กรุงเทพฯ--4 มิ.ย.--เวิรฟ
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการลงทุนและประกอบกิจการในภาคอุตสาหกรรมในอดีตที่ผ่านมาให้ความสำคัญต่อประสิทธิภาพการผลิต และการสร้างผลกำไรให้แก่กิจการเป็นหลักมาโดยตลอด แต่ในปัจจุบันสิ่งที่น่าสนใจและเป็นแนวโน้มการประกอบกิจการของผู้ประกอบการนั้นไม่เพียงแต่ให้ความสนใจเรื่องการลงทุนเพื่อการผลิตอย่างเดียวอีกต่อไป แต่หันมาให้ความสำคัญกับแนวทางการบริหารจัดการธุรกิจที่เป็นมิตรต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ อาทิ การพัฒนาโรงงานและคลังสินค้าให้เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพราะนอกจากจะช่วยลดผลกระทบที่มีต่อสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืนแล้ว ยังช่วยประหยัดพลังงาน ลดค่าใช้จ่ายระยะยาวได้อีกด้วย
นายโสภณ ราชรักษา ผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เทรนด์อุตสาหกรรมสีเขียวในประเทศไทยกำลังได้รับความสนใจมากขึ้นเรื่อยๆ เห็นได้จากนโยบายสนับสนุนต่างๆ ของภาครัฐ และผู้ประกอบการในหลากหลายอุตสาหกรรม เริ่มหันมาให้ความสำคัญและลงทุนด้านการพัฒนาอาคารเขียวกันมากขึ้น ซึ่ง "ไทคอน" ในฐานะผู้นำในการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์เพื่อการอุตสาหกรรม ได้ริเริ่มพัฒนาโรงงานและคลังสินค้าให้เช่าจนได้รับมาตรฐานอาคารเขียวระดับสากลมากว่า 4 ปี ด้วยวิสัยทัศน์ที่มุ่งมั่นพัฒนาอาคารเพื่อการอุตสาหกรรมเพื่อความยั่งยืน ไทคอนจึงได้กำหนดเป็นนโยบายการพัฒนาเพื่อความยั่งยืนขององค์กรในการให้อาคารที่พัฒนาใหม่ต่อไปนี้ เป็นอาคารเขียวระดับสากลทั้งหมด และจะเป็นจุดเริ่มต้นของการมุ่งสู่อุตสาหกรรมสีเขียวแบบเป็นรูปธรรม ซึ่งปัจจุบันไทคอนมีอาคารที่ได้รับรองมาตรฐานอาคารเขียวมากมาย ทั้งมาตรฐาน LEED และมาตรฐาน EDGE
ดร.ทวีพร พูลเกษ รองผู้จัดการทั่วไป สายงานพัฒนาโครงการ ในฐานะผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาอุตสาหกรรมอย่างยั่งยืนของไทคอน นำเสนอข้อดีของการพัฒนาอาคารเขียวที่เอื้อประโยชน์ทั้งด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธุรกิจ เพื่อให้ผู้ประกอบการเข้าใจและเล็งเห็นถึงประโยชน์ของการพัฒนาโรงงานและคลังสินค้าเป็นอาคารเขียว ดังนี้
อนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน โรงงานและคลังสินค้าสีเขียวจะช่วยลดการใช้พลังงานและลดการใช้ทรัพยากร ผ่านการบริหารจัดการพลังงานอย่างเหมาะสม คำนึงถึงการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งด้านการใช้พลังงานไฟฟ้า การใช้น้ำ การเลือกใช้วัสดุก่อสร้างที่ช่วยประหยัดพลังงานและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการลดปริมาณของเสียจากกระบวนการต่างๆ ในการดำเนินงาน เพื่อไม่ให้เกิดมลพิษทั้งภายในและภายนอกอาคาร ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและต่อผู้ใช้อาคาร นับว่าเป็นการรักษาสมดุลในการดำเนินธุรกิจให้ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมน้อยที่สุด อีกทั้งยังช่วยอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติให้แก่คนรุ่นหลังด้วย
ประโยชน์ต่อสังคม การพัฒนาอาคารเขียวจะมีการควบคุมงานในระหว่างการก่อสร้างไม่ให้รบกวน หรือส่งผลกระทบต่อชุมชมที่อยู่รอบข้าง มีการกำจัดวัสดุเศษวัสดุที่เกิดขึ้นในโครงการอย่างเหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบต่อระบบนิเวศน์และคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยรอบๆ โรงงานและคลังสินค้า เมื่อไม่มีผลกระทบต่อชุมชนก็จะช่วยลดการร้องเรียนอันจะทำให้เกิดปัญหาในการดำเนินงานต่างๆ รวมถึงเพิ่มโอกาสในการเกิดการจ้างงานที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมเพิ่มขึ้นด้วย
เอื้อประโยชน์ต่อธุรกิจ แบ่งออกเป็น ผลดีโดยตรงต่อธุรกิจ คือ ช่วยลดต้นทุน จากการบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภคให้ประหยัดน้ำ ประหยัดไฟ และมีอายุการใช้งานที่ยาวนานขึ้น ส่งเสริมภาพลักษณ์ที่ดีให้องค์กร สะท้อนวิสัยทัศน์ในการแสดงความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะช่วยเพิ่มความเชื่อมั่นด้านธุรกิจและสร้างโอกาสในการแข่งขันได้เป็นอย่างดี นอกจากนี้หากอาคารผ่านการประเมินและได้รับการรับรองจากสถาบันอาคารเขียวไทย จะสามารถเพิ่มพื้นที่ใช้สอยของอาคาร (FAR) ได้ 5-20% อีกด้วย ผลดีต่อผู้ปฎิบัติงานภายในอาคาร เมื่อระบบภายในอาคารเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจะทำให้คุณภาพชีวิตของพนักงานดีขึ้น ส่งผลต่อประสิทธิภาพในการทำงาน นับเป็นการสร้างความสุขในการทำงานให้แก่พนักงานได้อีกช่องทางหนึ่ง
โดยปัจจุบันมาตรฐานรับรองอาคารเขียวที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล ได้แก่
- มาตรฐาน LEED หรือ Leadership in Energy and Environmental Design คือระบบประเมินความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของอาคาร หรือสิ่งก่อสร้างที่พัฒนาโดย U.S. Green Building Council (USGBC) ประเทศสหรัฐอเมริกา
- มาตรฐาน TREES หรือ Thai's rating of energy and environment sustainability ระบบประเมินความยั่งยืนทางพลังงานและสิ่งแวดล้อมไทย ซึ่งถูกพัฒนาโดยสถาบันอาคารเขียวไทย
- มาตรฐาน EDGE หรือ Excellence in Design for Greater Efficiencies มาตรฐานอาคารเขียวและการวัดผลการก่อสร้างอย่างยั่งยืน และนวัตกรรมในการรับรองมาตรฐานความเป็นเลิศในการออกแบบอาคาร สำหรับตลาดเกิดใหม่ของบรรษัทเงินทุนระหว่างประเทศ (IFC) ซึ่งเป็นสมาชิกของกลุ่มธนาคารโลก
เพราะการพัฒนาอาคารอุตสาหกรรมสีเขียวนั้น จะต้องมีการออกแบบอย่างยั่งยืน (Sustainable Design) มีการพัฒนาปรับปรุงทุกระบบในอาคารอย่างถูกต้องและเหมาะสม จึงมีข้อแนะนำสำคัญสำหรับผู้ประกอบการหากต้องการสร้างโรงงาน หรือคลังสินค้าสีเขียว คือ ควรวางแผนการพัฒนาอาคารตั้งแต่เริ่มต้น ปลูกฝังและทำความเข้าใจตั้งแต่กระบวนการพัฒนาอาคาร ผลที่จะเกิดขึ้นต่อองค์กร พนักงานและชุมชน ที่สำคัญควรมีผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาอาคารเขียวมาให้คำแนะนำ หรือเลือกใช้ผู้พัฒนาอาคารเพื่อการอุตสาหกรรมที่มีความเชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในการสร้างโรงงานและคลังสินค้าสีเขียว อย่างไรก็ตามในยุคแห่งการลงทุนด้านอุตสาหกรรม การเลือกใช้โรงงานและคลังสินค้าสีเขียวแบบพร้อมเข้าใช้งานทันทีก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่สะดวกรวดเร็ว
เทรนด์อุตสาหกรรมสีเขียว เป็นทิศทางที่ผู้ประกอบการทั่วโลกหันมาให้ความสำคัญกันมากขึ้นเรื่อยๆ ส่วนในประเทศไทยนั้น กระทรวงอุตสาหกรรมก็ได้ส่งเสริมและเชิญชวนให้ผู้ประกอบการ เข้ามามีส่วนร่วมใน "อุตสาหกรรมสีเขียว" อย่างต่อเนื่อง นับเป็นเรื่องที่น่ายินดีรับเดือนแห่งการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโลกนี้ไม่น้อย