กรุงเทพฯ--29 พ.ย.--ซีบี ริชาร์ด เอลลิส
ซีบี ริชาร์ด เอลลิส ซึ่งเป็นบริษัทที่ปรึกษาด้านธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ชั้นนำของไทย ได้ให้ความเห็นเกี่ยวกับตลาดสำนักงานในกรุงเทพมหานครว่า ความต้องการที่เกิดขึ้นในปี 2551 จะขึ้นอยู่กับปริมาณความต้องการที่แฝงอยู่ซึ่งมาจากบริษัทข้ามชาติต่างๆ โดยความต้องการดังกล่าวจะกลับมาอย่างรวดเร็ว เมื่อทิศทางนโยบายต่อการลงทุนจากต่างชาติมีความชัดเจนมากขึ้น ทั้งนี้ หากนโยบายดังกล่าวมีความเป็นมิตรต่อนักลงทุนชาวต่างชาติมากขึ้น รวมทั้งมีการจัดตั้งรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ก็จะสามารถสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักลงทุนได้เป็นอย่างดี ซึ่งจะช่วยกระตุ้นตลาดอาคารสำนักงานในปีหน้าเช่นเดียวกัน
ซีบี ริชาร์ด เอลลิส ประเมินว่า ประมาณ 80% ของผู้เช่าพื้นที่สำนักงานระดับเกรดเอ ในย่านใจกลางธุรกิจหรือซีบีดีของกรุงเทพฯเป็นบริษัทข้ามชาติ “เราเห็นถึงการชะลอแผนการขยายตัวของหลายบริษัท และมีบริษัทจัดตั้งใหม่เพียงไม่มากนัก อันสืบเนื่องมาจากสภาพเศรษฐกิจที่ชะลอตัว ความไม่มั่นคงทางการเมือง และความวิตกกังวลในเรื่องกฎหมายประกอบธุรกิจของคนต่างด้าวโดยเฉพาะในภาคธุรกิจบริการ” นายนิธิพัฒน์ ทองพันธุ์ ผู้อำนวยการและหัวหน้าฝ่ายจัดหาอาคารสำนักงานและพื้นที่ค้าปลีก กล่าว
“หากภาวะเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น และรัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการลงทุนจากต่างประเทศในภาคธุรกิจบริการ จะทำให้เราสามารถเห็นความต้องการพื้นที่สำนักงานกลับมาสู่ระดับ 300,000 ตารางเมตรต่อปี” นายนิธิพัฒน์ กล่าวเสริม
ณ ไตรมาสที่ 3 ปี 2550 พื้นที่สำนักงานในกรุงเทพฯมีทั้งสิ้น 7.47 ล้านตารางเมตร และจะมีอัตราพื้นที่ว่างโดยรวมอยู่ที่ระดับ 11.9% โดยพื้นที่สำนักงานระดับเกรดเอ ในย่านใจกลางธุรกิจ มีอัตราพื้นที่ว่างอยู่ในระดับต่ำเพียง 6.6% เท่านั้น
อาคารสำนักงานใหม่ที่เกิดขึ้นในปีนี้มีทั้งสิ้น 4 อาคาร ได้แก่ เดอะ เทรนดี้ บนถนนสุขุมวิท 13 ไซเบอร์ เวิร์ล บนถนนรัชดาภิเษก แอทธินี ทาวเวอร์ บนถนนวิทยุ และอีสวอเตอร์ บนถนนวิภาวดี-รังสิต คิดเป็นพื้นที่ใหม่รวม 141,000 ตารางเมตรที่เพิ่มเข้าสู่ตลาด
ปริมาณการเข้าใช้พื้นที่สำนักงานใหม่ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2550 มีจำนวนทั้งสิ้น 122,000 ตารางเมตร และซีบี ริชาร์ด เอลลิส คาดว่า ตลอดทั้งปี 2550 ปริมาณการเข้าใช้พื้นที่ทั้งหมดจะอยู่ที่ระดับ 150,000 ตารางเมตร ซึ่งจะน้อยกว่าปี 2549 อยู่ 26.5% และน้อยกว่าการเข้าใช้พื้นที่โดยเฉลี่ยในช่วงปี 2543 - 2548 ถึง 50%
จากรายงานค่าเช่าพื้นที่สำนักงานทั่วโลก (Global Market Rents) สำรวจโดยซีบี ริชาร์ด เอลลิส ฉบับล่าสุด พบว่า กรุงลอนดอน ยังคงเป็นเมืองที่มีค่าเช่าพื้นที่สำนักงานเฉลี่ยที่แพงที่สุดในโลก ด้วยค่าเช่าประมาณ 10,000 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือนในย่านเวสต์ เอนด์ และ 5,500 บาทในย่านใจกลางกรุงลอนดอน
ในขณะที่มุมไบเป็นเมืองที่มีค่าเช่าพื้นที่สำนักงานเฉลี่ยที่แพงที่สุดในเอเชีย ด้วยอัตราค่าเช่า 5,780 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ตามมาด้วย โตเกียว ที่ระดับราคา 5,400 บาท และฮ่องกง ที่ระดับราคา 3,200 บาท ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สิงคโปร์มีค่าเช่าแพงที่สุด เฉลี่ย 3,100 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน ส่วนค่าเช่าในกรุงเทพฯยังคงตามหลังประเทศอื่นๆ โดยอยู่ที่เพียง 739 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน หรือประมาณ 1 ใน 4 ของค่าเช่าพื้นที่โดยเฉลี่ยในสิงคโปร์ ปัจจุบัน ค่าเช่าพื้นที่สำนักงานชั้นดีในโฮจิมินห์ ซิตี้แตะที่ 1,360 บาทต่อตารางเมตรต่อเดือน
ในด้านอัตราการเติบโตของค่าเช่าพื้นที่สำนักงาน พบว่า อัตราค่าเช่าโดยเฉลี่ยของพื้นที่สำนักงานชั้นดีในกรุงเทพฯเติบโตเพียง 2.2% จากปีที่ผ่านมา แต่ในสิงคโปร์กลับมีอัตราการเติบโตที่เร็วที่สุดในโลก ซึ่งเพิ่มขึ้นถึง 82.6% ในปีนี้ ส่วนค่าเช่าพื้นที่สำนักงานของเมืองอื่นๆในแถบเอเชีย อาทิ มุมไบ มะนิลา ฮ่องกง และโฮจิมินห์ ซิตี้ เพิ่มขึ้น 55.0% 51.8% 30.7% และ 29.0% ตามลำดับ
ในปี 2551 พื้นที่สำนักงานในกรุงเทพฯจะเพิ่มขึ้นอีกอย่างน้อย 165,000 ตารางเมตร โดยมาจาก อาคารจามจุรี สแควร์ บนถนนพระราม 4 ซึ่งมีพื้นที่จำนวน 90,000 ตารางเมตร อาคารอินเตอร์เชนจ์ 21 บริเวณแยกสุขุมวิท-อโศก จำนวน 45,000 ตารางเมตร และอาคารภคินท์ บนถนนรัชดาภิเษก จำนวน 30,000 ตารางเมตร ทั้งนี้อาคารจามจุรี สแควร์ จะเป็นหนึ่งในอาคารที่มีพื้นที่ต่อชั้นใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ คือ มีพื้นที่ราว 3,200 ตารางเมตรต่อชั้น และตัวอาคารมีทางเชื่อมโดยตรงไปยังรถไฟใต้ดินสถานีสามย่าน บริเวณชั้นใต้ดินของอาคาร โครงการนี้มีกำหนดจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาสที่ 1 ปี 2551 ส่วนอาคารอินเตอร์เชนจ์ 21 ตั้งอยู่บนทำเลที่ดีที่สุดอีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ บริเวณแยกถนนสุขุมวิทตัดกับถนนอโศกมนตรี อีกทั้งเป็นเส้นทางผ่านของทั้งรถไฟฟ้าบีทีเอส และรถไฟฟ้าใต้ดินเอ็มอาร์ที ซึ่งอยู่ตรงข้ามกับอาคารเอ็กเชน ทาวเวอร์ โดยอาคารอินเตอร์เชนจ์ 21 มีกำหนดจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาสที่ 2 ปี 2551
ซีบี ริชาร์ด เอลลิส เชื่อว่า แม้ความต้องการพื้นที่สำนักงานเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยก็อาจจะทำให้ค่าเช่าพื้นที่สำนักงานในกรุงเทพฯปรับตัวสูงขึ้นได้อย่างรวดเร็ว เนื่องจากพื้นที่สำนักงานที่จะเกิดขึ้นใหม่มีปริมาณจำกัด