กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--สกว.
โดย การนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์และสื่อสารสังคม สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศมีแนวโน้มที่จะผลักดันให้ประเทศไทยตกอยู่ในภาวะเสี่ยงจากน้ำท่วมรุนแรงเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะก่อให้เกิดความเสียหายทั้งในระดับพื้นที่ สภาพเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม ดังเช่นเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2554 ที่ได้สร้างความเสียหายอย่างมากในหลายพื้นที่ของประเทศ รวมถึงอำเภอพุนพิน จังหวัดสุราษฏร์ธานี นับเป็นชุมชนขนาดใหญ่แห่งที่ 2 รองจากชุมชนเมืองสุราษฎร์ธานี เป็นที่ตั้งของสถานีรถไฟและสนามบินสุราษฎร์ธานี มีเทศบาลเมืองท่าข้ามเป็นศูนย์กลาง มีจำนวนประชากรอาศัยอยู่กว่า 31,711 คน คิดเป็นร้อยละ 35.63 ของอำเภอพุนพิน และร้อยละ 63.8 ของประชากรอาศัยอยู่ในเขตเทศบาลเมืองท่าข้าม ดังนั้น การเตรียมการณ์เพื่อรับมือต่อผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จึงเป็นสิ่งที่มีความจำเป็น
แม้ที่ผ่านมาชุมชนมักประสบปัญหาน้ำท่วมจากภาวะน้ำล้นตลิ่งของแม่น้ำตาปี แม่น้ำพุมดวง และคลองสาขาในพื้นที่ชุมชนริมน้ำซึ่งส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตรกรรมจึงส่งผลกระทบไม่มากนัก แต่จากเหตุการณ์น้ำท่วมในปี 2554 ถือเป็นครั้งรุนแรงที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน สร้างความเสียหายต่อระบบสาธารณูปโภค การคมนาคม บ้านเรือนและพื้นที่การเกษตรพังเสียหาย สัตว์เลี้ยงล้มตายเป็นจำนวนมาก ประชาชนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก ทั้งระดับความสูง ความรุนแรงของกระแสน้ำ และระยะเวลาน้ำท่วมขังที่นาน 2-3 เดือน อีกทั้งยังเป็นพื้นที่ที่มีสถานประกอบการที่อยู่ในเขตน้ำท่วมมากสุดถึง 3,413 แห่ง ทำให้อำเภอพุนพินเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมสูงเป็นอันดับ 2 ของจังหวัดรองจากอำเภอกาญจนดิษฐ์
นางสาววนารัตน์ กรกิสารนุกูล อาจารย์ประจำภาควิชาเทคโนโลยีเพื่อการพัฒนายั่งยืน คณะวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิจัยและหัวหน้าโครงการ เปิดเผยว่า กรณีน้ำท่วมที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศถึงแม้มองเป็นเรื่องของอนาคต แต่จะมีผลให้สถานการณ์ทวีความรุนแรงมากขึ้น ที่ผ่านมาวิธีการหรือแนวทางแก้ปัญหาน้ำท่วมนั้นส่วนใหญ่ไม่ค่อยพูดถึงเรื่องผังเมืองกันมากนักเพราะเป็นเรื่องที่ซับซ้อน แต่การวางผังเมืองที่ดีจะช่วยแก้ปัญหาการเกิดน้ำท่วมในอนาคต และยังเป็นทางเลือกให้ชุมชนในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศได้
"จากลักษณะของพื้นที่ที่ขนานไปกับเส้นทางน้ำตลอดระยะทางยาวกว่า 20 กิโลเมตร ประกอบกับเป็นพื้นที่ลุ่มต่ำคล้ายแอ่งกระทะโอบล้อมด้วยภูเขา ทำให้เมืองพุนพินมีแนวความเสี่ยงตามธรรมชาติ และโอกาสเกิดน้ำท่วมขังเป็นระยะเวลานาน แต่อันตรายที่เกิดจากน้ำท่วมที่สร้างความเสียหายให้กับชุมชนคือ ความรุนแรงของกระแสน้ำที่ไหลลงจากภูเขาหรือน้ำป่า ส่งผลให้น้ำไหลแรง และเร็ว แต่การจะก่อสร้างกำแพงกั้นน้ำตลอดแนวก็เป็นไปได้ยาก เพราะต้องใช้เงินลงทุนมหาศาล แม้ว่าจะเป็นเมืองขนาดเล็กแต่ชุมชนก็ได้รับเดือดร้อน เนื่องจากผังเมืองเดิมไม่สอดรับกับความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นในอนาคต จึงเห็นว่าปัญหาน้ำท่วมของพุนพิน สามารถแก้ไขได้โดยการปรับปรุงการวางผังเมือง ทั้งในเชิงนโยบายและการปฏิบัติ เพื่อพัฒนาให้เมืองขยายไปสู่ทิศทางที่ปลอดภัยไม่ต้องเสี่ยงกับภาวะน้ำท่วม"
โครงการแนวทางการวางแผนด้านผังเมืองเพื่อรองรับความเสี่ยงจากการเปลี่ยนปลงสภาพภูมิอากาศ : กรณีศึกษาปัญหาน้ำท่วมและแนวทางการจัดการน้ำท่วมในเขตผังเมืองรวมพุนพิน จังหวัดสุราษฎร์ธานี โดยได้รับการสนับสนุนจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เป็นการศึกษาวิจัยถึงผลกระทบการเปลี่ยนแปลงทางกายภาพและการใช้ที่ดินในเขตผังเมืองรวมพุนพิน (ตั้งแต่ปี 2538-2556) ต่อความเสี่ยงน้ำท่วมของชุมชน และเพื่อวิเคราะห์ความสามารถในการปรับตัวของชุมชน รวมถึงแนวโน้มความเสี่ยงน้ำท่วมต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการใช้ที่ดินในอนาคต พร้อมเสนอทางเลือกในการบริหารจัดการพื้นที่ของชุมชนเพื่อรับมือต่อความเสี่ยงน้ำท่วมในอนาคต
ทั้งนี้ จากรายงานการศึกษาการเกิดอุทกภัยเมื่อปี 2554 ได้แสดงให้เห็นว่า สถานการณ์น้ำท่วมในชุมชนเมืองและที่อื่นๆในจังหวัดสุราษฏร์ธานี เกิดจากฝนที่ตกต่อเนื่องเป็นเวลาหลายวัน เกิดการสะสมจนเกินความสามารถในการรองรับน้ำของลำน้ำ ทำให้น้ำล้นตลิ่งเข้าท่วมชุมชนและพื้นที่ทางการเกษตรสร้างความเสียหายทั้งด้านกายภาพ เศรษฐกิจ และสังคม สถานการณ์ดังกล่าว สะท้อนให้เห็นถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีต่อชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน
อาจารย์วนารัตน์ กล่าวว่า "งานวิจัยนี้ จะเป็นตัวอย่างของการวางผังเมืองมาใช้ในการบริหารจัดการปัญหาน้ำท่วมได้โดยไม่ต้องลงทุนเรื่องโครงสร้างพื้นฐาน เราไม่ได้ห้ามการเติบโตหรือไม่ให้มีการพัฒนา แต่ควรหลีกเลี่ยงที่จะพัฒนาชุมชนในพื้นที่ที่เสี่ยงต่อน้ำท่วมซ้ำซากหรือพื้นที่ที่เป็นเส้นทางผ่านของน้ำ โดยควรทำเป็นพื้นที่รองรับน้ำหรือฟลัดเวย์ และควรมุ่งเน้นไปพัฒนาในพื้นที่ที่ปลอดภัยมากกว่า จึงต้องมีการปรับการใช้ที่ดินโดยอาศัยวิธีการทางผังเมือง ซึ่งผลงานวิจัยนี้ได้เสนอให้มีการจัดทำแผนเมืองรวมพุนพิน และแนวทางการพัฒนาเมืองใหม่"
สำหรับการดำเนินการวางแผนด้านผังเมืองเพื่อลดความเสี่ยงนั้นมีแนวทางสำคัญ 5 ประการด้วยกัน คือ แนวคิดการพัฒนาเมืองแบบ 2 ศูนย์กลาง หรือ 2 เมือง(เก่าและใหม่) , การปรับปรุงข้อกำหนดการใช้ที่ดิน ,การออกข้อกำหนดอาคารในพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม , การลดปัญหาน้ำท่วมโดยฟลัดเวย์และพื้นที่รับน้ำ , การก่อสร้างและบำรุงกำแพงป้องกันน้ำท่วม
อาจารย์วนารัตน์ อธิบายเพิ่มเติมว่า หลังจากได้ทำการศึกษาวิจัยจากข้อมูลปริมาณน้ำฝนย้อนหลังโดยเฉพาะปริมาณฝนรวมซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลกระทบต่อการเกิดอุทกภัยมาวิเคราะห์ ซึ่งผลการศึกษาวิจัยแสดงให้เห็นว่า แนวโน้มความเสี่ยงทั้งในแง่ของความรุนแรง และความถี่ในการเกิดน้ำท่วมในอนาคตจากสภาพภูมิอากาศจะมีโอกาสเพิ่มมากขึ้น และบ่อยครั้งขึ้น และจากปริมาณฝนเฉลี่ยรายเดือนที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นร้อยละ 20 ชี้ให้เห็นว่า แนวโน้มการเกิดเหตุการณ์จะเร็วขึ้นในเดือนพ.ย.และมีระยะเวลายาวนานขึ้น เนื่องจากปริมาณฝนรายปีที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ37 และยังคาดการณ์ว่าปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยรายปีในระหว่างปี พ.ศ. 2555 - 2642 มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นการบ่งชี้ถึงความเสี่ยงที่ชุมชนจะได้รับความเสียหายจากน้ำท่วมสูงมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งก็ไม่ได้เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีความสัมพันธ์กับปัจจัยอื่นๆ ที่อ่อนไหว โดยผลงานวิจัยยังชี้ให้เห็นว่า นอกจากทำเลที่ตั้งและสภาพภูมิประเทศที่มีความเสี่ยงต่ออุทกภัยแล้ว ยังมีการใช้ที่ดินที่ไม่เหมาะสมมีการก่อสร้างอาคารโรงงานอุตสาหกรรมรวมถึงการก่อสร้างถนนที่ไปกีดขวางทางไหลของน้ำอีกด้วย
นอกจากนี้ ผลการประเมินระดับความสูงของน้ำท่วมที่พบจากการสร้างแผนที่ความสูงของน้ำท่วมในปี 2554 ด้วย GIS ซึ่งเป็นการนำระดับน้ำท่วมที่วัดได้จากสภาพพื้นที่จริงมากำหนดจุดลงบนแผนที่และจำลองภาพขึ้นในคอมพิวเตอร์ พบว่า พื้นที่ส่วนใหญ่ในเขตผังเมืองรวมพุนพิน ประสบปัญหาน้ำท่วมสูงตั้งแต่ระดับ 0.1-6 เมตร โดยบริเวณที่มีระดับน้ำท่วมสูงมากที่สุด ได้แก่ บริเวณที่ลุ่มต่ำฝั่งทิศใต้ของชุมชน ส่วนพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมน้อยที่สุด คือพื้นที่ฝั่งตะวันตก ซึ่งพื้นที่บริเวณดังกล่าวปัจจุบันยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ประโยชน์มากนัก จึงเสนอให้เปิดเมืองใหม่ขึ้นเพราะเป็นพื้นที่ที่สูง ใกล้สนามบิน การคมนาคมสะดวก และปลอดภัยมากกว่า
โดยเมืองใหม่ จัดให้เป็นศูนย์กลางเมืองใหม่ สำหรับการพัฒนาเมืองทางการค้าการลงทุนและเศรษฐกิจ รวมถึงให้เป็นพื้นที่สำหรับการขยายตัวของชุมชนหนาแน่น และไม่เสี่ยงต่อน้ำท่วม ส่วนเมืองเก่า จัดให้เป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยว นอกจากมีอาหารการกินมากมายแล้วยังมีทั้งอาคารเก่าที่มีศิลปวัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมที่สวยงามที่ควรอนุรักษ์ฟื้นฟูให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์สร้างรายได้ให้ชุมชนแต่ไม่ควรพัฒนาความเป็นเมืองหรือไม่ควรขยายชุมชนหนาแน่นเพิ่มขึ้นอีกเพราะด้วยสภาพพื้นที่ที่เสี่ยงต่อภาวะน้ำท่วมสูง
อย่างไรก็ตาม ผลการวิจัยนี้ เป็นเพียงการนำเสนอแนวคิดการพัฒนาเมืองใหม่เพื่อเป็นทางเลือกให้แก่ชุมชนในการจัดการน้ำท่วม โดยใช้ผังเมืองเป็นตัวกำหนดและควบคุมทิศทางการพัฒนาให้สอดรับกับพื้นที่ที่เหมาะสม ที่สำคัญคือ เพื่อเป็นการเตรียมรับมือกับสถานการณ์ในอนาคตและลดความเสี่ยงจากภาวะน้ำท่วมที่จะรุนแรงเพิ่มมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ