กรุงเทพฯ--1 มิ.ย.--เอสซีจี
เพราะศิลปะมีคุณค่าความงดงาม สามารถจรรโลงสังคมให้เจริญก้าวหน้าทั้งด้านความคิดและจิตใจ รวมทั้งสามารถบันทึกเหตุการณ์ของสังคมในสมัยนั้นๆ ไว้ให้คนรุ่นหลังได้เรียนรู้ มูลนิธิเอสซีจี จึงดำเนิน "โครงการรางวัลยุวศิลปินไทย" หรือ "Young Thai Artist Award" เวทีการประกวดศิลปะระดับเยาวชนที่ใหญ่ที่สุดในประเทศ ชิงถ้วยพระราชทานสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเปิดโอกาสให้เยาวชนทั่วประเทศ อายุ 18 - 25 ปี ส่งผลงานเข้าประชันเชิงชั้นด้านศิลปะได้ถึง 6 สาขา คือ ศิลปะ 2 มิติ ศิลปะ 3 มิติ ภาพถ่าย ภาพยนตร์ วรรณกรรม และการประพันธ์ดนตรี การันตีคุณภาพด้วยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งเป็นที่ยอมรับมากว่าหนึ่งทศวรรษ
สุวิมล จิวาลักษณ์ กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี กล่าวว่า "มูลนิธิฯ สนับสนุนการพัฒนาศักยภาพเยาวชนที่มีความสามารถด้านศิลปะ โดยริเริ่มโครงการรางวัลยุวศิลปินไทยมาตั้งแต่ปี 2547 เพื่อเป็นเวทีสานฝันสำหรับเยาวชนผู้รักงานศิลปะจากทั่วประเทศ โดยน้อง ๆ ที่ได้รับรางวัลยอดเยี่ยมในแต่ละสาขา นอกจากจะได้รับรางวัลถ้วยพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งถือเป็นเกียรติยศและความภาคภูมิใจอันสูงสุดแล้ว ยังได้รับเงินรางวัลอีก 150,000 บาท รวมทั้งโอกาสเดินทางไปทัศนศึกษาต่างประเทศ เพื่อชมงานศิลป์ในพิพิธภัณฑ์ชั้นนำ เทศกาลศิลปะที่สำคัญ ตลอดจนผลงานศิลปะอันทรงคุณค่าจากศิลปินระดับโลก เพื่อเพิ่มพูนทักษะความรู้ และสร้างแรงบันดาลใจในการรังสรรค์ผลงานต่อไป ส่วนผู้ได้รับรางวัลดีเด่นในแต่ละสาขาจะได้รับเงินรางวัล 50,000บาท โดยผลงานทั้งหมดที่ได้รับรางวัลจะนำไปจัดแสดง ณ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป ถนนเจ้าฟ้า กรุงเทพฯ และสัญจรไปจัดแสดงในหอศิลป์ส่วนภูมิภาค ถือเป็นใบเบิกทางสู่วงการศิลปะที่น้อง ๆ ไม่ควรพลาด"
ตลอดระยะเวลา 14 ปี มูลนิธิฯ ได้ส่งเสริมให้เวทีนี้เป็นพื้นที่บ่มเพาะยุวศิลปินเลือดใหม่มาประดับวงการจนประสบความสำเร็จ มีชื่อเสียงทั้งในประเทศและเวทีโลกหลายคน อาทิ ลี้ - จิดานันท์ เหลืองเพียรสมุทร นักเขียนซีไรต์ที่อายุน้อยที่สุดได้เล่าเหตุผลที่ตัดสินใจร่วมประกวดโครงการนี้ว่า "ก่อนจะส่งผลงานประกวดเวทีรางวัลยุวศิลปินไทย ลี้เคยประกวดมาแล้วหลายเวที ส่วนมากเป็นเรื่องสั้นเรื่องเดียวจบ แต่เวทีนี้ต้องส่งต้นฉบับอย่างน้อย 8 เรื่อง จึงถือเป็นความท้าทายที่ทำให้อยากร่วมประกวด นอกจากนี้ เวทีนี้ยังจำกัดอายุเฉพาะเยาวชนด้วยกัน จึงเป็นโอกาสสำหรับเยาวชนอย่างแท้จริง ลี้ประทับใจมากที่ได้รับรางวัลดีเด่น สาขาวรรณกรรม ในปี 2556 และ 2559 จากผลงานรวมเรื่องสั้นและนวนิยาย เพราะนอกจากรางวัลแล้ว เวทีนี้ยังเปิดโอกาสให้ผลงานของเราได้ไปจัดแสดงในนิทรรศการด้วย ซึ่งเป็นสิ่งที่หาไม่ได้ในเวทีประกวดอื่น ต่อมาหลังได้รับรางวัลแล้ว ลี้ก็มองหาก้าวต่อไปในการพัฒนาฝีมือด้วยการส่งผลงานเข้าประกวดรางวัลนายอินทร์อะวอร์ด จนได้รางวัลชนะเลิศประเภทเรื่องสั้น จึงได้รับโอกาสรวบรวมเรื่องสั้นตีพิมพ์ชื่อ "สิงโตนอกคอก" และได้รับรางวัลวรรณกรรมสร้างสรรค์ยอดเยี่ยมแห่งอาเซียน (S.E.A. Write) ประจำปี 2560 ด้วย มาถึงวันนี้ได้ต้องขอบคุณโครงการรางวัลยุวศิลปินไทยที่ผลักดันส่งเสริมให้นักเขียนรุ่นใหม่ที่มีวิธีการเขียนที่สร้างสรรค์แปลกใหม่อย่างเรา ได้แจ้งเกิดเป็นนักเขียนอาชีพในวงการวรรณกรรมไทยอย่างเต็มตัว"
ด้าน เอก-เอกพงษ์ สราญเศรษฐ์ ผู้กำกับภาพยนตร์เลือดใหม่กล่าวเสริมว่า "สาเหตุที่ร่วมประกวดโครงการนี้เพราะเป็นเวทีที่น่าสนใจ มีรุ่นพี่ผู้กำกับดังหลายคนอย่างพี่เมษ ธราธร หรือพี่นุชี่-อนุชา บุญยวรรธนะ ที่แจ้งเกิดจากเวทีนี้ เมื่อหนังสั้นเรื่อง "ฝน" ของผมได้รับรางวัลยอดเยี่ยม สาขาภาพยนตร์ ปี 2558 ก็ภูมิใจ เพราะถือเป็นเครื่องพิสูจน์ฝีมือและเป็นเชื้อเพลิงกระตุ้นให้มีแรงสร้างสรรค์ผลงานต่อไป กระทั่งปี 2561 ผมได้ส่งหนังสั้นเรื่องนี้ไปร่วมคัดเลือกเพื่อฉายและประกวดในเทศกาล Winter Film Awards 2018 ณ รัฐนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา ที่มีภาพยนตร์ร่วมประกวดกว่า 650 เรื่องจากทั่วโลก แต่มีเพียง 100 เรื่องเท่านั้นที่จะได้เข้าฉายในประเภทต่าง ๆ คือ แอนิเมชัน สารคดี หนังยาว หนังสั้น และมิวสิควิดีโอ และหนังของผมเป็น 1 ใน 4 เรื่องที่ได้เข้าฉายและร่วมประกวดหนังสั้นยอดเยี่ยม สาขานักศึกษา ซึ่งมูลนิธิเอสซีจีก็ได้สนับสนุนให้ผมเดินทางนำภาพยนตร์ไปฉายในครั้งนี้ แม้ผมจะไม่ได้รับรางวัลกลับมาแต่ก็ถือเป็นประสบการณ์ที่น่าจดจำ เพราะได้รู้จักผู้สร้างภาพยนตร์และผู้กำกับหลายเชื้อชาติ ทำให้เปิดมุมมองใหม่ ๆ ในการสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งผมจะนำความรู้ที่ได้รับมาพัฒนาสร้างหนังสารคดีของตัวเองต่อไป"
ในปี 2561 นี้ "โครงการรางวัลยุวศิลปินไทย" ก็กำลังเฟ้นหาดาวดวงใหม่ที่มีศักยภาพด้านศิลปะอย่างต่อเนื่อง รุ่นพี่จากเวทีนี้อย่าง ลี้-จิดานันท์ จึงขอร่วมเชิญชวนให้น้อง ๆ เข้าประกวดว่า "เหตุผลที่ควรเข้าร่วมประกวดโครงการนี้ หนึ่งคือรางวัลที่สูงกว่าเวทีประกวดวรรณกรรมอื่นๆ สองคือการเป็นเวทีแข่งขันระดับเยาวชนอย่างแท้จริง และสามคือโอกาสที่ผลงานของคุณจะได้ไปอยู่ในสายตาของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิแต่ละสาขา จึงเป็นสิ่งที่มีคุณค่าทางจิตใจและเป็นประสบการณ์ที่หาไม่ได้ง่าย ๆ"
ด้าน เอก-เอกพงษ์ ก็เชิญชวนน้องๆ ให้ร่วมประกวดในปีนี้ว่า "ส่งประกวดกันเถอะครับไม่มีอะไรเสียหาย มันจะเป็นประตูบานหนึ่งที่นำไปสู่ประตูอีกหลายๆ บานในอนาคตของเรา ผมเชื่อว่าโอกาสเป็นของคนที่วิ่งเข้าหา และวันหนึ่งมันจะพาเราไปสู่เส้นทางความสำเร็จได้"
น้องๆ ที่สนใจแจ้งเกิดในฐานะยุวศิลปิน สามารถร่วมส่งผลงานเข้าประกวดได้ตั้งแต่วันนี้ – กรกฎาคม 2561 ดาวน์โหลดใบสมัครได้ที่www.scgfoundation.org หรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ทางหมายเลขโทรศัพท์ 02-586-2042 และ www.facebook.com/YoungThaiArtistAward