กรุงเทพฯ--31 พ.ค.--สกว.
หน่วยบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ (สกว.)
มหาวิทยาลัยสวนดุสิตเผยปี 2562 นักวิจัยรับทุนวิจัย สูงกว่าปีที่ผ่านมา ชี้เป็นผลพวงจากการทำงานวิจัยเชิงพื้นที่ เน้นทำงานตอบโจทย์พื้นที่และจังหวัด หลังรับอาสาทำงานวิจัยชุดข้าวอินทรีย์ตอบโจทย์ยุทธศาสตร์จังหวัดสุพรรณบุรีร่วมกับสกว.
จังหวัดสุพรรณบุรี มีข้าวเป็นผลผลิตที่สร้างรายได้หลักให้กับจังหวัด ภายใต้ยุทธศาสตร์หลักที่ต้องการเป็นจังหวัดที่ผลิตอาหารปลอดภัย ล่าสุดมหาวิทยาลัยสวนดุสิต นำโดยสถาบันวิจัยและพัฒนาร่วมกับหน่วยบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดทำโครงการส่งเสริมการผลิตข้าวปลอดภัยในจังหวัดสุพรรณบุรี ซึ่งเป็นงานวิจัยตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำและปลายน้ำ ภายใต้กรอบงานวิจัยเชิงพื้นที่ทั้งสิ้น 8 หัวข้อวิจัย
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ดร.ชนะศึก นิชานนท์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาการศึกษามหาวิทยาลัยสวนดุสิตกล่าวว่า เนื่องจากมหาวิทยาลัยมีวิทยาเขตอยู่ที่จังหวัดสุพรรณบุรี จึงต้องการนำความรู้ความสามารถและความเชี่ยวชาญของมหาวิทยาลัยไปช่วยพัฒนาพื้นที่จังหวัดสุพรรณบุรีให้เติบโตไปพร้อมๆ กับมหาวิทยาลัย ประกอบกับในช่วงปีที่ผ่านมา เกษตรกรต้องประสบปัญหาข้าวราคาตกต่ำ จึงนำทีมนักวิจัยไปรับฟังปัญหาและความต้องการของพื้นที่ เพื่อกำหนดโจทย์วิจัยซึ่งออกมาเป็น 8 หัวข้อในเบื้องต้น อาทิ ประเด็นการลดต้นทุนการผลิต แนวทางการจัดนาแปลงใหญ่ การแปรรูปจากข้าวและส่วนต่างๆ จากข้าว เช่น น้ำต้นอ่อนข้าวพร้อมดื่ม การผลิตอาหารเส้นจากแป้งข้าวกล้องเพาะงอก การพัฒนาขนมปังหวานเสริมข้าวไรซ์เบอร์รี่ และขนมขบเคี้ยว เป็นต้น
ทั้งนี้กระบวนการวิจัยดังกล่าวเป็นกรอบโจทย์วิจัยรูปใหม่ที่เรียกว่า "งานวิจัยเพื่อการพัฒนาพื้นที่" เป็นงานวิจัยหวังผลกำหนดให้มีผู้ใช้ประโยชน์จากงานวิจัยตั้งแต่เริ่มตั้งโจทย์ ทำให้นักวิจัยต้องรับฟังโจทย์ปัญหาที่มาจากพื้นที่จริง ต้องมีการดึง Stakeholder ที่เป็น Key Performance ตัวจริงเข้ามามีส่วนร่วมในงานวิจัย อาทิ เกษตรกรรายใหญ่ที่ทำเรื่องข้าวปลอดภัย เกษตรจังหวัด มูลนิธิข้าวขวัญซึ่งเชี่ยวชาญเรื่องข้าว รวมทั้งพาณิชย์จังหวัด ซึ่งผลจากการทำวิจัยในลักษณะนี้ ทำให้กลไกจังหวัดหลายๆ ภาคส่วนและหลายจังหวัดที่เราไปขยับงานวิจัยซึ่งกลไกเหล่านี้มองเห็นว่า มหาวิทยาลัยสวนดุสิต เป็นหุ้นส่วนที่สำคัญในการเข้าไปพัฒนาพื้นที่ได้ เห็นว่าเรามุ่งที่จะพัฒนาตอบโจทย์จังหวัดจริงๆ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องการกระจายงบประมาณไปสู่ภูมิภาคต่างๆ ผลพลอยได้ที่ตามมาคือ แม้เราจะถูกตัดงบแต่เราได้งบมุ่งเป้าเพิ่มขึ้น และเพิ่มขึ้นกว่าปีก่อนๆ ด้วยซ้ำ นี่คือสิ่งที่เราได้รับหลังจากทำงานวิจัยเชิงพื้นที่กับสกว.แล้วนำมาปรับใช้ในมหาวิทยาลัยของเราอย่างจริงจัง
ด้านนายวินิจ เฮ่าบุญ นักวิชาการพาณิชย์ชำนาญการพิเศษ จ.สุพรรณบุรี กล่าวว่ามหาวิทยาลัย คือสถาบันบริการวิชาการอยู่แล้ว สามารถนำความรู้ไปสร้างให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาพื้นที่และจังหวัด หรือทำงานวิจัยใหม่ๆ เพื่อให้เกิดการแปรรูปและนวัตกรรมงานวิจัยเหล่านี้ก็สามารถที่จะไปสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับคนในพื้นที่ได้ ปัจจุบันผลผลิตข้าวของจังหวัดมีมากเป็นลำดับต้นๆ แต่การนำไปแปรรูปเพื่อเพิ่มมูลค่ายังน้อยกว่ามันสำปะหลัง และข้าวโพดอยู่มาก หากมหาวิทยาลัยสวนดุสิตสามารถเข้ามาช่วยเกษตรกรผู้ปลูกข้าวอินทรีย์ได้จริงจะสามารถสร้างมูลค่าให้กับสินค้าเกษตรกรได้หลายเท่าตัว
การเข้ามามีส่วนร่วมของพาณิชย์จังหวัดกับมหาวิทยาลัย ถือเป็นครั้งแรกเพราะส่วนใหญ่เราจะทำงานร่วมกับเกษตรกร พ่อค้า มากกว่าหน่วยงานที่เป็นองค์ความรู้ ซึ่งถือเป็นโอกาสดีในการเข้ามารับรู้ภารกิจของกันและกัน นอกจากนี้ยังช่วยให้ภาพการทำงานของพาณิชย์จังหวัดกว้างขึ้น ได้เห็นงานวิจัยใหม่ๆ ได้ทราบว่า หากจะต่อยอดสินค้าเกษตรให้เกิดนวัตกรรมควรจะทำอย่างไรบ้าง และมีเครื่องไม้เครื่องมืออะไรบ้างที่จะเอาไปใช้กับในพื้นที่ให้มันเหมาะสม
ด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. ยุธยา อยู่เย็น ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยสวนดุสิต กล่าวในตอนท้ายว่า ทางมหาวิทยาลัยมีความตั้งใจที่อยากจะพัฒนางานวิจัยทั้ง 8 โครงการเรื่องข้าวปลอดภัยให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ได้จริง จึงสนับสนุนงบประมาณในส่วนของมหาวิทยาลัยเอง ต่อยอดงานวิจัยทุกโครงการเพื่อนำไปสู่ผู้ใช้ประโยชน์ พร้อมกับจัดทีมที่เชี่ยวชาญเข้าไปส่งเสริมวิสาหกิจชุมชนในพื้นที่ต่อเนื่อง เพื่อทำให้เกิดผลิตภัณฑ์จากงานวิจัยข้าวเหล่านี้ ถูกต่อยอดสู่การผลิตในเชิงพาณิชย์อย่างเป็นรูปธรรมอย่างแน่นอน