กรุงเทพฯ--5 มิ.ย.--โฟว์ดี คอมมิวนิเคชั่น
คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกับโครงการอาศรมความคิด อรุณ สรเทศน์ ณ ลานเกียร์ (เปิดโลกลานเกียร์) จับมือภาครัฐและภาคเอกชน จัดงานเสวนาเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลก ในหัวข้อ 'การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมในยุค Disruption' เชิญผู้เชี่ยวชาญ ร่วมถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม พร้อมแลกเปลี่ยนมุมมอง หาข้อสรุปเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยงานในครั้งนี้ได้รับเกียรติจาก พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี เป็นประธานในพิธี พร้อมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ 'หลักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของพระราชบิดา สู่พระราโชบายด้านการศึกษาแห่งองค์วชิราลงกรณ์'
รศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล คณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยว่า ปัจจุบันสิ่งแวดล้อมถือเป็นเรื่องที่สำคัญอย่างมาก และทางจุฬาฯ ก็ตระหนักถึงเรื่องดังกล่าวมาโดยตลอด ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษาและเผยแพร่ความรู้เรื่องสิ่งแวดล้อม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการกระตุ้นจิตสำนึก ตลอดจนการปรับทัศนตคติด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของประเทศให้เป็นไปตามเป้าหมายของการพัฒนาชาติที่ยั่งยืน
"ในแต่ละปีทางจุฬาฯ ได้ร่วมมือกับหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน จัดกิจกรรมเนื่องในวันสิ่งแวดล้อมโลกเป็นประจำทุกปี โดยในปีนี้ได้ร่วมกับโครงการอาศรมความคิด อรุณ สรเทศน์ ณ ลานเกียร์ (เปิดโลกลานเกียร์) จัดงานดังกล่าวขึ้น โดยได้รับเกียรติจาก พลเอกดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ องคมนตรี เป็นประธานในพิธี พร้อมปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ 'หลักทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของพระราชบิดา สู่พระราโชบายด้านการศึกษาแห่งองค์วชิราลงกรณ์' ทั้งยังระดมผู้เชี่ยวชาญด้านสิ่งแวดล้อมทั้งภาครัฐและเอกชนร่วมเสวนาในหัวข้อ 'การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมในยุค Disruption' เพื่อสะท้อนมุมมองที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ในการนำมาพัฒนาใช้ทั้งในปัจจุบันและอนาคต" รศ.ดร.สุพจน์ เตชวรสินสกุล กล่าวเสริม
ด้านรองศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล รองคณบดีคณะวิศวกรรมศาสตร์ และหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยเทคโนโลยีการจัดการน้ำมันรั่วและการปนเปื้อนของน้ำมัน ในฐานะผู้จัดทำ Chula MOOC รายวิชาเรื่องสิ่งแวดล้อมเรื่องของเรา เปิดเผยว่า งานในครั้งนี้ถือเป็นส่วนหนึ่งในการถ่ายทอดองค์ความรู้ทางการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม (Environmental Education) รวมถึงได้แลกเปลี่ยนความรู้เกี่ยวกับปัญหาความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในประเทศและในระดับโลก ส่งเสริมความเข้าใจและตระหนักถึงความสำคัญในการร่วมมือกันป้องกันและแก้ไขปัญหา พร้อมทั้งยังช่วยสร้างความตื่นตัวและกระตุ้นจิตสำนึกด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม และเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมการผลิต การใช้พลาสติก ซึ่งจะสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการเติบโตท่ามกลางคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และยังได้แลกเปลี่ยนมุมมอง พร้อมหาข้อสรุปที่จะใช้ในการพัฒนาสิ่งแวดล้อมของประเทศไทยให้เป็นไปตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ ที่มอบให้แต่ละประเทศทั่วโลก ร่วมรณรงค์ยุติมลพิษพลาสติก (Beat Plastic Pollution) เพื่อเปลี่ยนแปลงทัศนคติและพฤติกรรมการใช้พลาสติกอันก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ Natural toward petroleum product ซึ่งว่าด้วยเรื่องประเด็นสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์ปิโตรเลียมอันเป็นแหล่งต้นทางของการผลิตพลาสติกก่อนที่จะมีการใช้งานและก่อให้เกิดผลกระทบตามมา
"วิศวะ จุฬาฯ ตระหนักดีว่าความสำเร็จที่แท้จริงของการจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมนั้นไม่สามารถอาศัยเพียงแค่กิจกรรมรณรงค์เพียงอย่างเดียว แต่จำเป็นต้องบ่มเพาะความรู้ด้านวิชาการและปลูกฝังทัศนคติที่ถูกต้องในกระบวนการเรียนการสอนและฝึกปฏิบัติอย่างสม่ำเสมอ และการร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะเป็นส่วนสำคัญในการผลักดันให้เกิดการใช้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้อย่างยั่งยืน จึงได้พัฒนาหลักสูตรการเรียนการสอนผ่านระบบออนไลน์ในโครงการ CHULA MOOC ที่จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยได้พัฒนาขึ้นเพื่อเปิดโอกาสให้ผู้สนใจสามารถฝึกทักษะทางความคิด ความสามารถ และสติปัญญาเพื่อพัฒนาศักยภาพของตนเอง ผ่านการจัดทำรายวิชา 'เรื่องสิ่งแวดล้อมเรื่องของเรา' ซึ่งหลักสูตรแรก ได้แก่ 'FOOD WATER ENERGY NEXUS' ที่ทำขึ้นเนื่องในโอกาสวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day) 5 มิถุนายน 2561 นี้ โดยเนื้อหาของหลักสูตรดังกล่าวจะมุ่งสร้างความเข้าใจถึงความสัมพันธ์ระหว่างทรัพยากรน้ำ พลังงาน และเกษตรอาหาร ต่อประเด็นด้านสิ่งแวดล้อม ซึ่งจัดเป็นหนึ่งในสามปัจจัยหลักของการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable development) เป็นฐานความคิดพื้นฐานของทุกภาคส่วนในสังคมโลกปัจจุบัน โดยจะยังผลให้เกิดความเติบโตที่สมดุลและมีความยั่งยืน ทั้งนี้ การจัดทำและเผยแพร่องค์ความรู้และสื่อการสอนที่มีความถูกต้องตามหลักวิชาการ เข้าถึงได้สำหรับกลุ่มผู้สนใจในวงกว้าง รวมถึงส่งเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมของทุกภาคในสังคมต่อการดูแลและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับปัจจุบันและอนาคต หลักสูตรนี้ได้รับการออกแบบมาเพื่อให้เยาวชนคนรุ่นใหม่ นักเรียน นิสิตนักศึกษา เจ้าของกิจการ ผู้บริหาร ผู้จัดการ หัวหน้างานทุกคน หรือผู้ที่สนใจ ได้ทราบถึงแนวคิด เทคโนโลยี และแนวทางการมีส่วนร่วมเพื่อการดูแลและรักษาทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสามารถนำความรู้และเครื่องมือและวิธีการต่างๆ จากการฝึกอบรมไปประยุกต์ใช้ในบริบทและรูปแบบต่างๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุดกับองค์กร สังคม ประเทศชาติ รวมไปถึงสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมโลกต่อไป และหลักสูตรที่ 2 ของรายวิชา ENVIRONMENT 4.0 โดยจะเปิดรับสมัครภายในไตรมาส 3 ของปีนี้ ผ่านหัวข้อสิ่งแวดล้อมและความเป็นเมือง เครื่องมือบริหารจัดการด้านสิ่งแวดล้อม และการพลิกโฉมด้านสิ่งแวดล้อมที่เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี" รองศาสตราจารย์ ดร.พิสุทธิ์ เพียรมนกุล กล่าวสรุป
สามารถชมรายละเอียดกิจกรรมเพิ่มเติมได้ที่ www.facebook.com/ChulaEngineering