สรุปประเมินการค้าการลงทุนใน CLMV หลังปี 58 และ 5 ปีข้างหน้า

ข่าวทั่วไป Thursday May 31, 2018 16:15 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--หอการค้าไทย ประเทศในอาเซียนมีบทบาทสำคัญทางเศรษฐกิจมากขึ้นอย่างต่อเนื่องจากที่เคยมีส่วนแบ่งทางเศรษฐกิจเพียงร้อยละ 2 ของ GDP โลก ในปี พ.ศ. 2548 เป็นร้อยละ 3.4 ของ GDP โลกในปี พ.ศ. 2559 โดยประเทศอาเซียนเดิม (ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และบรูไน) มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 1.6 เท่า ในขณะที่ประเทศในกลุ่ม CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) มีการเติบโตทางเศรษฐกิจเพิ่มมากขึ้นถึง 2.4 เท่า ตลาด CLMV ซึ่งเป็นตลาดที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอยู่ในระดับสูง และมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง ทำให้มีกำลังซื้อภายในประเทศมากขึ้น ประกอบกับมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ จึงเป็นตลาดที่ถูกหมายปองจากประเทศทั้งในและนอกอาเซียนที่ต้องการเป็นคู่ค้าด้วย ซึ่งในปี 2565 คาดว่า GDP ของ CLMV จะมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.2 จากปี 2558 มีมูลค่าเพิ่มขึ้น 223 พันล้านเหรียญสหรัฐ ในขณะที่อาเซียนเก่าเพิ่มขึ้น1,106.40 พันล้านเหรียญสหรัฐ โดย GDP เฉลี่ยของ CLMV จะอยู่ที่ร้อยละ 6.8 ขณะที่อาเซียนเดิม มี GDP เฉลี่ย อยู่ที่ร้อยละ 4.5 สำหรับในด้านการค้า ประเทศในกลุ่มอาเซียนมีการวางแผนการพัฒนาเศรษฐกิจร่วมกัน โดยมีแผนการรวมตัวเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียนอย่างสมบูรณ์ตั้งแต่วันที่ 31 ธันวาคม 2558 ที่ผ่านมา การรวมตัวดังกล่าวเพื่อเสริมสร้างความแข็งแกร่งทางเศรษฐกิจ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอาเซียนในตลาดโลกมากขึ้น ในส่วนของวัตถุประสงค์ด้านการค้าที่ต้องการให้อาเซียนมีการค้าขายกันมากขึ้น โดยมีแนวทางให้ประเทศในอาเซียนลดภาษีระหว่างกันให้ได้มากที่สุด โดยได้เริ่มมีการทยอยลดภาษีตั้งแต่ปี 2536 เรื่อยมา โดยในช่วงแรกประเทศอาเซียนเดิม 6 ประเทศ (ไทย มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ ฟิลิปปินส์ และบรูไน) เป็นผู้นำในการลดภาษีให้หมดไปก่อน โดยลดภาษีสินค้าในบัญชี Inclusion List (IL) ให้เป็น 0% ในปี 2553 ในขณะที่กลุ่มอาเซียนใหม่ (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม) ได้ทยอยลดภาษีจนกระทั่งเหลือ 0% ในวันที่ 31 ธันวาคม 2558 ดังนั้นจึงเป็นที่น่าสนใจว่าหลังจากที่ประเทศในอาเซียนได้มีการลดภาษีเป็น 0% แล้วนั้นประเทศในอาเซียนจะมีการค้าขายกันเอง (Intra-ASEAN Trade) มากขึ้นตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้หรือไม่ ซึ่งผลการศึกษา พบว่าสัดส่วนการค้าระหว่างอาเซียนด้วยกันเอง (Intra-ASEAN Trade) ลดลง แต่สัดส่วนการค้าของประเทศนอกอาเซียน (Extra-ASEAN Trade) กับมีสัดส่วนเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศ CLMV ที่มีสัดส่วนการค้า Intra-ASEAN Trade ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดย CLMV มีสัดส่วน Intra-ASEAN Trade เฉลี่ยในช่วงปี 2553-2558 เป็นร้อยละ18.4 แต่สัดส่วนดังกล่าวลดลงเหลือเพียงร้อยละ 14.8 ในช่วงปี 2559-2560 และคาดว่าในช่วงปี 2561-2565 สัดส่วน Intra-ASEAN Trade เฉลี่ยจะหลือเพียงร้อยละ 14 ในขณะที่ประเทศอาเซียนเดิมก็มีแนวโน้ม Intra-ASEAN Trade ลดลงเช่นกัน แต่ไม่ลดลงแรงเท่าประเทศ CLMV โดยมีสัดส่วนลดลงจาก 24.9 ในช่วงปี 2553-2558 เหลือ 24.8 ในช่วงปี 2559-2560 และคาดว่าในช่วงปี 2561-2565 จะเหลือ 24.7 ทั้งนี้การที่ Intra-ASEAN Trade มีแนวโน้มลดลงเนื่องมาจากจีนเข้ามามีบทบาทมากขึ้น โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศ CLMV ทั้งนี้ ประเทศ CLMV จากในอดีตที่มีการนำเข้าสินค้าจากประเทศอาเซียนด้วยกันเองเป็นหลัก โดยมีสัดส่วนการนำเข้าของอาเซียนสูงถึงร้อยละ 26.7 ในปี 2547 กลับมีการนำเข้าจากอาเซียนเหลือเพียง 20.2 ในปี 2560 และมีการนำเข้าจากจีนมากถึงร้อยละ 31.3 รวมถึงมีแนวโน้มนำเข้าจากเกาหลีใต้มากขึ้นโดยในปี 2560 CLMV มีการนำเข้าจากเกาหลีใต้สูงถึงร้อยละ 17.5 ซึ่งนี่เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่า อาเซียนเดิม กำลังสูญเสียโอกาสในการส่งออกไปยังตลาด CLMV ให้กับ จีน และ เกาหลีใต้ที่กำลังขยายตัวสูงในตลาด CLMV ทั้งนี้ คาดว่า ในช่วง 5 ปีข้างหน้า จีนจะมีบทบาททางการค้าเพิ่มขึ้นในเมียนมา ขณะที่เกาหลีใต้จะมีบทบาททางการค้ามากขึ้นในเวียดนาม ส่วนไทยนั้น ยังคงครองส่วนแบ่งตลาดในลาว และกัมพูชา สำหรับด้านการลงทุน พบว่า ประเทศที่มีการลงทุนโดยตรง (FDI) จากต่างประเทศมากที่สุดในปี 2559 คือ สิงคโปร์ มาเลเซีย และเวียดนาม ตามลำดับ และคาดว่า FDI ในปี 2565 สิงคโปร์ ยังครองแชมป์ FDI ของอาเซียน ซึ่งประเทศดาวรุ่งของการลงทุน คือ เวียดนาม ขณะที่อินโดนีเซียสูญเสีย ฐานการผลิตให้กับเวียดนาม ส่วนมาเลเซียยังคงรักษา FDI ในระดับคงที่

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ