กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
นายพรชัย ฐีระเวช ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน ในฐานะโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานความคืบหน้าการดำเนินการของคณะกรรมการส่งเสริมวิสาหกิจเริ่มต้นแห่งชาติ (National Startup Committee: NSC) (คณะกรรมการฯ) ซึ่งมีปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธานคณะกรรมการฯ ประจำเดือนพฤษภาคม 2561 โดยมีรายละเอียด สรุปได้ ดังนี้
1. จำนวนวิสาหกิจเริ่มต้น (Startup) ในประเทศไทย
1.1 จำนวน Startup ที่ลงทะเบียนกับ http://startupthailand.org ของสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ จำนวน 1,700 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้วจำนวน 200 ราย
1.2 จำนวนผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมรายใหม่ (SMEs/New Startup) ที่ขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 658) พ.ศ. 2561 เพื่อยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกำไรสุทธิของ SMEs/New Startup เป็นระยะเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชี มี SMEs/New Startup เข้ามาจดทะเบียนและยื่นขอรับการรับรองกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) แล้วจำนวน 154 ราย ได้รับการรับรองจาก สวทช. แล้วจำนวน 96 ราย และได้ขอใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีกับกรมสรรพากรแล้วจำนวน 77 ราย โดยมีกิจการเข้ามายื่นขอรับการรับรองกับ สวทช. เพิ่มขึ้นจำนวน 3 ราย ได้รับการรับรองเพิ่มขึ้นจำนวน 6 ราย และขอใช้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพิ่มขึ้นจำนวน 4 ราย จากเดือนที่แล้ว
1.3 จำนวน Startup ที่ได้รับการสนับสนุนจากภาครัฐ ผ่านการร่วมลงทุนกับธนาคารออมสิน ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย และธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) ได้อนุมัติการร่วมลงทุนใน Startup แล้ว 36 ราย วงเงินรวม 828 ล้านบาท โดยมี Startup 10 ราย ที่ได้มีการร่วมลงทุนแล้ว คิดเป็นเงินร่วมลงทุน 216 ล้านบาท ในจำนวนนี้ มีกิจการ Startup ได้รับอนุมัติการร่วมลงทุนเพิ่มจากเดือนที่แล้วจำนวน 1 ราย วงเงิน 60 ล้านบาท
2. จำนวนกลุ่มนักลงทุนในประเทศไทย
2.1 จำนวนกลุ่มนักลงทุนที่ลงทะเบียนกับ Web Portal ปัจจุบันมีกลุ่มนักลงทุนเข้าลงทะเบียนบนเว็บไซต์ http://startupthailand.org แล้วจำนวน 300 ราย เพิ่มขึ้นจากเดือนที่แล้วจำนวน 231 ราย
2.2 กิจการเงินร่วมลงทุน (Venture Capital: VC) และทรัสต์เพื่อกิจการเงินร่วมลงทุน (Private Equity Trust: PE Trust) ที่ขอรับสิทธิประโยชน์ทางภาษีตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 636) พ.ศ. 2560 เพื่อขอรับสิทธิยกเว้นภาษีเงินได้จากเงินปันผลและรายได้จากการโอนหุ้นของบริษัทเป้าหมาย เป็นระยะเวลา 10 รอบระยะเวลาบัญชี มีผู้จดแจ้งการเป็น VC และ PE Trust กับสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แล้ว จำนวนทั้งสิ้น 30 ราย จำนวนไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากเดือนก่อนหน้า
3. ความเคลื่อนไหวที่สำคัญในเดือนพฤษภาคม 2561
3.1 การขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อส่งเสริม Startup
เมื่อวันที่ 13 พฤษภาคม 2561 ราชกิจจานุเบกษาได้ประกาศพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 658) พ.ศ. 2561 ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับกำไรสุทธิของบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดที่จดทะเบียนจัดตั้งขึ้นตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2558 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 และได้รับการรับรองตามหลักเกณฑ์ที่ สวทช. กำหนด เป็นระยะเวลา 5 รอบระยะเวลาบัญชี เพื่อขยายระยะเวลาการให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีดังกล่าวออกไปอีก 1 ปี จนถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2561 (จากเดิมพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 637) พ.ศ. 2560 ที่ให้สิทธิประโยชน์ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2560)
3.2 การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการการพัฒนาครูและบุคลากรในสถาบันการศึกษาระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาด้านมายเซ็ตการประกอบการ ครั้งที่ 3
คณะกรรมการฯ ร่วมกับสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กรมบัญชีกลาง และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย จัดการฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการโครงการพัฒนาครูและบุคลากรในสถาบันการศึกษาระดับมัธยมศึกษาและอาชีวศึกษาด้านมายเซ็ตการประกอบการ (การฝึกอบรมฯ) ครั้งที่ 3 ในระหว่างวันที่ 7 - 8 พฤษภาคม 2561 ณ โรงแรมบุรีศรีภู บูติก โฮเทล จังหวัดสงขลา โดยมีผู้เข้าร่วมการฝึกอบรมทั้งหมด 59 ท่าน เป็นครูจากโรงเรียนที่เข้าร่วมโครงการ Startup Club จำนวน 31 ท่าน จาก 17 สถาบัน และเจ้าหน้าที่จากคณะผู้บริหารการคลังประจำจังหวัด (คบจ.) 28 ท่าน จาก 14 จังหวัดในภาคใต้ ได้แก่ ชุมพร ระนอง สุราษฎ์ธานี พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง นครศรีธรรมราช พัทลุง สตูล สงขลา ปัตตานี ยะลา และนราธิวาส
ทั้งนี้ การฝึกอบรมฯ ครั้งที่ 4 จะจัดขึ้นที่จังหวัดกรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 25 - 26 มิถุนายน 2561 สำหรับเจ้าหน้าที่ คบจ. และครูในสถาบันการศึกษาที่เข้าร่วมโครงการ Startup Club ในจังหวัดกรุงเทพฯ
และจังหวัดใกล้เคียง
สำนักนโยบายการออมและการลงทุน
ส่วนนโยบายระบบการลงทุน
โทร. 0 2273 9020 ต่อ 3638, 3650, 3654