กรุงเทพฯ--29 พ.ย.--สสวท.
จากภาวะการแข่งขันทางการค้าและการอุตสาหกรรมในยุคโลกาภิวัฒน์ที่รวดเร็วและมีการเปลี่ยนแปลงสูง ถือเป็นยุคของความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี นวัตกรรม และการสื่อสารที่ไร้พรมแดน จึงจำเป็นต้องนำองค์ความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีมาช่วยยกระดับ เสริมสร้างขีดความสามารถและสร้างความเข้มแข็งให้กับ SMEs ไทยในการแข่งขันบนเวทีการค้าโลกได้
รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผู้อำนวยการสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ ( สวทช.) กล่าวว่า โครงการสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีของอุตสาหกรรมไทย ( iTAP ) ภายใต้ศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี ของสวทช. ถือเป็นเครื่องมือหนึ่งที่ได้ร่วมกับสถาบันวิจัยและพัฒนาเพื่ออุตสาหกรรมของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) จัดตั้ง “โครงการคลีนิกเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ( Industrial Technology Clinic ) ” เพื่อให้บริการเฉพาะทางด้านเทคโนโลยีขึ้นเป็นครั้งแรกของไทย โดยจะให้บริการแก่ผู้ประกอบการที่เป็นสมาชิกของสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยและผู้ประกอบการทั่วไป ในการพัฒนาศักยภาพและขีดความสามารถทางด้านเทคโนโลยีให้มีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น และเพื่อให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศรวมทั้งสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างคุณค่าเพิ่มให้กับงานวิจัยและพัฒนาจากภูมิปัญญาและองค์ความรู้ที่มีอยู่ในประเทศมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด
“ เชื่อว่าความร่วมมือระหว่าง 2 หน่วยงานครั้งนี้ จะช่วยสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ประกอบการไทย และยกระดับความสามารถบนพื้นฐานโครงสร้างทางด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีของประเทศ พร้อมคาดหวังว่าโครงการดังกล่าวจะปูทางให้เกิดการพัฒนาความสัมพันธ์ไปสู่การแลกเปลี่ยนออฟฟิตกันเพื่อให้การบริการมีความใกล้ชิด และรวดเร็วยิ่งขึ้น ”
นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ( ส.อ.ท.) กล่าวว่า จากความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจในปัจจุบันทั้งภายในและภายนอก อาทิ ปัจจัยราคาน้ำมัน อัตราแลกเปลี่ยน และปัญหาซับไพร์สในสหรัฐอเมริกา ล้วนเป็นปัจจัยที่เข้ามามีผลกระทบต่อผู้ประกอบการไทย เนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจไทยต้องพึ่งพาการส่งออกถึงร้อยละ66 ของ GDP ขณะที่ความได้เปรียบในเรื่องของค่าแรงงานและทรัพยากรธรรมชาติของไทยไม่ใช่ข้อได้เปรียบอีกต่อไป เนื่องจากประเทศเพื่อนบ้านต่างมีการพัฒนาขึ้นมากในช่วงปีที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ ผู้ประกอบการไทยจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเร่งปรับปรุงพัฒนาตนเอง เพราะไม่เพียงแต่เพื่อความอยู่รอดของอุตสาหกรรมเท่านั้น หากต้องทำการปรับปรุงและแสวงหากระบวนการผลิตและเทคโนโลยีที่เหมาะสมเพื่อช่วยเสริมสร้างขีดความสามารถของตนเองให้เพิ่มมากขึ้นด้วย
“ ดังนั้น สภาอุตสาหกรรมฯ จึงมีแนวทางในการดำเนินงานที่จะเชื่อมโยงระหว่างภาควิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กับภาคอุตสาหกรรม เพื่อหาผู้ที่จะเข้ามาช่วยในเรื่องของการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของประทเศ โดยเฉพาะไทยมีอุตสาหกรรมขนาดเล็ก หรือ SMEs อยู่เป็นจำนวนมาก และยังต้องพัฒนาอีกมาก ”
คลีนิกเทคโนโลยีอุตสาหกรรม จึงเป็นโครงการหนึ่งที่มีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้ผู้ประกอบการไทยได้มีการพัฒนาและมีความเข้มแข็งด้านเทคโนโลยี ประกอบกับการได้รับคำชี้แนะจากผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางที่ทางโครงการ iTAP ของ สวทช. จัดหาเข้ามาเพื่อให้บริการวินิฉัยปัญหาที่ตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการได้ จะเป็นส่วนหนึ่งที่จะเติมเต็มขีดความสามารถของผู้ประกอบการ รวมถึงการให้ข้อมูลที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์และประยุกต์ใช้ได้อย่างเหมาะสมกับการดำเนินงานที่เป็นอยู่
“ ถือว่าสมาชิกฯ จะได้รับประโยชน์ทางด้านเทคนิค และเทคโนโลยีจาก iTAP ซึ่งนับเป็นความก้าวหน้าในภาคอุตสาหกรรมของไทย และจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการขนาดเล็ก หรือ SMEs ได้พัฒนาศักยภาพและขีดความามารถของตนเองให้สามารถแข่งขันได้ในระดับภูมิภาคและระดับโลกต่อไปได้ ” รองประธานส.อท.กล่าว
ด้าน รศ.ดร.สมชาย ฉัตรรัตนา รองผู้อำนวยการศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (สวทช.) ในฐานะกำกับดูแลโครงการ iTAP กล่าวเพิ่มเติมว่า ความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นนิมิตที่ดีของการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมไทย โดยผีมือคนไทย เพื่อให้สามารถยืนบนฐานเทคโนโลยีของตนเองได้ และผู้ประกอบการไม่จำเป็นต้องรับจ้างผลิตสินค้าให้กับต่างประเทศอีกต่อไป แต่สามารถจะยกระดับตัวเองไปสู่การเป็นผู้ออกแบบ และพัฒนาสินค้าสร้างแบรนด์ส่งออกไปจำหน่ายได้เอง
“ iTAPในฐานะหัวหอกของสวทช.สำหรับความร่วมมือครั้งนี้ จะเชื่อมโยงจุดแข็งของสภาอุตสาหกรรมฯ ในฐานะเป็นแหล่งรวมของผู้ประกอบการอุตสาหกรรมตั้งแต่ขนาดเล็กไปจนถึงขนาดใหญ่ และมีสมาชิกอยู่ในทุกจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งจะทำให้การให้บริการเทคโนโลยีของ iTAP สามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ประกอบการต่างๆ ได้ครอบคลุมมากขึ้น ทั้งนี้โครงการดังกล่าว มีระยะเวลา 1 ปี ล่าสุดมีสมาชิกจากสภาอุตสาหกรรมฯ ร่วมนำร่องแล้ว 6 ราย จากที่ตั้งเป้าหมายไว้ 50 รายและสามารถขยายโครงการต่อหากได้รับการตอบรับที่ดี ”
สำหรับผลการดำเนินงานของโครงการ iTAP ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมาตั้งแต่ปี 2535 จนถึงปัจจุบัน มีผู้ประกอบการอุตสาหกรรมเข้ามารับบริการการพัฒนาผลิตภัณฑ์ การพัฒนาเทคโนโลยี จนกระทั่งปรับปรุงกระบวนการผลิตแล้วกว่า 5,000 ราย และในปี 2550 ที่ผ่านมา ยังได้รับเงินสนับสนุนจากสำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(สสว.) จำนวน 100 ล้านบาท เพื่อใช้สนับสนุนแก่ผู้ประกอบการที่เข้าโครงการไปแล้วกว่า 90 ล้านบาท โดยหน้าที่หลักของ iTAP จะเป็นผู้ประสานงาน เข้าไปวิเคราะห์ปัญหาในเบื้องต้น และจัดหาผู้เชี่ยวชาญที่มีอยู่ในเครือข่ายทั้ง 9 แห่งทั่วประเทศ และจากพันธมิตรแหล่งต่างๆ ที่มีความชำนาญ อาทิ สถาบันการศึกษา และหน่วยงานในสังกัด สวทช. เข้าไปให้คำปรึกษาและทำงานร่วมกับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมในการพัฒนาเทคโนโลยีได้อย่างตรงความต้องการเป็นระยะเวลา 3 เดือน 6 เดือน หรืออาจนานกว่า 1 ปีขึ้นอยู่กับความยากง่าย
นอกจากนี้ iTAP ยังได้มีการประเมินความพึงพอใจของผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการทุกๆ 4 ปี โดยมีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยดำเนินการประเมินพบว่า เงินทุก 1 บาทที่ iTAPให้การสนับสนุนจะตอบแทนกลับคืนสู่ประเทศกว่า 6 เท่าในแง่ของผลประกอบการที่เพิ่มขึ้น การจ้างงานเพิ่มขึ้น และมาตรฐานคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ซึ่งในปีนี้ยังได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ดำเนินการประเมินและวิเคราะห์ผลที่เกิดขึ้นหลังจากที่ iTAP เข้าไปให้การสนับสนุนขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาข้อมูล