้อมแผนฉุกเฉินกรณีเพลิงไหม้อย่างน้อยปีละครั้ง
นายอนุชา โมกขะเวส อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยว่า เนื่องจากขณะนี้ใกล้ถึงเทศกาล ลอยกระทงและปีใหม่ ประชาชนมักนิยมเล่นพลุและดอกไม้ไฟเป็นจำนวนมาก ทำให้ผู้ประกอบการต่างเร่งผลิตพลุและดอกไม้เพลิง เพื่อออกมาจำหน่ายจำนวนมาก ซึ่งวัสดุที่ใช้ทำดอกไม้เพลิงป็นเชื้อเพลิงที่ทำให้เกิดการประทุหรือระเบิดได้ง่าย หากขาดความระมัดระวังและไม่คำนึงถึงข้อกำหนดด้านความปลอดภัยในการผลิต ก็อาจก่อให้เกิดความสูญเสียต่อชีวิตและทรัพย์สิน เพื่อเป็นการป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ขอเตือนผู้ประกอบการดอกไม้เพลิงควรเพิ่มความระมัดระวังในการผลิตเพราะอาจทำให้เกิดการระเบิดขึ้นได้ โดยกำหนดมาตรการเข้มงวดกับผู้ปฏิบัติงาน ห้ามสูบบุหรี่ภายในบริเวณที่มี การผลิตดอกไม้เพลิงโดยเด็ดขาดหรือจัดหาที่สูบบุหรี่ไว้โดยเฉพาะ อีกทั้งควรห้ามผู้ปฏิบัติงานมิให้ประกอบกิจกรรมใดๆที่ทำให้เกิดประกายไฟหรือความร้อน เช่น การประกอบอาหาร การจุดธูปเทียน การเชื่อมโลหะ เป็นต้น เพื่อป้องกันการเกิดประกายไฟกระเด็นไปติดดอกไม้เพลิงทำให้เกิดการระเบิดขึ้นได้ หากจะประกอบกิจกรรมที่เกี่ยวกับไฟ ให้อยู่ห่างจากสถานที่ผลิตดอกไม้เพลิงอย่างน้อย 15 เมตร เพื่อความปลอดภัย ตลอดจนห้ามมิให้ผู้ปฏิบัติงานที่มีอาการมึนเมาจากแอลกฮอล์หรือยาที่ทำให้ง่วงนอนเข้าไปในบริเวณที่ใช้ในการผลิตดอกไม้เพลิง และต้องจัดหาชุดทำงานให้ผู้ปฏิบัติงานเปลี่ยนก่อนเข้าทำงานและทำความสะอาดชุดทุกครั้งหลังเลิกงาน ห้ามมิให้ผู้ปฏิบัติงานสวมชุดทำงานออกนอกบริเวณที่ใช้ผลิตดอกไม้เพลิง นอกจากนี้ ควรจัดเตรียมสถานที่ล้างทำความสะอาดและเปลี่ยนเสื้อผ้าให้แก่ผู้ปฏิบัติงานไว้ในที่เฉพาะ หมั่นทำความสะอาดอาคารสถานที่บริเวณที่ใช้ในการผลิตดอกไม้เพลิงให้ปราศจากฝุ่นและขยะ หากมีวัตถุดิบหกหรือรั่วไหลต้องรีบทำความสะอาดและเคลื่อนย้ายจากบริเวณที่หกทันที โดยใช้ทรายดูดซับและนำไปกำจัดโดยฝังกลบเท่านั้น รวมทั้งต้องจัดหาเครื่องดับเพลิงชนิดผงเคมีแห้ง ขนาดบรรจุไม่น้อยกว่า 5 กิโลกรัม อย่างน้อย 2 เครื่อง ต่อพื้นที่ 100 ตารางเมตร และติดตั้งในบริเวณที่มองเห็นได้ชัดเจน หยิบใช้สะดวก ตรวจสอบถังดับเพลิงให้อยู่ในสภาพ พร้อมใช้งานได้ดีอยู่เสมอ อย่างน้อย 6 เดือนต่อครั้ง และต้องจัดแผนฉุกเฉินให้มีการฝึกซ้อมวิธีใช้เครื่องดับเพลิง และวิธีปฏิบัติเมื่อเกิดอัคคีภัยอย่างน้อยปีละครั้ง ที่สำคัญควรเก็บแยกเศษผ้าหรือเศษวัสดุที่ติดไฟง่ายและขยะที่เป็นกระดาษ ออกจากวัสดุหรือส่วนประกอบของดอกไม้เพลิง โดยเก็บในภาชนะที่มีฝาปิดมิดชิด มีป้ายบอกชัดเจน และต้องนำออกจากบริเวณที่มีการผลิตดอกไม้เพลิงทุกวันเพื่อนำไปกำจัด เพื่อป้องกันการเกิดเหตุระเบิดหรือเพลิงไหม้สถานที่ผลิตพลุและดอกไม้เพลิง