กรุงเทพฯ--1 มิ.ย.--บีซีพีจี
บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคามหาวิทยาลัยเชียงใหม่เพื่อประหยัดพลังงานและส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนในสถาบันการศึกษา รวม 12 เมกะวัตต์ เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่มหาวิทยาลัยเป็นระยะเวลา 20 ปี
นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีซีพีจี จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า บริษัทฯ ได้รับการคัดเลือกจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่เป็นผู้ติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์บนพื้นที่หลังคาทั้งหมดที่มีศักยภาพและมีความเหมาะสมในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ เขตฝั่งสวนสัก สวนดอก และแม่เหียะ รวม 12 เมกะวัตต์ เพื่อจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่มหาวิทยาลัยเป็นระยะเวลา 20 ปี และระบบจัดการโครงข่ายไฟฟ้าอัจฉริยะที่สามารถเชื่อมต่อการทำงานและรับส่งข้อมูลกับศูนย์บริหารจัดการเมืองอัจฉริยะ (Smart Campus Management Center) ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศกลางของมหาวิทยาลัยที่มีอยู่ในปัจจุบัน
บีซีพีจีจะร่วมพัฒนามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ให้เป็น smart and clean campus ตามแผนแม่บทพลังงานและสิ่งแวดล้อมของมหาวิทยาลัย โดยบริษัทฯ มีแผนที่จะนำ peer to peer energy trading platform (แพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้บริโภคกันเอง) ที่ใช้เทคโนโลยี Blockchain ของพาวเวอร์ เล็ดเจอร์ พันธมิตรด้าน Digital Energy ของบริษัทฯ มาศึกษาพฤติกรรมการใช้พลังงานของผู้บริโภคในมหาวิทยาลัย รวมถึงจะติดตั้งสถานีชาร์จรถไฟฟ้าเพื่อเป็นตัวอย่างสำหรับการศึกษาพฤติกรรมการใช้งานรถยนต์ไฟฟ้าในมหาวิทยาลัย และจะนำข้อมูลจากโครงการทั้งสองไปใช้เป็นข้อมูลสนับสนุนในการพัฒนาโครงการ smart campus ของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่
นอกจากนี้บีซีพีจี ยังมีแผนร่วมพัฒนานักศึกษามหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ด้วยการสนับสนุนโครงการของนักศึกษาที่มีศักยภาพ เพื่อต่อยอดเป็นธุรกิจสตาร์ทอัพผ่านสถาบันนวัตกรรมและบ่มเพาะธุรกิจ (Bangchak Initiative and Innovation Center หรือ BiiC) ของบริษัท บางจาก คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) อีกทั้งเปิดรับนักศึกษาเข้าร่วมฝึกงานกับบริษัทฯ และบริษัทในเครือบางจากฯ อีกด้วย
"บีซีพีจีมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่จะได้ร่วมพัฒนาบุคลากรกับมหาวิทยาลัยและนำนวัตกรรมทันสมัยมาร่วมขับเคลื่อนโครงการมหาวิทยาลัยเชียงใหม่: (เมือง) มหาวิทยาลัยอัจฉริยะ พลังงานสะอาด CMU Smart City-Clean Energy รองรับความเป็นสังคมอุดมปัญญาที่มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนให้กับชุมชนชาว มช. และยังมองหาโอกาสต่อเนื่องในการนำ digital energy มาร่วมพัฒนาเชียงใหม่ในฐานะหนึ่งในจังหวัดนำร่องในโครงการส่งเสริมพื้นที่พิเศษสำหรับเศรษฐกิจดิจิทัลหรือ smart city ของรัฐบาลต่อไป" นายบัณฑิตกล่าวทิ้งท้าย