กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--ไออาร์ แอนด์ พีอาร์ฮับ
"ทรีนีตี้" ชี้ปัจจัยต่างประเทศจะยังมีอิทธิพลหลักต่อทิศทางตลาดหุ้นไทยในเดือนมิถุนายน ทั้ง Dot plot จากการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ ที่จะส่งสัญญานถึงความถี่ในการปรับขึ้นดอกเบี้ยช่วงถัดไป ความวุ่นวายทางการเมืองในยุโรป โดยเฉพาะอิตาลีที่มีความเสี่ยงต่อการถอนตัวออกจากยูโรโซนมากขึ้น รวมถึงทิศทางราคาน้ำมันดิบที่ยังคงมีความผันผวน แนะนักลงทุนถือหุ้นในพอร์ต และรอเพิ่มน้ำหนักหากดัชนีอ่อนตัวมาที่ระดับ 1,700 จุดหรือใกล้เคียง เลือก PTT และ CK เป็นหุ้นTop Pick
นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ ทรีนีตี้ จำกัด ประเมินทิศทางตลาดหุ้นไทยเดือนมิถุนายนว่า คาดการณ์ SET Indexจะแกว่งตัวในกรอบ 1,680 - 1,780 จุด โดยมีกรอบแนวรับที่ 1,700 และ 1,680 จุด ส่วนกรอบแนวต้านอยู่ที่ 1,750 และ 1,770 จุด
สำหรับปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามได้แก่
1) การประชุมคณะกรรมการธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) ในวันที่ 12-13 มิถุนายน ซึ่งประเด็นสำคัญของการประชุมรอบนี้ไม่ได้อยู่ที่การขึ้นดอกเบี้ย ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นแน่นอนแล้ว 100% แต่จะอยู่ที่ Dot Plot ที่จะสะท้อนมุมมองการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของกรรมการแต่ละท่าน ซึ่งล่าสุดในการประชุมเดือนมีนาคม มีกรรมการที่เห็นควรให้ขึ้นดอกเบี้ยในปีนี้ทั้งหมด 3 ครั้งและ 4 ครั้งอย่างละเท่าๆกัน ด้วยเหตุนี้หากค่ากลางของ Dot plot มีการขยับขึ้นในรอบนี้ มีโอกาสที่อัตราผลตอบแทนพันธบัตรสหรัฐ (Bond yield) และเงินดอลลาร์ฯจะปรับตัวสูงขึ้นได้ เนื่องจากเป็นสิ่งที่ตลาดยังไม่ได้ Price in มากนัก จนอาจส่งผลกดดันต่อราคาสินค้าโภคภัณฑ์และกระแสเงินทุนต่างชาติในท้ายที่สุด
2) ความวุ่นวายทางการเมืองในยุโรป เริ่มจากอิตาลีที่ล่าสุดการจัดตั้งรัฐบาลมีทีท่าว่าจะล้มเหลว และอาจนำไปสู่การเลือกตั้งครั้งใหม่และความเสี่ยงในการออกจากยูโรโซนที่มากขึ้น นอกจากนั้นเสถียรภาพทางการเมืองของสเปนก็เริ่มสั่นคลอน ภายหลังจากที่ความเชื่อมั่นในตัวนายกรัฐมนตรี Mariano Rajoy เริ่มลดลง ปัจจัยดังกล่าวทำให้ Bond yield และCDS Spread ของประเทศอิตาลีและสเปนปรับตัวเพิ่มขึ้นทันที สร้างความกังวลว่าประเทศดังกล่าวโดยเฉพาะอิตาลีมีความเสี่ยงที่จะผิดนัดชำระหนี้มากขึ้น ล่าสุด Moodys ตัดสินใจปรับลดระดับเครดิตพินิจของอิตาลีลงและระบุว่าพร้อมจะปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือ หากรัฐบาลชุดใหม่ของอิตาลีไม่สามารถดำเนินนโยบายการคลังที่จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะของประเทศลดลงอย่างยั่งยืนได้
3) ทิศทางของราคาน้ำมันดิบ และการประชุม OPEC ในวันที่ 22 มิถุนายน ซึ่งในกรณีฐาน ทรีนีตี้ประเมินว่าที่ประชุมดังกล่าวจะยังคงยืนหยัดต่อข้อตกลงการลดกำลังการผลิตไปจนถึงสิ้นปีนี้ ซึ่งน่าจะช่วยลดทอนความกังวลของนักลงทุนต่อกระแสข่าวที่ว่าซาอุดิอาระเบียและรัสเซียเตรียมที่จะเพิ่มกำลังการผลิตในช่วงถัดไป ทั้งหมดนี้ล้วนมีผลต่อการเคลื่อนไหวของราคาหุ้นในกลุ่มพลังงานและปิโตรเคมี ซึ่งเป็นกลุ่มหุ้นใหญ่ที่มีน้ำหนักต่อดัชนีในภาพรวม
4) การประกาศรายชื่อสมาชิกดัชนี SET50 รอบใหม่ช่วงกลางเดือนมิถุนายนนี้ ซึ่งทรีนีตี้ประเมินว่าหุ้นที่มีแนวโน้มถูกนำเข้าสู่ดัชนี SET50 ในรอบถัดไปได้แก่ KTC, TOA, RATCH, BGRIM, ESSO ทั้งนี้จากการศึกษาตั้งแต่ปี 2008 พบว่า หุ้นที่ถูกนำเข้ามักปรับตัว Outperform SET Index ตั้งแต่ช่วงก่อนหน้าไปจนถึงวันมีผลบังคับใช้จริง ซึ่งรอบนี้
ตรงกับวันที่ 2 กรกฎาคม ในทางตรงกันข้าม คาดการณ์หุ้นที่มีแนวโน้มถูกถอดออกจากดัชนี SET50 ในรอบถัดไปได้แก่ WHA, TPIPP, BCP, PSH, KCE ทั้งนี้พบว่าหุ้นที่ถูกถอดออกมักปรับตัว Underperform SET Index ตั้งแต่ช่วงก่อนหน้าไปจนถึงวันมีผลบังคับใช้จริงเช่นกัน
สำหรับกลยุทธ์การลงทุนในรอบเดือนมิถุนายนนี้ แนะนำให้นักลงทุนใช้กลยุทธ์ตั้งรับ โดยหลังจากที่เข้าซื้อหุ้นไปแล้วที่บริเวณดัชนี 1,750 จุด แนะนำให้นักลงทุน Wait & See และรอจังหวะเพิ่มน้ำหนัก หากดัชนีปรับตัวลงมาที่บริเวณกรอบ 1,700 จุดหรือใกล้เคียง
ทั้งนี้ หุ้นที่แนะนำให้ลงทุนประจำเดือนนี้ ได้แก่ PTT และ CK โดยสำหรับหุ้น PTT นั้น ประเมินว่า การตรึงราคาน้ำมันดีเซลจะไม่ส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของ PTT ในปีนี้ โดยกองทุนน้ำมันยังสามารถที่จะตรึงราคาน้ำมันไว้ได้อย่างน้อย 7-15 เดือน ส่วนการตรึงราคา LPG ในระยะสั้นยังไม่กระทบต่อ PTT เช่นกัน เพราะเงินกองทุนยังสามารถตรึงราคาไว้ได้ราว2 เดือน แต่อย่างไรก็ตามหาก PTT จำเป็นต้องเข้าไปช่วยตรึงราคาดีเซล และ LPG จะส่งผลกระทบต่อราคาเป้าหมายเพียงแค่ 5 บาทต่อหุ้นเท่านั้น ซึ่งน้อยกว่าราคาหุ้น PTT ที่ปรับฐานลงมา ด้วยเหตุนี้ ยังคงคำแนะนำซื้อ ที่ราคาเป้าหมาย 64.30 บาท ส่วน หุ้น CK นั้น มองว่ามีงานในมือในระดับสูงพร้อมจ่อเข้าเป็น Backlog รวมถึงเป้าหมายรายได้ 3 หมื่นล้านบาทในปีนี้น่าจะทำได้ไม่ยาก เนื่องจากงานในมือ ณ สิ้นไตรมาส 1/61 อยู่ที่ 6.5 หมื่นล้านบาท จึงยังคงคำแนะนำ ซื้อ ที่ราคาเป้าหมาย 32 บาท