กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
กพร. นำร่อง จัดทำหลักสูตร พัฒนาบุคลากรเป็นวิทยากรต้นแบบ สาขาอาชีพ ถ่ายทอดทักษะ ให้แรงงาน รองรับ 4.0
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ภารกิจของ กพร. นั้นได้ตระหนักถึงความสำคัญในการพัฒนาฝีมือแรงงาน ทั้งในเชิงปริมาณ และคุณภาพ เพื่อเพิ่มศักยภาพกำลังแรงงานให้ได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับทั้งระดับชาติและระดับสากลพร้อมก้าวสู่ยุค 4.0 จำเป็นต้องพัฒนาบุคลากรฝึกเพื่อรองรับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน โดย กพร.พัฒนาบุคลากรฝึกให้เป็นวิทยากรต้นแบบ (Master Trainer) ที่มีความรู้ ความสามารถ และทักษะในการวิเคราะห์ประเมินค่างานและระบุคุณสมบัติการฝึกอบรมตามนโยบายรัฐบาลไทยแลนด์ 4.0 เพื่อพัฒนาครูฝึกต้นแบบของกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ให้มีมาตรฐานและเพียงพอกับความต้องการในแต่ละสาขาช่าง ซึ่งจะนำหลักสูตรที่ได้มาขยายผลฝึกอบรมเพิ่มต่อไปตามนโยบายเร่งด่วนของพลตำรวจเอกอดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ด้านการยกระดับทักษะฝีมือแรงงาน
นางถวิล เพิ่มเพียรสิน รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน ในฐานะประธานเปิดโครงการฯได้กล่าวว่า กพร. ได้มีการจัดประชุมเชิงปฏิบัติการตามโครงการฯ ณ โรงแรม โคโค่ วิว อำเมือง จังหวัดสมุทรสงคราม เพื่อขับเคลื่อนเป้าหมายในปี 2561 ที่ต้องการพัฒนาวิทยากรต้นแบบสาขาอาชีพ จำนวน 55 คน โดยใช้ข้อมูลการพัฒนาหลักสูตรจากโครงการความร่วมมือกับมูลนิธิเทมาเสก ประเทศสิงคโปร์ เพื่อพัฒนาหลักสูตรอิงสมรรถนะในโครงการพัฒนาวิทยากรต้นแบบสำหรับครูฝึกในสถานประกอบกิจการ จากองค์การความร่วมมือระหว่างประเทศของเยอรมัน (GIZ) ที่มุ่งเน้นกลุ่มเป้าหมายบุคลากรของ กพร. ในสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน (สพร.) และสำนักงานพัฒนาฝีมือแรงงาน (สนพ.) จำนวน 233 คน เมื่ออบรมครูต้นแบบแล้วจะลงพื้นที่ไปจัดกิจกรรมฝึกให้กับบุคลากรของ กพร. เพื่อถ่ายทอดความรู้และทักษะวิชาชีพให้กับแรงงานต่อไป
ครูต้นแบบ คือตัวอย่างที่ใช้เป็นหลัก และแบบอย่าง ที่มีความสามารถในการถ่ายทอดความรู้จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องพัฒนาบุคคลากรฝึกให้สามารถถ่ายทอดความรู้ และทักษะด้านเทคโนโลยีชั้นสูงได้อย่างถูกต้องและมีมาตรฐาน ทั้งนี้จะต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถด้านช่างในแต่ละสาขาเป็นอย่างดี หรือต้องมีวิชาครูเพื่อถ่ายทอดความรู้และทักษะด้านเทคโนลีชั้นสูงที่อยู่ในตัวครูฝึกไปสู่ผู้รับการฝึกได้อย่างมีประสิทธิภาพ ดังนั้นจึงกล่าวได้อีกอย่างหนึ่งว่า ครูฝึกเป็นบุคคลสำคัญอย่างยิ่งต่อการพัฒนาฝีมือแรงงานให้มีประสิทธิภาพ มีมาตรฐานฝีมือแรงงานที่จะทำให้กำลังแรงงานมีผลิตภาพแรงงานที่สูงขึ้น และยังเป็นแกนกลางในการเชื่อมประสานเพื่อช่วยขยายภารกิจการพัฒนาฝีมือแรงงานกับสถานประกอบกิจการไปในด้านอื่นๆ จนครบวงจรของการพัฒนาฝีมือแรงงาน ทั้งนี้ผู้ปฏิบัติงานในสายผลิตยังได้รับโอกาสในการพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานเพิ่มมากขึ้น โดยสถานประกอบกิจการไม่ต้องกังวลการสูญเสียเป้าหมายไม่เป็นไปตามแผนการผลิต เช่นที่ผ่านมาอีกต่อไป รองอธิบดี กพร. กล่าว