กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
นายประภาศ คงเอียด ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในฐานะกรรมการ และเลขานุการคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) ได้เปิดเผยผลการประชุม คนร. ครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2561 โดยมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน สรุปได้ดังนี้
1. คนร. เห็นชอบหลักการและแนวทางการกำกับดูแลกิจการที่ดีในรัฐวิสาหกิจ คนร. มีมติเห็นชอบหลักการและแนวทางการกำกับดูแลที่ดีในรัฐวิสาหกิจ ที่ได้มีการปรับปรุงให้สอดคล้องกับมาตรฐานสากล เพื่อให้รัฐวิสาหกิจมีระบบการบริหารและควบคุมการดำเนินงานที่มีประสิทธิภาพ เหมาะสมกับบริบท ที่เปลี่ยนแปลงไป และให้เกิดความยั่งยืนในอนาคต ประกอบด้วยหลักการ 10 หมวด ได้แก่ 1) การดำเนินงานของภาครัฐ ในฐานะเจ้าของ 2) การดำเนินการตามกฎหมาย 3) ว่าด้วยเรื่องคณะกรรมการ 4) สิทธิและความเท่าเทียมกันของเจ้าของกิจการ/ผู้ถือหุ้น 5) บทบาทของผู้มีส่วนได้เสีย 6) นวัตกรรมและความยั่งยืน 7) การเปิดเผยข้อมูล 8) การบริหารความเสี่ยง และการควบคุมภายใน 9) จรรยาบรรณ และ 10) การติดตามผลการดำเนินงาน
2. การแก้ไขปัญหาของรัฐวิสาหกิจ 6 แห่ง
คนร. ได้รับทราบความคืบหน้าการดำเนินการตามแผนการแก้ไขปัญหาองค์กรของรัฐวิสาหกิจทั้ง 6 แห่ง ซึ่งในภาพรวมรัฐวิสาหกิจส่วนใหญ่มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น และได้ให้ความสำคัญกับการสร้างความเข้าใจกับ พนักงาน สหภาพ และผู้ที่เกี่ยวข้อง นอกจากนี้ เพื่อเป็นการดูแลพนักงานรัฐวิสาหกิจในภาพรวม เห็นควรมอบหมายให้กระทรวงแรงงานรับไปพิจารณาแผนการรองรับผู้สูงวัยที่จะเกษียณอายุทั้งระบบ สำหรับพนักงานรัฐวิสาหกิจควรให้มีการพัฒนาความรู้หรือทักษะเพื่อรองรับภารกิจของรัฐวิสาหกิจที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยมีสาระสำคัญของผลการดำเนินงานและข้อสั่งการดังนี้
2.1 บริษัท การบินไทย จำกัด (มหาชน) (บกท.) การดำเนินงานตามแผนการแก้ไขปัญหาของ บกท. ส่วนใหญ่มีผลการดำเนินงานที่ดีขึ้น ทั้งนี้ บกท. ได้จัดทำแผนยุทธศาสตร์เครือข่ายเส้นทางการบิน โดยจัดเที่ยวบิน ทั้งเส้นทาง ความถี่ และเวลา ให้รองรับการเป็นศูนย์กลางในการเชื่อมต่อเที่ยวบินของภูมิภาค นอกจากนี้ คนร. ได้มอบหมาย ให้ บกท. ปรับรูปแบบการให้บริการบนเครื่องบินเพื่อยกระดับคุณภาพการให้บริการและพิจารณาลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น โดยคำนึงถึงคุณภาพการให้บริการที่ดีและความปลอดภัยในการบิน ทั้งนี้ ให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์เครือข่ายเส้นทางบินและฝูงบินใหม่ ควบคู่ไปกับการจำหน่ายบัตรโดยสารผ่าน บกท. โดยตรงให้สูงขึ้นผ่านช่องทางดิจิทัลต่างๆ และการบริหารจัดการตัวแทนจำหน่ายให้เหมาะสม พร้อมทั้งบริหารอัตรากำลังและพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับรูปแบบธุรกิจ (Business Model) และเร่งรัดการดำเนินโครงการพัฒนาศูนย์ซ่อมบำรุงอากาศยาน (TG MRO Campus)
2.2 องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) นำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการให้บริการแก่ประชาชน เช่น ระบบ E-Ticket GPS และ QR-Code เป็นต้น และปัจจุบัน ขสมก. ได้ร่วมมือกับจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยในการพัฒนาแอพพลิเคชั่น Via Bus เชื่อมโยงข้อมูลการเดินรถจากระบบ GPS แบบ Real Time นอกจากนี้ คนร. ได้มอบหมายให้ ขสมก. พิจารณาการจัดหารถใหม่จากผู้ประกอบการในประเทศและต่างประเทศ รวมถึงการปรับปรุงสภาพรถเดิม ให้มีสัดส่วนที่เหมาะสมและชัดเจนโดยเร็ว พร้อมทั้งบริหารอัตรากำลังและพัฒนาบุคลากรให้สอดคล้องกับรูปแบบธุรกิจ (Business Model) โดยมิให้กระทบต่อการให้บริการประชาชน นอกจากนี้ มอบหมายให้ ขบ. รับไปพิจารณาการจัดให้มีระบบทดสอบด้าน EQ สำหรับพนักงานให้บริการด้านขนส่งด้วย
2.3 การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) มีการกำหนดกรอบแผนการขับเคลื่อนองค์กรในระยะยาว โดยมีโครงการที่เร่งดำเนินการ เช่น การปรับโครงสร้างองค์กรตามบทบาทในอนาคต การเพิ่มประสิทธิภาพด้านการบริหารทรัพย์สิน และการก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เป็นต้น สำหรับการก่อสร้างทางคู่ระยะที่ 1 จำนวน 7 เส้นทาง ระยะทาง 993 กม. รฟท. ได้ผู้รับเหมางานโยธาครบทุกสัญญาแล้ว และกำลังดำเนินการตามแผนก่อสร้างโครงการโครงสร้างพื้นฐาน อย่างไรก็ตาม คนร. ได้สั่งการให้ รฟท. แก้ไขปัญหาการให้บริการเดินรถไฟและรถไฟฟ้าเชื่อมสนามบินสุวรรณภูมิ (Airport Rail Link : ARL) ให้พร้อมให้บริการแก่ประชาชน และเพื่อให้เกิดความชัดเจนในการเชื่อมโยงเส้นทางการเดินรถไฟทั้งในประเทศและเชื่อมต่อไปยังประเทศโดยรอบ จึงเห็นควรให้ รฟท. จัดทำแผนเส้นทางการเดินรถในระยะ 5ปี 10 ปี และ 20 ปี พร้อมทั้งการพัฒนาพื้นที่และการบริหารทรัพย์สิน โดยการสร้างมูลค่าเพิ่มจากการใช้ประโยชน์จากที่ดินที่ไม่ใช่เพื่อการเดินรถ (non core) และให้นำเสนอรูปแบบของการบริหารจัดการของบริษัทบริหารทรัพย์สินและบริษัทเดินรถและซ่อมบำรุงให้แล้วเสร็จภายในมิถุนายน 2561
อนึ่ง คนร. ได้มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเร่งจัดทำแผนแม่บทระบบการคมนาคมขนส่งในภาพรวมของ ประเทศ (ระยะ 5 ปี 10 ปี และ 15 ปี) ด้วย
2.4 ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ธอท.) ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2561 ธอท. มีกำไรสูงกว่าเป้าหมาย เนื่องจากสามารถปล่อยสินเชื่อเพิ่มขึ้นและแก้ไขปัญหาหนี้ NPF จากมาตรการแก้ไขหนี้รายย่อย สำหรับการแก้ไขกฎหมายเพื่อให้กระทรวงการคลังสามารถปรับโครงสร้างทางการเงินให้ ธอท. และรองรับการสรรหาพันธมิตร ได้ผ่านการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติแล้วและอยู่ระหว่างรอประกาศในราชกิจจานุเบกษา นอกจากนี้ คนร. ได้ขอให้ ธอท. ดำเนินการ
ให้เป็นไปตามแผนอย่างต่อเนื่องเพื่อให้มีฐานะทางการเงินที่แข็งแกร่งและพร้อมสำหรับการสรรหาพันธมิตร
2.5 บริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) (บมจ. ทีโอที) และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (บมจ. กสท) คนร. ได้มอบหมายให้กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (กระทรวง DE) พิจารณารายละอียด และขั้นตอนการดำเนินงานในการถ่ายโอนทรัพย์สินจาก บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท ไปยัง บริษัท NBN และบริษัท NGDC ให้ชัดเจน ทั้งนี้ หากมีแนวทางหรือมาตรการอื่นที่จะดำเนินการ ให้นำเสนอคณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนการแก้ไขปัญหารัฐวิสาหกิจ เพื่อเสนอ คนร. ภายในเดือนมิถุนายน 2561