ข้อเสนอแนวทางพัฒนาการสร้างความตระหนัก ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศไทย

ข่าวเทคโนโลยี Tuesday April 19, 2005 16:09 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--19 เม.ย.--สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ
สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ได้รับมอบหมายให้ทำการศึกษาวิจัยแนวทางการดำเนินการส่งเสริมให้ประชาชนมีความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่กระทำอยู่ในประเทศต่างๆ และเสนอวิธีการที่ประเทศไทยควรดำเนินการในแผนกลยุทธ์ 10 ปีข้างหน้า บัดนี้การวิจัยเสร็จสิ้นแล้ว
ผู้ทรงคุณวุฒิร่วมวิจารณ์ผลงานวิจัย ได้แก่ ศาสตราจารย์ ดร.สิปปนนท์ เกตุทัต กรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ , ดร.สมเกียรติ อ่อนวิมล สมาชิกวุฒิสภาจังหวัดสุพรรณบุรี , รศ.ดร.ประสาท สืบค้า คณบดีสำนักวิชาวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารี และ ดร.พิชัย สนแจ้ง ผู้อำนวยการสถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา และคณะกรรมการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.)
คณะผู้วิจัยได้เสนอผลการวิจัยต่อผู้ทรงคุณวุฒิ คือ คณะกรรมการนโยบายแห่งชาติด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ผู้แทนกรรมาธิการด้านวิทยาศาสตร์ฯ สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา คณะอนุกรรมการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยมี ผู้สนใจเข้าร่วมรับฟังและร่วมอภิปราย ได้แก่ ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการให้ข้อมูลการวิจัย หน่วยงานและองค์กรด้านวิจัย ผู้แทนองค์กรที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ สื่อมวลชน การจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ฯลฯ ผู้บริหารรวมทั้งนักวิชาการจากมหาวิทยาลัย สมาคมด้านวิทยาศาสตร์และนิเทศศาสตร์และผู้แทนจากภาคเอกชน ทั้งนี้ ข้อเสนอแนะต่างๆ ผู้ทรงคุณวุฒิในการประชุมจะได้นำไปปรับปรุงแก้ไขผลการวิจัยฉบับสมบูรณ์เพื่อเสนอต่อผู้รับผิดชอบในการดำเนินแผนกลยุทธ์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติต่อไป โดยมีข้อเสนอแนะ 15 ข้อดังต่อไปนี้
1. ควรจัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาและพิพิธภัณฑ์การเรียนรู้ เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และพักผ่อนหย่อนใจในกรุงเทพฯ อย่างเช่น พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยาของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เนื่องจาก พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ มีส่วนในการปลูกฝังค่านิยมและความสนใจใฝ่รู้ของเด็กทางด้านวิทยาศาสตร์ อีกทั้งเป็นประโยชน์ในแง่ของการให้ความรู้ และสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่เยาวชนและประชาชนทั่วไป เป็นแหล่งศึกษาวิจัยและอ้างอิงด้านวิทยาศาสตร์ธรรมชาติ เป็นแหล่งพักผ่อนของครอบครัวในเมืองใหญ่รวมทั้งเป็นจุดดึงดูดนักท่องเที่ยวและสร้างรายได้แก่ท้องถิ่นของประเทศ
2. ควรจะเพิ่มนิทรรศการที่ให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และการวิจัย อย่างเช่น สถาบันวิทยาศาสตร์ทางทะเล มหาวิทยาลัยบูรพา เพื่อผู้ชมจะได้รับความรู้ควบคู่ไปกับความเพลิดเพลิน และน่าจะประสานความร่วมมือระหว่างสถาบันฯ และจังหวัดชลบุรี เพื่อให้ได้ประโยชน์ในการเผยแพร่ความรู้และความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ฯ รวมทั้งเป็นแหล่งท่องเที่ยว
3. ควรจัดตั้งสมาพันธ์พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย เพื่อประสานความร่วมมือกัน จัดให้มีการประเมินและปรับปรุงนิทรรศการในพิพิธภัณฑ์ให้เป็นที่น่าสนใจ รวมทั้งมีการแลกเปลี่ยนกับพิพิธภัณฑ์อื่นด้วย ทุกพิพิธภัณฑ์ควรมีนิทรรศการที่สร้างความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่ประชาชน อย่างเช่น ศูนย์วิทยาศาสตร์เพื่อการศึกษา ยังมีปัญหาขาดแคลนบุคลากร งบประมาณในการดำเนินการและพัฒนาพื้นที่นิทรรศการ เนื่องจากเป็นหน่วยงานในสังกัดของกระทรวงศึกษาธิการ โดยมุ่งประโยชน์เฉพาะนักเรียน ดังนั้น จึงมีโอกาสได้รับงบประมาณเพิ่มเพื่อพัฒนาเผยแพร่ความรู้สู่ประชาชนได้ยาก จึงควรมีการประสานนโยบายระดับสูงเพื่อให้เป็นพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์อย่างเต็มศักยภาพ ซึ่งจะช่วยให้นักเรียนและครอบครัวมาเข้าชมได้พร้อมกันมากกว่าเดิม ควรได้รับการสนับสนุนทั้งด้านงบประมาณ บุคลากรและความร่วมมือจากจังหวัด อย่างเช่น การพัฒนาอุทยานวิทยาศาสตร์พระจอมเกล้า ณ หว้ากอ ประจวบคีรีขันธ์ เพื่อให้เป็นอุทยานประวัติศาสตร์เทิดพระเกียรติพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย เป็นศูนย์ศึกษาวิจัย ตลอดจนเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัด ตามเจตนารมณ์ของมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2532 ซึ่งน่าจะเป็นแหล่งเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจและความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์ให้แก่นักเรียนและประชาชนทั่วไป
4. ควรจะเพิ่มนิทรรศการที่ให้ความรู้และการวิจัยด้านพฤกษศาสตร์ของประเทศ อาทิ องค์การสวนพฤษศาสตร์สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ ที่มีดำเนินการวิจัยอยู่ในองค์การฯ เพื่อให้ผู้ชมได้รับความรู้และสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ควบคู่กับความเพลิดเพลิน เนื่องจากองค์การไม่อยู่ในสังกัดมหาวิทยาลัยแต่มีการวิจัยที่สำคัญต่อประเทศจึงควรมีกรรมการองค์การฯ ที่มาจากภาควิชาพฤกษศาสตร์หรือชีววิทยาร่วมด้วย เพื่อให้งานด้านนี้ ได้รับการสนับสนุนและเป็นประโยชน์ด้านการศึกษาวิจัย
5. ควรมีการเผยแพร่วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสื่อต่าง ๆ องค์กรให้ทุนวิจัยควรให้ทุนให้ทุนแก่นักเขียนหนังสือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ในเรื่องที่ช่วยสร้างความรู้เพื่อเผยแพร่แก่ประชาชน โดยร่วมมือกับภาคเอกชนในการจัดพิมพ์และจำหน่าย นอกจากนี้ ควรจะสนับสนุนโครงการอบรมการเขียนเรื่องทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่เยาวชนและผู้ที่สนใจ อีกทั้ง ควรสนับสนุนให้มีนิตยสารด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่มีคุณภาพดีมีอยู่ในห้องสมุดโรงเรียน สถาบันอุดมศึกษา โรงเรียนทหาร
รัฐวิสาหกิจ ห้องสมุดโรงงานอุตสาหกรรม ห้องสมุด อบจ. ฯลฯ และควรจัดให้มีรางวัลประจำปีสำหรับผู้แต่งหนังสือหรือเรื่องสั้นด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สิ่งพิมพ์/หนังสือและนิตยสาร ในปัจจุบันข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในหนังสือพิมพ์ไทยมีไม่มากพอที่จะเป็นแหล่งความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงควรจัดอบรมเกี่ยวกับประเด็นสำคัญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่กำลังเป็นข่าวแก่นักข่าววิทยาศาสตร์และผู้ที่สนใจ ขอความร่วมมือจากสื่อมวลชนให้เปิดคอลัมน์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้มากขึ้น และถ้ามีการนำเสนอข่าวสารที่ไม่ใช่เรื่องวิทยาศาสตร์ เช่น ข่าวราหู ฯลฯ ควรมีการนำเสนอข่าวในแง่มุมของนักวิทยาศาสตร์ควบคู่กันไปด้วย
เพื่อพัฒนาความรู้ความเข้าใจและสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ควรจะสนับสนุนให้มีการเปิดสอนหลักสูตรวิทยาศาสตร์นิเทศ (Science Communication) เพื่อสร้างนักสื่อสารวิทยาศาสตร์แก่องค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อเป็นนักข่าวสายวิทยาศาสตร์
และควรจัดให้มีรางวัลนักข่าวด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดีเด่นเป็นประจำทุกปี เพื่อกระตุ้นให้เกิดความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีขึ้นในสังคมไทย และสร้างกำลังใจให้แก่ผู้ทำงานสื่อสารด้านวิทยาศาสตร์
รายการวิทยุ ในประเทศไทยมักจะนำข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในหนังสือพิมพ์มานำเสนอ แต่ไม่ค่อยมีรายการที่นำเสนอข่าวสารความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยตรง รายการวิทยุที่มีอยู่บ้าง มักจะเป็นการดำเนินการของคณาจารย์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ที่ได้รับการสนับสนุนจากผู้บริหารหรือองค์กรเอกชน เช่น มูลนิธิดำรง ลัทธพิพัฒน์ โดยสถานีวิทยุกระจายเสียงต่าง ๆ ให้ความอนุเคราะห์ด้านเวลาออกอากาศ
ปัจจุบันรายการวิทยุด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ดำเนินรายการโดยคณาจารย์ในมหาวิทยาลัยควรขอความร่วมมือจากคณบดีคณะต่าง ๆ ในการส่งเสริมและสนับสนุนข้อมูลทางด้านวิทยาศาสตร์หรือข้อมูลที่เกี่ยวข้อง โดยถือว่าเป็นงานบริการสังคมอย่างหนึ่งนำไปเผยแพร่ในสถานีวิทยุเครือข่ายภาคต่าง ๆ ต่อไปเพื่อผลงานจะได้แพร่หลายกว้างขวางขึ้น และขอความร่วมมือให้สถานีวิทยุมีรายการด้านวิทยาศาสตร์โดยตรง เช่น รายการประเภทเปิดรับสาย (Phone in) เพื่อให้ผู้ฟังร่วมแสดงความคิดเห็นในหัวข้อหรือประเด็นปัญหาต่าง ๆ ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
รายการโทรทัศน์ โทรทัศน์เป็นสื่อที่ให้ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่ประชาชนได้ผลมากที่สุด จีนให้ความสำคัญกับสื่อนี้อย่างยิ่ง ในปี 2544 จากผลการสำรวจพบว่า สื่อที่สร้างความรู้ ความตะหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่คนจีนมากที่สุดคือ สื่อโทรทัศน์ เป็นผลให้มีการจัดตั้งสถานีโทรทัศน์เพื่อนำเสนอเรื่องราวทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยเฉพาะ ในประเทศไทยมีรายการโทรทัศน์น้อยมาก รายการที่มีอยู่ส่วนใหญ่เป็นรายการสารคดีจากต่างประเทศที่องค์กรภาครัฐ อันได้แก่ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย และสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ฯลฯ สนับสนุนในการจัดทำรายการแต่ส่วนใหญ่มักออกอากาศในช่วงเวลาที่มีผู้ชมรายการน้อย จึงมีข้อเสนอแนะสองประเด็นคือ ประเด็นแรก คณะกรรมการบริหารกิจการวิทยุโทรทัศน์และวิทยุกระจายเสียง ควรมีนโยบายแลกเปลี่ยนรายการโทรทัศน์ของไทยกับรายการด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของสถานีต่างประเทศ ประเด็นที่สอง ควรขอความร่วมมือจากคณะกรรมการบริหารกิจการวิทยุกระจายเสียงและวิทยุโทรทัศน์ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนรายการโทรทัศน์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 4 พฤศจิกายน 2546 เนื่องจากรายการโทรทัศน์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นรายการที่มีประโยชน์ต่อเยาวชน ครอบครัวและประชาชนทั่วไป ซึ่งงบประมาณมาจากความร่วมมือระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน ที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยอาจมีรูปแบบของรายการดังต่อไปนี้
- รายการสารคดี 5 นาที (หลังข่าวภาคค่ำ) ซึ่งมีรูปแบบรายการคล้ายคลึงกับรายการ “สารานุกรมวิทยาศาสตร์” ทางไทยทีวีสีช่อง 3 ที่เคยได้รับความนิยมในอดีต โดยมีจำนวนผู้ชม (Rating) สูงกว่าภาพยนตร์จีนเรื่อง กระบี่ไร้เทียมทาน ที่ได้รับความนิยมสูงมากเมื่อ 20 กว่าปีมาแล้ว
- รายการสารคดี 30 นาที อย่างเช่น รายการ “วิทยาศาสตร์ช่วยได้” สัปดาห์ละครั้ง เพื่อนำเสนอการใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ของประเทศ
- รายการสนทนา “สนทนาวิทยาศาสตร์ช่วยแก้ปัญหาบ้านเมือง” สัปดาห์ละครั้ง เช่น การแก้ไขปัญหาพลังงาน ปัญหาขาดแคลนน้ำ มลพิษ สิ่งแวดล้อม เป็นต้น
6. โครงการสร้างนักวิทยาศาสตร์นิเทศ (Science Communicator) มหาวิทยาลัยในประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกาหรือออสเตรเลีย เปิดสอนหลักสูตรปริญญาตรี โทและเอก ด้านการสื่อสารวิทยาศาสตร์ (Science Communication) มานานแล้ว จึงมีนักวิทยาศาสตร์นิเทศมากมายทำงานในองค์กรด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและด้านสื่อสารมวลชน แต่ประเทศไทยยังไม่มี จึงทำให้ข่าวสารด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่ได้รับการเผยแพร่มากเท่าที่ควร เนื่องจากขาดแคลนบุคลากร จึงมีข้อเสนอแนะว่า
- ควรจัดอบรมผู้สื่อข่าวและผู้ทำหน้าที่เขียนข่าววิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี โดยอาศัยผู้ชำนาญการด้านนี้จากองค์กรต่าง ๆ เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย , สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) เป็นต้น
- ควรขอความร่วมมือจากมหาวิทยาลัย ที่ประชุมคณบดีคณะวิทยาศาสตร์และคณะนิเทศศาสตร์ให้พิจารณาเปิดหลักสูตรวิทยาศาสตร์นิเทศ ระดับปริญญาตรี โทหรือเอก ที่มีมาตรฐานระดับสากล
- กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ควรมีนโยบายให้จัดสรรทุนศึกษาต่างประเทศ ระยะที่ 3 (1,408 ทุน) ให้แก่ผู้ที่จะเป็นอาจารย์หลักสูตรวิทยาศาสตร์นิเทศด้วย
- องค์กรให้ทุนวิจัย อย่างเช่น สกว. , สวทช. , วช. ควรมีนโยบายให้ทุนวิจัยสนับสนุนและส่งเสริมด้านการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพิ่มขึ้น รวมทั้งทุนเขียนหนังสือ และทุนทำเทปโทรทัศน์ ฯลฯ
- สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) ควรกำหนดตำแหน่งงาน นักวิทยาศาสตร์นิเทศเพิ่มขึ้น สำหรับหน่วยงานที่จำเป็นต้องสร้างความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่ประชาชน เพื่อป้องกันไม่ให้หน่วยงานใช้นักวิทยาศาสตร์นิเทศทำงานประชาสัมพันธ์ทั่วไป
7. รางวัลเชิดชูเกียรติแก่อาชีพด้านวิทยาศาสตร์ อาทิ นักวิทยาศาสตร์ดีเด่น ฯลฯ ประเทศเกาหลีเป็นประเทศแรก ๆ ที่มีการมอบรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่น โดยประมุขของประเทศในวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ เพื่อเชิดชูกียรตินักวิทยาศาสตร์และเป็นการสื่อข่าวในแวดวงวิทยาศาสตร์อันหมายถึงการสร้างความตระหนัก
ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสู่ประชาชนทั่วไป ต่อมาหลายประเทศได้ดำเนินการตาม เช่น ออสเตรเลีย (Prime Minister’s Science Prize)
สำหรับประเทศไทย มูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในพระบรมราชูปถัมภ์ เป็นผู้ดำเนินการให้มีการมอบรางวัลนักวิทยาศาสตร์ดีเด่นในวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ (ปีแรก 18 ส.ค. 2525) และรางวัลนักเทคโนโลยีดีเด่น ในวันเทคโนโลยีไทย (ปีแรก 19 ต.ค. 2545) โดยผู้แทนพระองค์พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเป็นผู้มอบเงินรางวัลและโล่พระราชทาน ในคืนวันรับรางวัลก็จะจัดให้มีการแสดงปาฐกถาของผู้ที่ได้รับรางวัลและแถลงข่าวแก่สื่อมวลชน โดยมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รับการสนับสนุนเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายจากเครือซิเมนต์ไทย สวทช. และ สกว. แบบปีต่อปีหรือทำสัญญา 3-5 ปี คณะผู้วิจัยขอเสนอแนะดังนี้
- แม้ประเทศไทย จะมีการดำเนินการด้านการมอบรางวัลนักวิทยาศาสตร์ และนักเทคโนโลยีดีเด่นมาเป็นระยะเวลานานหลายปี แต่ดำเนินการโดยองค์กรอิสระ จึงประสบผลสำเร็จเพียงระดับหนึ่ง ไม่สามารถส่งผลกระทบต่อคนทั้งประเทศได้ตามเป้าหมาย เนื่องจากผู้นำประเทศและผู้บริหารระดับสูง มักให้ความร่วมมือเฉพาะส่วนพิธีการ ส่วนการกระตุ้นให้สื่อมวลชนนำเสนอข่าว ความสำคัญของรางวัลด้านการวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ว่ามีประโยชน์ต่อประเทศอย่างไรนั้นยังมีน้อย จึงขอเสนอให้มีการพิจารณาเพิ่มเติมด้วย
- เนื่องจากมูลนิธิส่งเสริมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นผู้ดำเนินการด้านรางวัลดังกล่าว ซึ่งต้องอาศัยความช่วยเหลือจากภาคเอกชนและองค์กรภาครัฐ ด้านงบประมาณและการดำเนินการเพื่อให้งานสำคัญระดับชาติอยู่ได้อย่างต่อเนื่องอย่างไม่มีปัญหา จึงขอเสนอให้มีการปรึกษาหารือเพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าว
- ควรจัดให้มีรางวัลแก่บุคคลหรือองค์กร ด้านการส่งเสริมความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (Science and Technology Promotion Awards) รางวัลด้านการเขียนข่าววิทยาศาสตร์ และข่าวเทคโนโลยีดีเด่น (Science and Technology Outstanding Journalist Awards) ดังเช่นในต่างประเทศเพื่อขยายฐานกลุ่มผู้สร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
8. กิจกรรมเยาวชน ควรจะเป็นกิจกรรมหลักที่มุ่งเน้นส่งเสริมการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้แก่เด็กและเยาวชน ประเทศต่างๆ จัดการแข่งขันด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสถานที่ซึ่งมีประชาชนเข้าชมหนาแน่น และมีการนำเสนอข่าวในสื่อต่าง ๆ ทำให้กิจกรรมเยาวชนดังกล่าว เป็นโครงการที่สร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีด้วย เช่น โครงการ Intel International Science and Engineering Fair (ISEF) ซึ่งจัดประกวดโครงงานวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ของนักเรียนมัธยมปลายที่สหรัฐอเมริกา 15 สาขา (เริ่มปี 2493) โครงการ Jugend Forsht จัดแข่งขันนักวิจัยรุ่นเยาว์ (16-22 ปี) ที่เยอรมัน (เริ่มปี 2508)
กิจกรรมเยาวชนในทั้ง 2 ประเทศนี้ ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทเอกชนอย่างจริงจัง ภาครัฐช่วยเพียงบางส่วนเท่านั้น นอกจากนี้ยังมีการแข่งขันโอลิมปิกวิชาวิทยาศาสตร์สาขาต่าง ๆ (เริ่มปี 2508)
สำหรับประเทศไทย สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ได้เริ่มจัดการแข่งขันโครงงานวิทยาศาสตร์ระดับนักเรียน ในงานวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติปีแรก (2525) จวบจนกระทั่งปัจจุบันโดยได้ส่งนักเรียนผู้ชนะเลิศของไทยไปแข่งขัน Intel ISEF ด้วย ปี 2547 โครงการคลื่นการเดินของกิ้งกือได้รับ
รางวัล และได้เริ่มโครงการรางวัลนวัตกรรมแห่งประเทศไทยระดับนักศึกษาปริญญาตรี ตั้งแต่ปี 2544 กระทั่งปัจจุบันทั้งสองโครงการนี้ ได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากภาคราชการและภาคเอกชนหลายแห่ง นอกจากนี้ สมาคมฯ ยังได้ร่วมกับสมาคมคณิตศาสตร์แห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ ส่งนักเรียนไปแข่งขันคณิตศาสตร์โอลิมปิก (ครั้งแรกในปี 2532) โดยในปีต่อมาสถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวท.) ได้รับไปดำเนินการจนถึงปัจจุบัน จึงมีข้อเสนอแนะดังนี้
- โครงการกิจกรรมเยาวชนทั้ง 3 ตัวอย่างในต่างประเทศ มีประโยชน์ต่อการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาก เนื่องจากบริษัทเอกชนในต่างประเทศที่เกี่ยวขอ้งกับวิทยาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ให้การสนับสนุนอย่างจริงจัง เพราะเชื่อว่าเยาวชนที่มีความสามารถด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสูง ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศ และบริษัทในอนาคต แต่ในประเทศไทยส่วนใหญ่ภาครัฐจะเป็นผู้สนับสนุนภาคเอกชนที่สนับสนุนอย่างจริงจังและต่อเนื่อง มีนโยบาย เช่น เครือซิเมนต์ไทย จึงใคร่เสนอให้บริษัทใหญ่ ๆ ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในประเทศให้การสนับสนุนกิจกรรมเยาวชนให้มากขึ้น เช่น ในต่างประเทศด้วย
- ผู้จัดแข่งขันกิจกรรมเยาวชนควรจะมี “นักวิทยาศาสตร์นิเทศ” ทำหน้าที่ประชาสัมพันธ์และชี้แจงความน่าสนใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้ผู้มาเข้าชมการแข่งขันด้วยเพราะนักศึกษาเจ้าของโครงงานส่วนใหญ่จะไม่สามารถอธิบายให้ประชาชนเข้าใจได้
9. งานสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ควรจัดงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ด้านการสร้างความตระหนักทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยมุ่งที่การเผยแพร่ความรู้เป็นสำคัญ
เกาหลี เป็นชาติแรก ๆ ที่มีสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งต่อมาหลายประเทศที่ได้ดำเนินการตาม เช่น ออสเตรเลียและเมืองเซี่ยงไฮ้ เป็นต้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนทั่วไปได้มีโอกาสรับความรู้ความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
ในปี 2525 ประเทศไทยได้เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 เป็นพระบิดาแห่งวิทยาศาสตร์ไทย และได้กำหนดให้วันที่ 18 สิงหาคม ของทุกปี เป็นวันวิทยาศาสตร์แห่งชาติ ซึ่งได้มีการจัดงานทุกปีและได้ขยายออกไปเป็นสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ในปี 2529
ในปี 2543 รัฐบาลมีมติให้เทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เป็นพระบิดาแห่งเทคโนโลยีไทย และได้กำหนดให้วันที่ 19 ตุลาคม ของทุกปี เป็นวันเทคโนโลยีไทย มีการจัดงานอย่างเป็นทางการครั้งแรกในปี 2545
ต่อมากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ได้รวมการจัดงานเป็นสัปดาห์วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ จัดในเดือนตุลาคม 2546 และ 2547 โดยมอบหมายให้สมาคมวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทยฯ ดำเนินการด้านกิจกรรมเยาวชนในช่วงวันที่ 18 สิงหาคม 2546 และ 2547 เหมือนดังเช่นที่เคยจัดในปีก่อน ๆ แต่มีปัญหาและอุปสรรคมากเนื่องจากมีระยะเวลาสั้นเตรียมการและปรับตัวไม่ทัน จึงมีข้อเสนอแนะว่า
- เนื่องจากเดิมไม่มีนโยบายแห่งชาติ เรื่องความตระหนักทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงไม่มีผู้รับผิดชอบการจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ โดยถือเป็นงานเฉพาะกิจทุกปีเป็นเหตุให้มีความไม่แน่นอนจนใกล้วันงาน ยิ่งมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบอย่างใน 2 ปีที่ผ่านมาแล้ว ก็ยิ่งทำให้เกิดความสับสนแก่ผู้ที่เกี่ยวข้อง บัดนี้เมื่อมีนโยบายด้านความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแล้ว จึงควรมีผู้รับผิดชอบประจำในการดำเนินการจัดงาน โดยอาศัยเป้ามหายของโครงการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหลัก มีการงางแผนการดำเนินงานและงบประมาณที่จะใช้ในการจัดงานล่วงหน้า และมีนโยบายการจัดงานให้บรรลุวัตถุประสงค์ด้านการสร้างความตระหนักทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สตวท.) มากว่าการประชาสัมพันธ์องค์กร พร้อมกับมีการประเมินความสำเร็จทุกปีเพื่อนำไปปรับปรุงการจัดงานในปีต่อไป
10. การสนับสนุนให้สมาคมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นแนวร่วมในการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
เนื่องจากประชากรเป้าหมายของโครงการ สตวท. ทั้งประเทศจำนวนมาก ต่างประเทศจึงต้องอาศัยสมาคมด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีสาขาอยู่กว้างขวางเป็นผู้ดำเนินการ เช่น ในประเทศเกาหลีมี Korean Federation of Science and Technology Societies (KOFST) ตั้งแต่ปี 2509 ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 365 สมาคมเป็นผู้จัดงาน โดยรัฐให้การสนับสนุน
ประเทศออสเตรเลีย มี Federation of Australia Science and Technology Societies (FASTS) มีสมาชิก 64 สมาคม เป็นต้น
ประเทศไทย ได้จัดตั้งสภาสมาคมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (สสวทท.) เมื่อปี 2528 ปัจจุบันมีสมาชิก 25 สมาคม ซึ่งได้ร่วมจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ และอื่น ๆ ตลอดมา คณะผู้วิจัยมีข้อเสนอแนะดังนี้
- เนื่องจากปัจจุบันมีกลยุทธ์แห่งชาติด้านความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งมีประชากรเป้าหมาย 40 ล้านคน ดังนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จึงควรมีนโยบายให้การสนับสนุน สสวทท. และสมาคมที่จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกใหม่ มีส่วนร่วมสำคัญในโครงการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เช่น การจัดงานสัปดาห์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ การสนับสนุนให้มีหนังสือและข่าวด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในสื่อต่าง ๆ ฯลฯ ซึ่งถ้ากระทรวงเป็นผู้ลงมือทำเอง อาจจะไม่บรรลุเป้าหมายและสิ้นเปลืองงบประมาณมาก
- ถ้าจะให้ สสวทท. เป็นแนวร่วมที่ช่วยดำเนินการแทนแล้ว จำเป็นต้องให้การสนับสนุน สสวทท. ให้เป็นองค์กรที่มีพลังและสามารถดำเนินการได้ เช่น เกาหลี หรือ เซี่ยงไฮ้ การจัดให้มีสถานที่ทำงาน ห้องประชุม งบประมาณด้านธุรการและการดำเนินการ ฯลฯ
11. การเพิ่มเนื้อหาการสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในหมวดการศึกษาทั่วไป
ในประเทศที่พัฒนาแล้ว ผู้ที่สำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัย (Educated Man : ปัญญาชน) มักจะมีความรู้ในศาสตร์อื่น ๆ ด้วย นอกเหนือจากเนื้อหาวิชาหลักที่ตนศึกษามา ดังนั้น สำนักงานคณะกรรมการอุดมศึกษา (สกอ.) จึงกำหนดให้หลักสูตรการศึกษาระดับปริญญาตรี มีวิชาการศึกษาทั่วไปที่มุ่งให้นักศึกษามีความรู้ในศาสตร์อื่น ๆ ด้วย เช่น นักศึกษา สาขาสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ จะต้องเรียนวิชาด้านวิทยาศาสตร์ 6 หน่วยกิต แต่ส่วนใหญ่หลักสูตรวิชาดังกล่าว มักจะมีแต่เนื้อหาด้านวิทยาศาสตร์โดยไม่กล่าวถึงผลกระทบด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีต่อเศรษฐกิจและสังคม ทำให้บัณฑิตจำนวนมากของประเทศ ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผู้นำสังคมและนักการเมืองไม่ตระหนักถึงความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเท่าที่ควร จึงมีข้อเสนอว่า
- ควรขอความร่วมมือจากที่ประชุมคณบดี คณะวิทยาศาสตร์ให้เพิ่มเนื้อหาส่วนที่สร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในหลักสูตรการศึกษาทั่วไป และควรมีการจัดประชุมผู้ทำหลักสูตรและผู้สอนวิชาการศึกษาทั่วไป ตลอดจนจัดทำตำราหรือคู่มือที่เกี่ยวกับหัวข้อ การสร้างความตระหนักด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ที่ควรสอนเพิ่มเติม
12. โครงการนักวิทยาศาสตร์พบนักการเมือง นักการเมืองส่วนใหญ่ แม่แต่ในประเทศที่พัฒนาแล้วมักไม่มีพื้นฐานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ทำให้การจัดทำนโยบายสาธารณะที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่ได้รับการสนับสนุนเท่าที่ควร บางประเทศ เช่น ออสเตรเลีย ได้ริเริ่มโครงการ “Sciencetists meet the Paliament” ตั้งแต่ปี 2542 จนกระทั่งปัจจุบัน โดยจัดประชุมปีละครั้ง การประชุมนักวิทยาศาสตร์ ประมาณ 200 คน สมาชิกรัฐสภาประมาณ 70 คน โดยแบ่งการประชุมออกเป็นกลุ่มย่อย ๆ ตามหัวข้อที่จะสนทนาและแลกเปลี่ยนข้อคิดเห็นกันในประเด็นที่นักการเมืองสนใจ (ไม่ใช่รูปแบบนักวิทยาศาสตร์บรรยายให้นักการเมืองฟัง และห้ามมีการเสนอขอสนับสนุนงบประมาณสำหรับโครงการต่าง ๆ) ซึ่งประสบความสำเร็จมาก จนเวลาประชุมมีไม่พอ นอกจากนั้นยังมีกิจกรรมต่อเนื่องอีกเป็นจำนวนมากอีกด้วย จึงขอเสนอแนะดังนี้
- ควรจัดทำโครงการนักวิทยาศาสตร์พบนักการเมือง ทำนองเดียวกับออสเตรเลีย เพื่อสร้างความสัมพันธ์และความเข้าใจด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ซึ่งปัจจุบันมีช่องว่างมาก จนเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาประเทศ
- ขยายให้เป็นโครงการนักวิทยาศาสตร์พบผู้นำสังคมและผู้บริหารกลุ่มต่าง ๆ ในภายหลัง
- การดำเนินการควรให้ สสวทท. เป็นเจ้าของโครงการและมีงบประมาณให้ตามความจำเป็นโดยให้มีการศึกษาข้อมูลและจัดทำโปรแกรมที่จะนำไปสู่ความสำเร็จได้
13.โครงการตั้งศูนย์ข่าววิทยาศาสตร์เพื่อให้บริการข้อมูลวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสำหรับสื่อมวลชน
เมื่อ 84 ปี มาแล้ว เศรษฐีเจ้าของหนังสือพิมพ์ในอเมริกาคนหนึ่งได้จัดตั้ง Science Service เพื่อเป็นศูนย์ข่าววิทยาศาสตร์ ซึ่งเป็นประโยชน์มากแก่หนังสือพิมพ์และวิทยุนำไปเผยแพร่ โดยไม่มุ่งผลกำไรปัจจุบันอยู่ในรูปนิตยสาร Science News และเข้าชมได้ฟรีทางอินเตอร์เน็ต
สหราชอาณาจักร จัดตั้ง Science Media Centre (SMC) ขึ้น ในปี 2543 เพื่อทำหน้าที่เผยแพร่ข่าวและข้อมูลด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแก่สื่อมวลชนและสาธารณชน SMC เป็นองค์กรอิสระที่ได้รับการสนับสนุนจากกลุ่มหนังสือพิมพ์ อุตสาหกรรม สมาคมวิชาชีพและบุคคลทั่วไป มีนักวิทยาศาสตร์ 13 คน เป็นกรรมการบริหารและมีนักวิทยาศาสตร์ 700 คน ที่ยินดีให้ข่าวที่ถูกต้องแก่สื่อ โดย SMC จะทำหน้าที่ประสานงานอย่างใกล้ชิดให้นักข่าวสามารถสัมภาษณ์ผู้เชี่ยวชาญด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีสาขาต่าง ๆ ได้ทันเหตุการณ์ จึงมีข้อเสนอดังนี้
(ยังมีต่อ)

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ