กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--I AMM SUPER PR
แผนระบบสื่อและวิถีสุขภาวะทางปัญญา สสส. ตระหนักถึงปัญหาการรับข่าวสารของกลุ่มผู้สูงอายุ จึงร่วมกับกลุ่มคนตัว D พัฒนาหลักสูตรและสร้างเครือข่ายผู้สูงอายุรู้ทันสื่อ สร้างคาถาให้จำง่ายๆ 3 ข้อ คือ จำเป็นหรือไม่? หาข้อมูลก่อน และทำแล้วเดือดร้อนใครหรือเปล่า? เพื่อส่งเสริมให้ผู้สูงอายุรู้เท่าทันสื่อ เป็นผู้ส่งต่อ แนะนำ และขยายความรู้นี้ไปสู่ลูกหลานในครอบครัว โดยใช้เครือข่ายวิทยุชุมชนเป็นกระบอกเสียงร่วมกับการทำงานกระบวนการสร้างสรรค์ในพื้นที่นำร่อง 5 จังหวัด ได้แก่ เลย สุรินทร์ พะเยา กระบี่ และอุบลราชธานี
เนื่องจากปัจจุบันนี้ด้วยจำนวนตัวเลขจำนวนประชากรผู้สูงอายุที่เพิ่มสูงขึ้นมากกว่า 10 ล้านคน โดยจะมีผู้สูงอายุมากกว่าเด็ก คิดเป็นสัดส่วน 1 ใน 5 ของประชากรทั้งหมด ทำให้ประเทศไทยกำลังจะก้าวเข้าสู่สังคมผู้วัยอย่างสมบูรณ์ สินค้าผลิตภัณฑ์จำนวนมากต่างพุ่งเป้าการสื่อสารมาที่กลุ่มผู้สูงอายุโดยเฉพาะสินค้าที่อาศัยปัญหาเรื่องสุขภาพเป็นจุดโฆษณาชวนเชื่อ จนบางครั้งผู้สูงอายุที่ไม่รู้เท่าทันอาจคล้อยตาม จนส่งผลกระทบอันตรายต่อสุขภาพมากยิ่งขึ้น
ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้อำนวยการสำนักงานสร้างเสริมวิถีชีวิตสุขภาวะ สสส. กล่าวถึงที่มาของการทำงานครั้งนี้ว่า "ด้วยปริมาณผู้สูงอายุที่เพิ่มมากขึ้น สังคมที่เปลี่ยนไป ทำให้เกิดทั้งโอกาส ประโยชน์ และความเสี่ยง บางครั้งผู้สูงอายุเสพสื่อ อย่างขาดการคิดวิเคราะห์ ทำให้เสียโอกาสในการดูแลสุขภาพที่ถูกต้อง สสส. เป็นองค์กรที่สนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ เรายินดีที่จะช่วยสนับสนุนให้การสื่อสารเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยให้คนแข็งแรงมากขึ้น ซึ่งไม่ได้หมายถึงแค่กาย แต่หมายถึงทางใจ ความคิดอ่าน และปัญญาร่วมไปด้วย"
วันชัย บุญประชา หัวหน้ากลุ่มคนตัว D กล่าวถึงสถานการณ์สื่อที่ส่งผลกระทบกับผู้สูงอายุในชนบทค่อนข้างมาก คือ สื่อวิทยุชุมชนที่สนับสนุนโดยภาคธุรกิจ มีสินค้าสมุนไพร เครื่องสำอาง ปุ๋ย เครื่องใช้ไฟฟ้า ฯลฯ สร้างกลยุทธ์มากระตุ้นเร้าผู้สูงอายุ และสื่อบุคคลที่จะเข้าไปชักจูงใจขายสินค้าให้ผู้สูงอายุถึงที่บ้าน
"ต้องทำความเข้าใจก่อนว่าผู้สูงอายุเป็นผู้ที่มีประสบการณ์ชีวิตมาแล้วค่อนข้างเยอะ เป็นกลุ่มที่มีพลังสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ ผู้สูงอายุจะเป็นผู้ที่ช่วยชี้แนะลูกหลานในครอบครัว ดังนั้นสิ่งที่เราทำไม่ใช่การไปบอกผู้สูงอายุว่าอันไหนถูกหรือผิด หรือของนั้นดีหรือไม่ดี แต่คือการทำให้ผู้สูงอายุมี 'สติ' เขาจะสามารถวิเคราะห์และแยกแยะได้ด้วยตนเอง เราจึงพัฒนาหลักสูตรขึ้นมาโดยให้จำง่าย ๆ เป็นคาถา 3 ข้อ ข้อแรกคือ จำเป็นหรือไม่? ก่อนจะซื้อทบทวนก่อนว่าของนั้นจำเป็นหรือเปล่า? ข้อที่สอง คือ หาข้อมูลก่อน เช่น ลองไปค้นดูก่อนว่ามี อย.ไหม? กระบวนการผลิตเป็นอย่างไร? ข้อที่สาม คือ ทำแล้วเดือดร้อนใครหรือเปล่า? และถ้าผ่าน 3 ข้อนี้แล้วให้ลองไปถามเพื่อนอีก 2 คนถ้าเพื่อนบอกว่าโอเคแล้วจึงตกลงใจได้ว่าของสิ่งนั้นน่าจะซื้อได้และมีประโยชน์จริง" วันชัย บุญประชา กล่าว
หลักสูตรและคาถารู้ทันสื่อสำหรับผู้สูงอายุ จะถูกสอดแทรกไปกับรายการของสถานีวิทยุชุมชนที่เข้าร่วมเป็นเครือข่ายกับกลุ่มคนตัว D จังหวัดละ 3 สถานี ออกอากาศสัปดาห์ละ 1 ครั้ง ควบคู่ไปกับการเสริมพลังด้วยการลงพื้นที่ทำกิจกรรมสร้างสรรค์กับผู้สูงอายุจังหวัดละ 200 คน โดยที่ผ่านมาได้รับการตอบรับจากผู้สูงอายุใน 5 จังหวัดนำร่องที่ให้ความสนใจในประเด็นนี้กันอย่างล้นหลาม
ศุภชีพ สิริวงศ์ใจ คณะทำงานสถาบันครอบครัวเข้มแข็งพะเยา กล่าวว่า "ทุกวันนี้มีคนมาขายยาหรือบางทีก็ทำทีเข้ามาช่วยตรวจดูสายไฟให้ผู้สูงอายุถึงบ้าน พอเสร็จแล้วก็แนะนำให้ต้องปรับโน่นนี่ เสียเงินเสียทองกันไปเยอะแยะ จึงเป็นเรื่องที่ผู้สูงอายุสนใจและค่อนข้างตื่นตัว จากการลงพื้นที่ทำกิจกรรม กลุ่มผู้สูงอายุได้รวมตัวกันสร้างสรรค์สื่อเอาเพลงพื้นบ้านของพะเยาที่เรียกว่า 'ซอ' มาแต่งเป็นเนื้อเพลงที่มีเนื้อหาการรู้ทันสื่อและสนใจอยากจะนำไปเป็นหลักสูตรหนึ่งในโรงเรียนผู้สูงอายุในพื้นที่อีกด้วย"
ส่วนที่จังหวัดกระบี่ ปณัฐติยา แก้วหนองเสม็ด ผู้อำนวยการสถานีวิทยุชุมชน FM 96.5 MHz กล่าวว่า "ที่กระบี่วิทยุชุมชนยังเป็นสื่อที่มีพลังค่อนข้างมาก ชาวบ้านจะฟังวิทยุระหว่างทำงาน ในตลาด ในร้านอาหาร ร้านเสริมสวย พอเราออกอากาศเรื่องนี้ไปสัปดาห์ละครั้ง ตอนนี้ทุกคนท่องคาถา 3 ข้อได้หมดเลย แล้วก็ไม่ใช่แค่กลุ่มผู้สูงอายุ ลูกหลานก็สะท้อนว่าการได้ฟังรายการแบบนี้ ทำให้เขาเข้าใจผู้สูงอายุมากขึ้น ทำให้ได้ประโยชน์เรื่องความสัมพันธ์ในครอบครัวไปด้วย"
สำหรับผู้สูงอายุอย่าง จันทญา เจ๊ะโส้ ประธาน อสม.ชุมชนกระบี่ท่าเรือ ที่ครั้งหนึ่งเคยหลงเชื่อสินค้าประเภทยาลูกกลอน เพราะคิดว่าจะช่วยทำให้หายปวดเข่า แต่สารเสตียรอยด์ในยาเกือบทำให้ต้องป่วยเป็นโรคไต ได้แสดงความคิดเห็นถึงการมาเข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ว่า "ที่เราเชื่อเพราะเราอยากหาย เขาจะมีเทคนิคเข้ามาคุยกับเราต่าง ๆ นา ๆ จนเราคล้อยตาม การมีโครงการแบบนี้จะเป็นประโยชน์กับผู้สูงอายุ สามารถนำไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวันได้จริง แล้วเรายังได้ส่งต่อความรู้นี้ไปแนะนำให้กับลูกหลานได้ด้วย"
อย่างไรก็ตาม ประเด็นสำคัญในการพัฒนาหลักสูตรผู้สูงวัยเท่าทันสื่อครั้งนี้ คือการไม่ได้มองผู้สูงอายุในฐานะผู้ตกเป็นเหยื่อ เพราะแท้จริงแล้วผู้สูงอายุทุกคนคือผู้ที่ผ่านประสบการณ์ มีความรู้ มีศักยภาพในสังคม
"ผู้สูงอายุผ่านประสบการณ์ชีวิตมาเยอะ ถ้าผู้สูงอายุเข้มแข็งและรู้เท่าทันสื่อมากพอ เขาจะกลายเป็นที่พึ่งพาและเตือนสติลูกหลานในครอบครัวให้เท่าทันสื่อได้ต่อไป นี่คือภาพที่เราอยากเห็นและหวังอยากให้เป็น" วันชัย บุญประชา หัวหน้ากลุ่มคนตัว D กล่าวทิ้งท้าย
**ข้อมูลเพิ่มเติม www.thaihealth.or.th**