กรุงเทพฯ--15 ต.ค.--กบข.
กบข.ห่วงสังคมไทยกำลังเข้าสู่ภาวะวิกฤติ คนสูงอายุต้องทำงานมากขึ้น แนะคนไทยเร่งสร้างวินัยการออม เพื่อให้มีเงินพอใช้หลังวัยเกษียณ
นายวิสิฐ ตันติสุนทร เลขาธิการคณะกรรมการกองทุนบำเหน็จบำนาญข้าราชการ(กบข.) เปิดเผยว่าจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติถึงภาวะการทำงานของประชากรใน พ.ศ 2544 และ พ.ศ. 2548 พบว่า มีแนวโน้มของผู้สูงอายุที่ทำงานเพิ่มขึ้นจากร้อยละ 30.3 ในปี พ.ศ. 2544 เป็นร้อยละ 37.1 ในปี พ.ศ. 2548 และยังพบว่าร้อยละของผู้สูงอายุที่ทำงานเพิ่มขึ้นทั้งเพศชายและเพศหญิง แต่สัดส่วนการทำงานของเพศชายสูงกว่าเพศหญิง (ร้อยละ 49.8 และร้อยละ 26.6 ) ซึ่งจากข้อมูลดังกล่าวแสดงให้เห็นว่ายังมีผู้สูงอายุอีกจำนวนมากที่ยังคงทำงาน เพื่อหารายได้มาเลี้ยงดูตนเองและครอบครัวถึงแม้จะเข้าช่วงวัยเกษียณแล้วก็ตาม
ทั้งนี้ ปัจจัยหลักที่ผู้สูงอายุบางรายยังคงต้องทำงานต่อเนื่องภายหลังเกษียณ ส่วนหนึ่งมาจากการขาดแคลนเงินออมตั้งแต่อยู่ในช่วงวัยทำงาน โดยเฉพาะการออมเพื่อการดำรงชีวิตภายหลังเกษียณ ปัจจุบันภาครัฐจึงหันมาเร่งสร้างนโยบายเพื่อสร้างหลักประกันรายได้ในลักษณะการออมผ่านกองทุนรวมต่างๆ ผ่านกลุ่มสหกรณ์ออมทรัพย์ หรือการทำประกันชีวิต หรือการออมกับภาครัฐในรูปแบบกองทุนประกันสังคม หรือการออมระยะยาวผ่านกองทุนบำเหน็จบำนาญ(กบข.) ซึ่งจะเป็นกลไกหนึ่งในการสร้างความมั่นคงให้กับผู้สูงอายุได้อยู่อย่างมีความสุขและมีคุณภาพชีวิตที่ดีเลขาธิการคณะกรรมการ กบข. กล่าวอีกว่าในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา กบข. มีสมาชิกเพิ่มขึ้น
ต่อเนื่อง โดยปัจจุบันมีสมาชิกประมาณ 1.17 ล้านคน ที่ได้ให้ความไว้วางใจให้ กบข. ในการทำหน้าที่บริหารเงินออมเพื่อสร้างความมั่งคั่ง มั่นคง ปลอดภัยสำหรับการเป็นหลักประกันในวัยเกษียณ ซึ่งปัจจุบันกองทุนมีสินทรัพย์เพิ่มขึ้นเท่ากับ 360,000 ล้านบาท และคาดว่าในปีนี้จะสามารถสร้างผลตอบแทนให้กับสมาชิกได้ประมาณร้อยละ 6-7