สคร. สรุปผลรายได้นำส่งรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2550 มีจำนวนรวม 8.6 หมื่นล้านบาท สูงกว่าปีงบประมาณก่อน 11.6 เปอร์เซ็นต์

ข่าวทั่วไป Thursday October 18, 2007 10:42 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--18 ต.ค.--กลุ่มการประชาสัมพันธ์ สำนักงานปลัดกระทรวงการคลัง
สคร. สรุปผลรายได้นำส่งรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2550 มีจำนวนรวม 8.6 หมื่นล้านบาท สูงกว่าปีงบประมาณก่อน 11.6 เปอร์เซ็นต์ โดยกลุ่มพลังงานเป็นดาวรุ่งนำส่งรายได้สูงเป็นลำดับต้นๆ และมีมูลค่าสินทรัพย์สูงขึ้นมาก
นายอารีพงศ์ ภู่ชอุ่ม ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) เปิดเผยว่า การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2550 รัฐวิสาหกิจสามารถนำส่งรายได้รวมทั้งสิ้น 86,128.60 ล้านบาท สูงกว่าปีงบประมาณ 2549 ร้อยละ 11.6 โดยในปีงบประมาณ 2551 คาดว่ารัฐวิสาหกิจ จะมีการนำส่งรายได้อยู่ที่ระดับ 98,650 ล้านบาท
ทั้งนี้ การนำส่งรายได้ของรัฐวิสาหกิจประจำปีงบประมาณ 2550 หากแบ่งเป็นกลุ่มรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้มากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ 1.กลุ่มสาขาพลังงาน จำนวน 36,299 ล้านบาท 2.กลุ่มสาขาพาณิชย์และบริการ จำนวน 12,766 ล้านบาท และ 3. กลุ่มสาขาสถาบันการเงิน จำนวน 9,440 ล้านบาท นอกจากนี้ ในส่วนขององค์กรรัฐวิสาหกิจที่นำส่งรายได้ มากที่สุด 3 อันดับ ได้แก่ 1.การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จำนวน 20,102.39 ล้านบาท สูงกว่าที่ประมาณไว้ 4,300 ล้านบาท 2. สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล จำนวน 12,710.93 ล้านบาท สูงกว่าที่ประมาณไว้ 3,050 ล้านบาท และ 3. บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) จำนวน 8,072.63 ล้านบาท สูงกว่าที่ประมาณไว้ 734 ล้านบาท
จะเห็นได้ว่า สาขาพลังงานเป็นกลุ่มที่มีรายได้นำส่งมากที่สุด ซึ่งมีผลมาจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่ปรับตัวสูงขึ้น และมาจากประสิทธิภาพการทำงาน โดยเฉพาะ ปตท. ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ สามารถนำส่งรายได้ให้กับประเทศเพิ่มขึ้น จากเดิมก่อนเข้าตลาดฯ ในปี 2544 นำส่งรายได้ 7,155 ล้านบาท ปัจจุบันเพิ่มเป็น 16,660.10 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินรายได้นำส่ง 8,072.63 ล้านบาท และภาษีนิติบุคคล 8,588.10 ล้านบาท นอกจากนี้มูลค่าหุ้นตามราคาตลาดได้เพิ่มขึ้น จากวันแรกที่เข้าจดทะเบียนในตลาดฯเกือบ 10 เท่า คือ เมื่อปี 2544 มีมูลค่าตลาด 97,904 ล้านบาท เทียบกับราคาหุ้นในเดือน ก.ย. 50 ที่มีมูลค่ารวม 939,874.56 ล้านบาท ซึ่งกระทรวงการคลังในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ของบมจ.ปตท ก็ย่อมได้รับประโยชน์จากมูลค่าสินทรัพย์ที่เพิ่มสูงขึ้นเกือบ 10 เท่าในรอบ 6 ปี
ด้านการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจขนาดใหญ่ 17 แห่ง ถึงเดือนกันยายน 2550 สามารถเบิกจ่ายได้จริง 168,094.54 ล้านบาท คิดเป็น 52.73% ของงบลงทุนทั้งหมดที่ได้รับอนุมัติในปีนี้จำนวน 318,776.88 ล้านบาท และคาดว่าการเบิกจ่ายงบลงทุนเมื่อถึงสิ้นปี (เดือนธันวาคม 2550) จะสามารถเบิกจ่ายได้ถึง 68% หรือคิดเป็นจำนวน 226,700 ล้านบาท
สำหรับรัฐวิสาหกิจที่มีการเบิกจ่ายงบลงทุนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่
1.การประปานครหลวง 5,091 ล้านบาท คิดเป็น 89.09% ของจำนวนเงินที่ได้รับอนุมัติทั้งหมด 5,715.50 ล้านบาท การลงทุนส่วนใหญ่เพื่อพัฒนาความเป็นอยู่ของประชาชนให้ดียิ่งขึ้น ในการขยายระบบน้ำประปาให้ทั่วถึง และการปรับปรุงระบบท่อ โดยโครงการสำคัญ ได้แก่ โครงการลดการสูญเสียน้ำให้กับระบบสามารถลดลงได้ 29.53% ต่ำกว่าเป้าหมายที่กำหนดไว้ 30%
2. การประปาส่วนภูมิภาค สามารถเบิกจ่ายได้ถึง 4,612.27 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 87.74 ของจำนวนเงินที่ได้รับอนุมัติทั้งหมด 5,257 ล้านบาท โครงการสำคัญได้แก่การวางท่อและขยายเขตจำหน่ายน้ำ เพื่อให้ประชาชนได้มีน้ำดื่มน้ำใช้ทั่วประเทศ ซึ่งสามารถผลิตน้ำเพิ่มได้ประมาณ 260,000 ลูกบาศก์เมตรต่อวัน และ 3. การเคหะแห่งชาติ สามารถเบิกจ่ายได้ถึง 39,755.93 ล้านบาท คิดเป็น 81.05% ของจำนวนเงินที่ได้รับอนุมัติทั้งหมด 49,051.70 ล้านบาท ซึ่งโครงการสำคัญ ได้แก่ การขยายโครงการบ้านเอื้ออาทรให้แก่ชุมชนหรือผู้ยากไร้ได้มีที่อยู่อาศัยมากขึ้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ