กรุงเทพฯ--1 มิ.ย.--ทีเอ็มบี
นายนริศ สถาผลเดชา ผู้บริหาร TMB Analytics เผยเศรษฐกิจไทยปี 61 มีแนวโน้มขยายตัวได้ 4.5% จากแรงส่งของทุกองค์ประกอบเศรษฐกิจไตรมาสแรกที่โตดีกว่าคาด ที่สำคัญคือการกลับมาของการลงทุนภาคเอกชน เสริมภาคส่งออกและท่องเที่ยวที่เป็นแรงขับเคลื่อนหลัก นอกจากนี้ คาดว่าธุรกิจธนาคารพาณิชย์มีทิศทางดีขึ้นต่อเนื่อง สินเชื่อและเงินฝากเติบโตดี ขณะที่ NPL ได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในปี 60 และมีแนวโน้มลดลงในปีนี้ แนะระวังสินเชื่อที่อยู่อาศัยเป็น NPL เพิ่มขึ้น
"TMB Analytics ปรับประมาณการการเติบโตของเศรษฐกิจไทยปี 61 เพิ่มขึ้นเป็น 4.5%จากเดิมมอง 4.2%ในช่วงต้นปี" สอดคล้องกับเศรษฐกิจโลกที่เติบโตแข็งแกร่ง และปัจจัยหนุนจากแรงส่งของเศรษฐกิจไทยในไตรมาสแรก" กองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF) คาดการณ์เศรษฐกิจโลกในปีนี้จะขยายตัวต่อเนื่องที่ 3.9% สอดคล้องกับเครื่องชี้ของประเทศเศรษฐกิจหลักทั้งภาคการผลิต การค้าและการบริโภคที่ปรับตัวดีขึ้น เป็นปัจจัยหนุนการส่งออกของไทยมีทิศทางสดใสต่อเนื่อง ประกอบกับผลของราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ปรับสูงขึ้น โดยคาดราคาน้ำมันดิบเบรนท์เฉลี่ยที่ 71 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรล จากเฉลี่ย 55 ดอลลาร์สหรัฐต่อบาเรลในปีที่ผ่านมา ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรและราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำมัน ที่มีสัดส่วนรวมกันคิดเป็น 25%ของมูลค่าการส่งออกรวมขยับสูงขึ้นไปด้วย ทำให้ภาพรวมการส่งออกในปี 61จะเติบโตจากปัจจัยบวกทั้งราคาและปริมาณที่เติบโตตามการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก โดยคาดมูลค่าส่งออกจะเติบโตได้ถึง 8.6% (สูงกว่าเดิมที่ 4.8%)
ในส่วนของเครี่องยนต์เศรษฐกิจในประเทศมีแนวโน้มขยายตัวดีต่อเนื่อง คาดว่าจะเห็นการลงทุนเอกชนขยายตัวเร่งขึ้น สะท้อนจากการนำเข้าสินค้าทุน เครื่องจักรและอุปกรณ์ที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องติดต่อกันมา 6 ไตรมาส ผนวกด้วยหลายปัจจัยหนุนทั้งอัตราการใช้กำลังการผลิตในภาพรวมปรับสูงขึ้น โดยล่าสุดอยู่ที่ระดับ 68 นำโดยอุตสาหกรรมส่งออก อาทิ ยานยนต์ เคมีภัณฑ์ที่ปรับสูงขึ้นแตะระดับ 80 สอดคล้องกับความเชื่อมั่นภาคธุรกิจดีต่อเนื่อง การอนุมัติส่งเสริมการลงทุน รวมทั้งนโยบายส่งเสริมการลงทุน ที่สำคัญคือการประกาศใช้พ.ร.บ.เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก(EEC) ซึ่งช่วยผ่อนคลายข้อจำกัดการลงทุนหลายด้าน นอกจากนี้ ยังได้รับผลดีจากการลงทุนภาครัฐ ที่แม้ว่าอาจเห็นอัตราขยายตัว 8.5% แผ่วลงจากที่คาดไว้ซึ่งเป็นผลจากการเบิกจ่ายในช่วงครึ่งแรกของปีงบประมาณต่ำกว่าคาด ขณะที่การลงทุนส่วนของโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับ EEC เริ่มมีความคืบหน้า อาทิ มอเตอร์เวย์ช่วงพัทยา-มาบตาพุดที่อยู่ระหว่างขั้นตอนก่อสร้าง โดยคาดเห็นเม็ดเงินโครงสร้างพื้นฐานในปีนี้ 3.6 หมื่นล้านบาท
การท่องเที่ยวสดใสต่อเนื่อง คาดจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปี 61 เพิ่มขึ้นเป็น 38.5 ล้านคน หรือเพิ่มขึ้น 9% เป็นการเติบโตจากแทบทุกตลาดนักท่องเที่ยว อย่างไรก็ดี เมื่อพิจารณาในแง่ภาพรวมโครงสร้างรายได้ท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงถึงการบริโภคภาคเอกชน พบว่า 80% ของรายได้รวม ท่องเที่ยวกระจุกอยู่ใน 6 จังหวัด(กรุงเทพฯ, ภูเก็ต, ชลบุรี, กระบี่, สุราษฎร์ธานี, เชียงใหม่) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่เหลือ 20% หรือ 71 จังหวัดเป็นไทยเที่ยวไทย ทำให้เม็ดเงินรายได้ท่องเที่ยวไม่กระจายไปสู่ภูมิภาคเท่าที่ควร เป็นปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ส่งผลกระทบต่อการฟื้นตัวการบริโภคภาคครัวเรือนในส่วนภูมิภาค ทั้งนี้ รายได้จากการท่องเที่ยวจะสร้างเม็ดเงินหมุนเวียนในธุรกิจ ได้แก่ โรงแรม สถานบันเทิง ร้านอาหาร ร้านขายของที่ระลึกและการขนส่ง
หลายปัจจัยหนุนการบริโภคภาคเอกชนขยายตัวต่อเนื่อง โดยเฉพาะวัฎจักรการบริโภคสินค้าคงทนเริ่มกลับมาหลังจากปลดล็อคโครงการรถคันแรก รวมทั้งรายได้ภาคเกษตรที่ขยายตัวดีตามปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะข้าว อ้อย ยางพารา ปาล์มน้ำมัน และปัจจัยด้านราคาพืชหลักที่สูงขึ้น ได้แก่ ข้าว และมันสำปะหลัง อย่างไรก็ดี การบริโภคในภาพรวมยังไม่เป็นระดับที่เข้มแข็ง ส่วนหนึ่งเป็นปัญหาจากหนี้ภาคครัวเรือน แม้ปรับลดลงแต่ยังอยู่ในระดับสูง
ในด้านตลาดการเงิน เศรษฐกิจไทยที่ฟื้นตัวชัดเจน เงินเฟ้อทยอยปรับสูงขึ้นจากราคาน้ำมัน หนุนการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย คาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นจาก 1.5% สู่ระดับ 1.75% ในปี 61 ซึ่งสอดคล้องกับทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นของโลก โดยเฉพาะในภูมิภาคที่เห็นการปรับขึ้นของอินโดนีเซีย มาเลเซียและฟิลิปปินส์
สำหรับแนวโน้มค่าเงินบาท TMB Analytics มองว่ายังคงเป็นไปในทิศทางแข็งค่าต่อเนื่องจากปีก่อน สิ้นปีมีโอกาสอยู่ที่ 31.15 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ จากปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจของไทยที่เข้มแข็งที่ได้รับอานิสงส์จากภาคส่งออกและการท่องเที่ยว ขณะที่การไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติมีแนวโน้มลดลงจากปีก่อน และคาดว่าดอลลาร์ที่แข็งค่า ณ ปัจจุบันอยู่ในช่วง 31.9-32.2 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐจะเป็นในระยะสั้นสอดคล้องกับตัวเลขเศรษฐกิจที่ออกมาดีและแนวโน้มเงินเฟ้อที่สูงขึ้น แต่มีแนวโน้มที่ดอลลาร์จะอ่อนค่าลงในช่วงที่เหลือของปีจากความกังวลที่เพิ่มขึ้นเรื่องการขาดดุลงบประมาณและดุลการค้า
"ส่วนการดำเนินงานของธนาคารพาณิชย์ในปี 61 มีแนวโน้มดีขึ้น ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจและมาตรการส่งเสริมการลงทุนภาครัฐ" สินเชื่อโดยรวมมีแนวโน้มขยายตัว 5.5% เพิ่มขึ้นจากคาดการณ์เดิมเล็กน้อยที่ 5.3% จากยอดสินเชื่อ SME และสินเชื่อรายย่อยที่มีแนวโน้มเติบโตเพิ่มขึ้นอยู่ที่ 6.9% และ 7.3% ตามลำดับ โดย SME มีปัจจัยหนุนจากกำลังซื้อที่ปรับตัวดีขึ้นตามการบริโภคภาคเอกชน และการทยอยลงทุนปรับเปลี่ยนโครงสร้างการทำธุรกิจโดยใช้เทคโนโลยีมาช่วยในการลดต้นทุนและเพิ่มยอดขายมากขึ้น สินเชื่อรายย่อยนำโดยสินเชื่อเช่าซื้อรถยนต์ซึ่งกลับมาเติบโตอีกครั้งหลังจากสิ้นสุดผลของมาตรการปลดล็อครถคันแรก และรายได้ภาคเกษตรที่ปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ทยอยกลับมาเติบโตโดยได้รับผลดีจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานและมาตรการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI และ EEC อย่างไรก็ดีต้นทุนดอกเบี้ยยังอยู่ในระดับต่ำอาจทำให้บริษัทขนาดใหญ่ออกพันธบัตรตราสารหนี้แทนที่จะใช้สินเชื่อจากธนาคารพาณิชย์
ในด้านคุณภาพสินเชื่อ เรามองว่าสัดส่วน NPL ต่อสินเชื่อรวมได้ผ่านจุดสูงสุดไปแล้วในปีที่ผ่านมา และมีแนวโน้มปรับลดลงในปี 61 โดย 78% ของมูลค่า NPL อยู่ที่สินเชื่อ SME และสินเชื่อรายย่อย อย่างไรก็ตาม มีแนวโน้มที่ NPL จะลดลงตามการปรับดีขึ้นของเศรษฐกิจในส่วนของธุรกิจขนาดใหญ่และ SME อย่างไรก็ตาม สินเชื่อที่อยู่อาศัยยังมีแนวโน้ม NPL เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจากผลของการเร่งปล่อยสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่ช่วง 2 ปีที่ผ่านมา
ด้านเงินฝากมีแนวโน้มขยายตัว 5.6% ปรับเพิ่มจากคาดการณ์เดิมเล็กน้อยที่ 5.5% โดยเงินฝากประจำกลับมาเติบโตที่ 3% หลังจากหดตัวมา 3 ปีติดต่อกันซึ่งเป็นไปตามทิศทางการปรับขึ้นของอัตราดอกเบี้ย 1 ครั้งในปี 61 และความต้องการสินเชื่อที่เพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตามจากการเติบโตเงินฝากที่มากกว่าความต้องการสินเชื่อในปีนี้ คาดว่าจะทำให้สภาพคล่องธนาคารพาณิชย์เพิ่มขึ้นเล็กน้อย เมื่อมองสภาพคล่องโดยรวมแล้ว เรายังมีสภาพคล่องเหลือกว่า 12 ล้านล้านบาท" นายนริศ กล่าวสรุป