สปส.จับมือร.พ. แก้ไขปัญหาเบิกจ่ายค่ารักษาล่าช้า

ข่าวทั่วไป Wednesday October 24, 2007 09:59 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--24 ต.ค.--สปส.
จากที่มีข่าวสมาคม/ชมรมโรงพยาบาลจะไม่ลงนามเซ็นสัญญาเป็นโรงพยาบาลในความตกลงกับกองทุนเงินทดแทนในปี 2551 เหตุจากเบิกจ่ายค่ารักษาล่าช้านั้น สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ได้ร่วมหารือกับสมาคม/ชมรมโรงพยาบาลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งบอร์ดสปส.และบอร์ดแพทย์ หาแนวทางแก้ไข พบสาเหตุมาจากเจ้าหน้าที่ นายจ้าง/ลูกจ้าง และโรงพยาบาล
นายสุรินทร์ จิรวิศิษฏ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เปิดเผยว่า “เมื่อวันที่ 8 ต.ค.ที่ผ่านมา สำนักงานประกันสังคมร่วมหารือกับสมาคมโรงพยาบาลเอกชน ชมรมโรงพยาบาลเพื่อการพัฒนาระบบบริการประกันสังคม คณะกรรมการการแพทย์ และคณะกรรมการกองทุนเงินทดแทน ที่ประชุมเห็นชอบให้แก้ไขปัญหาเกี่ยวกับการเบิกจ่าย ค่ารักษาพยาบาลล่าช้า ทำให้โรงพยาบาลได้รับความเดือดร้อน เหตุเพราะกองทุนเงินทดแทนต้องดูแลเรื่องการเบิกจ่ายอย่างละเอียดถูกต้อง และเหมาะสมกับการรักษาที่ได้รับจากสถานพยาบาล ซึ่งปัญหามาจากหลายฝ่าย ทั้งจากเจ้าหน้าที่ไม่สามารถวินิจฉัยได้อย่างรวดเร็วเนื่องจาก ขาดเอกสารประกอบการพิจารณา การตีความการเป็นลูกจ้าง รอผลการอุทธรณ์ เป็นต้น ส่วนปัญหาจากนายจ้าง/ลูกจ้าง เช่น นายจ้างไม่ยื่นแบบแจ้งการประสบอันตราย (กท.16) ไม่แจ้งการเป็นลูกจ้าง ไม่จ่ายค่ารักษาส่วนเกิน ไม่มาพบเจ้าหน้าที่เพื่อให้ข้อเท็จจริง เป็นต้น สำหรับปัญหาที่เกิดจากโรงพยาบาล เช่น ส่งแบบแจ้งการประสบอันตราย (กท.16) ให้สปส.เกิน 180 วัน ส่งใบแจ้งหนี้ซ้ำ ระบุโรคไม่ตรงกับการรักษาพยาบาล รวมใบแจ้งหนี้หลายฉบับแล้วเรียกเก็บ เป็นต้น ทั้งนี้ สปส.ได้วางแนวทางแก้ไขในระยะสั้น โดยให้โรงพยาบาลสรุปยอดค่ารักษาที่ ค้างจ่ายให้สปส.เขตพื้นที่/จังหวัด เพื่อเร่งรัดการจ่าย และจัดทำโปรแกรมการเรียกเก็บ/จ่าย ค่ารักษาให้โรงพยาบาล ส่วนในระยะยาวจะมีการขยายระบบคอมพิวเตอร์ทั่วประเทศ เพื่อประมวลผลค่ารักษาค้างจ่ายได้ และวางระบบการแจ้งหนี้ค่ารักษาด้วยระบบอิเลคทรอนิกส์
ในปี 2549 สถิติรับแจ้งการประสบอันตราย มีจำนวน 204,257 ราย เจ้าหน้าที่สามารถดำเนินการวินิจฉัยเงินทดแทนได้ โดยมิต้องหารือคณะกรรมการการแพทย์มากกว่า 90% ของเรื่องทั้งหมด เรื่องที่จำเป็นต้องตรวจสอบหาข้อเท็จจริงเพิ่มเติม เช่น กรณีการประสบอันตรายนอกสถานที่ทำงาน หรืออุบัติเหตุจราจร หรือกรณีต้องตรวจสอบการรักษาพยาบาล เพื่อหารือคณะกรรมการการแพทย์มีจำนวนไม่ถึง 10% ของเรื่องทั้งหมด
ในปัจจุบันมีเรื่องค้างการพิจารณาประมาณ 1% ของเรื่องทั้งหมด จำนวน 2,142 ราย (ข้อมูล ณ วันที่ 3 ตุลาคม 2550) ประมาณเดือนพฤศจิกายนของทุกปี สำนักงานประกันสังคมจะมีหนังสือถึงโรงพยาบาลทุกแห่ง เพื่อแจ้งให้ส่งใบแจ้งหนี้ของปีปัจจุบันทั้งหมดเบิกค่ารักษาภายในเดือนกุมภาพันธ์ของปีถัดไป
อย่างไรก็ตาม ขอให้ลูกจ้าง ผู้ประกันตน อย่าได้กังวลใจ และขอให้นายจ้างยึดถือแนวปฏิบัติเดิมกรณีลูกจ้างประสบอันตรายหรือเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานให้นายจ้างส่งตัวลูกจ้างเข้ารับการรักษาในสถานพยาบาลได้ทุกแห่ง ทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งมีแพทย์แผนปัจจุบันชั้น 1 เป็นผู้ตรวจรักษา หากสถานพยาบาลนั้นอยู่ในความตกลงของกองทุนเงินทดแทน นายจ้างสามารถส่งตัวลูกจ้างเข้ารักษาแล้วยื่นหนังสือส่งตัว (กท.44) แล้วสำเนาให้สปส. พร้อมกับแบบการแจ้งการประสบอันตราย (กท.16) ภายใน 15 วัน โดยไม่ต้องจ่ายค่ารักษา โรงพยาบาลจะเรียกเก็บจากสำนักงานประกันสังคมโดยตรง แต่ถ้าสถานพยาบาลนั้นไม่อยู่ในความตกลงของกองทุนเงินทดแทน นายจ้างต้องสำรองจ่ายค่ารักษาไปก่อนแล้วนำหลักฐานใบเสร็จรับเงินเบิกคืนได้จากสปส.ในภายหลัง

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ