กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--outdoor pr plus
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเซลส์ (TCELS)จับมือร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล ลงนามความร่วมมือ (MOU) นำทีมนักวิจัย ร่วมผลักดันโครงการ "นวัตกรรมการพัฒนายาจากธรรมชาติด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง" หวังต่อยอดนวัตกรรมพร้อมสร้างโอกาสสู่ตลาดเชิงพาณิชย์
รศ.นพ.สรนิต ศิลธรรม ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประธานในพิธีเปิดงานความร่วมมือและเสวนาด้านนวัตกรรมการพัฒนายาจากธรรมชาติด้วยเทคโนโลยีขั้นสูง กล่าวว่า ในอดีตกระบวนการวิจัยพัฒนายาใหม่นั้นมีความซับซ้อนและใช้เวลาค่อนข้างยาวนานประมาณ 12 -15 ปี และใช้เงินลงทุนจำนวนมาก แต่ปัจจุบันบริษัทยาและชีววัตถุระดับนานาชาติ ได้ประกาศแผนและทิศทางของบริษัทเปิดความร่วมมือในลักษณะนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) ซึ่งเน้นทำความร่วมมือในลักษณะรับถ่ายทอดทรัพย์สินทางปัญญาจากบริษัท startup หรือนักวิจัยจากสถาบันต่างๆทั่วโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งการค้นพบสารออกฤทธิ์ตัวยาใหม่จากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ ที่มีขั้นตอนในการวิจัยตั้งแต่ระดับค้นพบมีผลการศึกษาประสิทธิภาพในเบื้องต้น มีสิทธิบัตรและผลงานตีพิมพ์ แนวคิดนี้นอกจากจะทำให้เกิดบริษัทใหม่ๆขึ้นมามากมายแล้ว ยังเป็นกลไกการสร้างมูลค่าเพิ่มให้แก่ผลิตภัณฑ์ในแต่ละขั้นตอนของการวิจัยและพัฒนาที่ไม่จำเป็นต้องลงทุนตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงระดับปลายน้ำอีกต่อไป
ทั้งนี้ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือ ทีเซลส์ (TCELS)ได้มีนโยบายสนับสนุนการพัฒนาสารสกัดจากธรรมชาติให้พบสารออกฤทธิ์ทางยา ภายใต้ความร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ สวทช. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และมหาวิทยาลัยมหิดล โดยในวันนี้ (31 พฤษภาคม 2561) ได้จัดให้มีพิธีลงนามความร่วมมือ (MOU)ตามพันธกิจในการส่งเสริมและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน การพัฒนาบุคลากรที่จำเป็นต่อการพัฒนาธุรกิจและอุตสาหกรรมด้านชีววิทยาศาสตร์เพื่อสร้างมูลค่าเชิงพาณิชย์ในอนาคต
"สิ่งสำคัญสุดความได้เปรียบที่ประเทศไทยมีความหลากหลายทางชีวภาพ ที่ผ่านมาได้มีการนำผลิตภัณฑ์ธรรมชาติมาใช้ในด้านการแพทย์แผนไทยมายาวนาน ดังนั้น ในการนำผลิตภัณฑ์จากธรรมชาติมาเป็นแหล่งของสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพที่สำคัญสำหรับการค้นหาและพัฒนายาใหม่นั้นสามารถนำประโยชน์มาสู่อุตสาหกรรมการผลิตยาของประเทศได้อย่างมาก ซึ่งจำเป็นต้องมีการเชื่อมโยงผู้เชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ เช่นเทคโนโลยีชีวภาพ เภสัชกรรม มาดำเนินการร่วมกันตลอดกระบวนการของการวิจัยจนถึงการจำหน่าย" ดร.นพ.ปฐมกล่าว
ด้านดร.นเรศ ดำรงชัย ผู้อำนวยการศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์กล่าวว่า "การค้นหาตัวยา หรือ drug discovery เป็นกุญแจสำคัญที่สุด ที่นำไปสู่การวิจัยและพัฒนาในขั้นต่อไปเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม นั่นคือยาจากนวัตกรรม ที่จะตอบโจทย์ความต้องการทางการแพทย์ใหม่ ๆ ของโลกที่ยังไม่มีคำตอบ (unmet medical needs) วิธีการที่ได้ผลดีที่สุดในเวลานี้คือการสร้างความร่วมมือในลักษณะนวัตกรรมแบบเปิด (Open Innovation) โดยประเทศไทยมีศักยภาพในด้านการค้นหาสารออกฤทธิ์จากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ โดยที่ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์หรือ TCELS ได้ริเริ่มจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา ผ่านความร่วมมือกับคณะวิทยาศาสตร์และโรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล จนได้เปิดดำเนินการแล้ว ทำให้เกิดมีขีดความสามารถในเทคโนโลยีตรวจคัดกรองสารออกฤทธิ์ในการรักษาโรคได้พร้อมกันในปริมาณมาก (high throughput screening, HTS) และเพื่อขยายขอบเขตของขีดความสามารถของประเทศ ในเวลาต่อมาจึงได้สร้างความร่วมมือกับหน่วยงานหลักที่มีบทบาทสูงระดับประเทศในการเก็บรวบรวมผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและนำมาศึกษาการออกฤทธิ์ ได้แก่ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC)"
"ความร่วมมือแบบ Open Innovation นี้เป็นจุดเริ่มต้นของการสร้างความเข้มแข็ง ด้านวิจัยและพัฒนา อันจะช่วยเกื้อหนุนให้เกิดการวิจัยพัฒนาและนวัตกรรมของงานด้านการค้นหายาจากผลิตภัณฑ์ธรรมชาติ และจะทำให้ประเทศไทยมีโอกาสเป็นเจ้าของนวัตกรรม โดยในการเปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนกันนี้ ได้มีการกำหนดกฎกติกาขึ้นมาอย่างชัดเจนในรูปแบบของแนวปฏิบัติหรือ guideline ที่ยึดถือร่วมกัน และสอดคล้องกับหลักปฏิบัติของกฎกติการะหว่างประเทศ รวมไปถึงการเข้าถึงและแบ่งปันผลประโยชน์ (access and benefit sharing) ไว้ล่วงหน้า ก่อนที่จะเข้าสู่ขั้นตอน "Translation research" และสามารถถ่ายทอดออกสู่อุตสาหกรรมและการลงทุนได้"ดร.นเรศ กล่าว
ขณะที่ ดร.ลิลี่ เอื้อวิไลจิตร ผู้ช่วยผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.)กล่าวว่า "เนื่องจากประเทศไทยมีความได้เปรียบเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ ซึ่งเป็นแหล่งสำคัญของสารธรรมชาติที่นำมาพัฒนาเป็นยาได้ โดยเฉพาะจุลินทรีย์ จะเห็นว่ายาปฏิชีวนะส่วนใหญ่ที่ใช้กันอยู่ก็มีที่มาจากจุลินทรีย์ ดังนั้น สวทช.จึงได้ให้ความสำคัญในงานวิจัยด้านการค้นหายามาอย่างยาวนาน จึงได้มีการเก็บสายพันธุ์จุลินทรีย์อย่างเป็นระบบและได้มาตรฐานมากว่า 25 ปี ซึ่งปัจจุบันบริหารจัดการโดยศูนย์ชีววัสดุประเทศไทย(Thailand Bioresource Research Center) (TBRC) และยังมีการทำวิจัยอย่างต่อเนื่องเพื่อศึกษาประโยชน์ของจุลินทรีย์ในด้านต่างๆ รวมถึงการผลิตสารออกฤทธิ์ชีวภาพที่มีศักยภาพเป็นยารักษาโรค ถึงแม้ว่าแนวโน้มที่จะค้นพบยาใหม่ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่การทำงานร่วมกันแบบเป็นเครือข่ายเช่นนี้ ทำให้มีการแบ่งปันหรือแลกเปลี่ยนนวัตกรรมร่วมกัน แชร์เครื่องมือ แชร์วิธีการ แชร์สาร และแชร์ประสบการณ์ ทำให้เพิ่มโอกาสในการค้นพบยาชนิดใหม่ได้เร็วขึ้น การรวมพลังทำงานในครั้งนี้ถือเป็นก้าวที่สำคัญและเป็นนวัตกรรมของประเทศไทยในการพัฒนางานวิจัยด้านการค้นหายาใหม่จากสารธรรมชาติ"
ศาสตราจารย์ นายแพทย์เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดี กำกับดูแลด้านการวิจัย พัฒนา และนวัตกรรม จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยกล่าวว่า "งานวิจัยด้านการค้นหายาใหม่ เป็นสิ่งที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยให้ความสนใจอย่างยิ่ง โดย ศาสตราจารย์ นายแพทย์เกียรติ รักษ์รุ่งธรรม รองอธิการบดีฝ่ายวิจัย ได้มีการวางนโยบายพร้อมทั้งจัดตั้งกลุ่มวิจัยต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นรูปธรรม ที่สำคัญได้เสนอให้มีการจัดตั้ง "คลังสารเคมีผลิตภัณฑ์ธรรมชาติและสารสกัดสมุนไพรแห่งชาติ" ที่จะทำให้เกิดความพร้อมในการเป็นแหล่งของสารที่จะใช้สำหรับการค้นหาฤทธิ์ในทางยาใหม่ๆ อย่างไรก็ตาม คลังสารเคมีดังกล่าวนี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือของเครือข่ายนักวิจัยด้านเคมีผลิตภัณฑ์ธรรมชาติในหลายมหาวิทยาลัย ที่เห็นว่าสารบริสุทธิ์ที่ได้สกัดแยกได้ทรัพยากรชีวภาพของประเทศ น่าที่จะนำมารวบรวมและจัดเก็บอย่างเป็นระบบพร้อมรายละเอียดของข้อมูล ซึ่งจะสามารถนำไปต่อยอดการใช้ประโยชน์จากความหลากหลายทางชีวภาพของประเทศ ไปสู่จากค้นหายาใหม่ รวมถึงการใช้เป็นสารมาตรฐาน เพื่อการพัฒนาผลิตภัณฑ์สมุนไพรของประเทศต่อไป"
ศาสตราจารย์นายแพทย์บรรจง มไหสวริยะ รักษาการแทนอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดลกล่าวว่า"ในปี 2559 ศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ หรือ ทีเซลส์ได้ร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดลจัดตั้งศูนย์ความเป็นเลิศด้านการค้นหาตัวยา หรือที่เรียกว่าECDD ซึ่งในปัจจุบันมีความพร้อมทั้งอุปกรณ์ และเทคนิควิธีการคัดกรองที่ช่วยให้สามารถดำเนินการวิจัยได้อย่างรวดเร็วศูนย์ ECDD นี้ จะดำเนินงานโดยอาศัยความร่วมมือระหว่างนักวิจัยและผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายสาขา เช่นนักเคมี แพทย์ นักวิจัยที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เช่น การรวบรวมสารเคมีที่สกัดจากสมุนไพรหรือสังเคราะห์จากนักเคมี การรวบรวมระบบการตรวจวัดฤทธิ์ทางยาของสารจากห้องปฏิบัติการต่างๆทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ เช่นเซลล์มะเร็งกว่า100 ชนิด อีกทั้งยังจะสร้างทรัพยากรบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญในเรื่องการคิดค้นและพัฒนายาด้วย นอกจากนี้ศูนย์มีการจัดตั้งระบบ วิธีการ และมีระบบควบคุมคุณภาพที่มีมาตรฐาน (standard) ตั้งแต่ระบบการจัดเก็บสาร (compound management system) ระบบการทดสอบฤทธิ์ของสาร ด้วยระบบ high throughput screening ที่มีความทันสมัยและสามารถทดสอบสารได้เป็นจำนวนมากอย่างแม่นยำ (หมื่น-แสนชนิด ภายใน 3-4 วัน) ซึ่งจะแทนการทดสอบด้วยวิธีเดิมๆซึ่งจะใช้ระยะเวลาเป็นปีๆ หลังจากที่ได้สารที่มีฤทธิ์เป็นที่น่าสนใจแล้ว เรายังมีระบบที่จะใช้ศึกษากลไกการออกฤทธิ์ของสาร และการทดสอบความปลอดภัยของสารด้วย เพื่อที่จะพัฒนาสารไปเป็นตัวยาต่อไป"