กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--กลุ่มสารนิเทศการคลัง กระทรวงการคลัง
- พร้อมผลักดันอุตสาหกรรมประกันภัยไทย ดำเนินงานอย่างมีธรรมาภิบาล มุ่งสู่การเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน
ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ได้เปิดตัวโครงการ คปภ. คุณธรรม เพื่อแสดงเจตนารมณ์และความมุ่งมั่นที่จะส่งเสริมคุณธรรมในองค์กร และเป็นส่วนหนึ่งของการสร้างสังคมคุณภาพ โดยเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2561 สำนักงาน คปภ. ได้รับเกียรติจากศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรีและประธานมูลนิธิยุวสถิรคุณ บรรยายพิเศษ เรื่อง การขับเคลื่อนองค์กรคุณธรรม และอาจารย์ปราโมทย์ โชติมงคล ผู้อำนวยการศูนย์โรงเรียนคุณธรรม มูลนิธิยุวสถิรคุณ บรรยายพิเศษ เรื่อง การพัฒนาองค์กรคุณธรรมและปัจจัย สู่ความสำเร็จ ณ ห้องประชุมสถาบันวิทยาการระดับสูง ชั้น 2 สำนักงาน คปภ. โดยมีผู้เข้าร่วมรับฟังการบรรยายได้แก่ผู้บริหารและพนักงานในส่วนกลางของสำนักงาน คปภ. จำนวนเกือบ 200 คน
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย องคมนตรีและประธานมูลนิธิยุวสถิรคุณ กล่าวในตอนหนึ่งว่าโครงการนี้เกิดขึ้นตามพระราชกระแสรับสั่งของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร พระราชทานให้กับคณะองคมนตรีในการจัดตั้งกองทุนการศึกษา เมื่อปี พ.ศ.2555 เป้าหมายของโครงการตามพระราชประสงค์ "เพื่อให้สถานศึกษาสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง" มุ่งเน้นให้เกิดความรัก ความมีน้ำใจ และความสามัคคีระหว่างครูและนักเรียน โดยมีขั้นตอนในการสร้างองค์กรคุณธรรม คือ 1) ต้องมาจากความเห็นพ้องต้องกันของทุกคนและทุกภาคในองค์กร 2) ต้องกำหนดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นในองค์กร 3) ต้องขจัดพฤติกรรมเหล่านั้นให้หมดไปจากองค์กรในระยะ 1 ปี 4) ต้องกำหนดหลักคุณธรรมที่ใช้ลดพฤติกรรมไม่พึงประสงค์ และ 5) ต้องกำหนดนโยบายและแนวทางปฏิบัติเพื่อเพิ่มพฤติกรรมที่พึงประสงค์ โดยท่านองคมนตรีได้ฝากข้อคิดให้กับผู้บริหารและพนักงาน คปภ. ให้ยึดหลักปฏิบัติทั้งหน้าที่ของตนเองและการเป็นพลเมืองที่ดีด้วยคุณธรรม หากทุกคนปฏิบัติได้เช่นนั้น ประเทศชาติจะมีแต่คนดีและมีคุณธรรม ส่วนอาจารย์ปราโมทย์ โชติมงคล ผู้อำนวยการศูนย์โรงเรียนคุณธรรม มูลนิธิยุวสถิรคุณ ได้กล่าวถึงเคล็ดลับสู่ความสำเร็จของการสร้างองค์กรคุณธรรมว่า ทุกคนต้องมีส่วนร่วมในการทำด้วยความสมัครใจ มีกระบวนการที่ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมไม่พึงประสงค์จากระดับล่างขึ้นสู่ระดับบน โดยมีผู้นำเป็นต้นแบบ ซึ่งถ้าทำอย่างสม่ำเสมอต่อเนื่องก็จะทำให้ทุกคนในองค์กร มีความสุขกับการทำงาน
เลขาธิการ คปภ. กล่าวเพิ่มเติมว่า ปัจจุบันคำว่าองค์กรคุณธรรม กำลังเป็นที่กล่าวถึงกันมากทุกภาคส่วน เพราะสังคมไทยวันนี้มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว รอบด้าน การพัฒนาประเทศชาติจึงมุ่งเน้นความเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตและสังคม ดังนั้นการให้ความสำคัญกับการสร้างคุณธรรมจริยธรรม จึงเป็นเรื่องที่ทุกหน่วยงานต้องร่วมมือกันขานรับนโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมคุณธรรมในระดับองค์กร เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่ทุกระดับในองค์กรมีส่วนร่วม และสร้างวัฒนธรรมการทำงานที่โปร่งใส ซื่อสัตย์ และมีคุณธรรม
สำนักงาน คปภ. ในฐานะที่เป็นหน่วยงานของรัฐ มีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งในการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย และการคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของผู้เอาประกันภัยและประชาชนให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์สูงสุดแก่สังคมและประเทศชาติ ธำรงไว้ซึ่งความเป็นกลางและความเที่ยงธรรม ยึดหลักธรรมาภิบาล โดยตระหนักถึงความสำคัญของการส่งเสริมคุณธรรม พร้อมจะเป็นเครือข่ายความร่วมมือในการส่งเสริมคุณธรรมให้กับประชาชน จึงได้ขับเคลื่อนโครงการ "คปภ. คุณธรรม" เพื่อส่งเสริมให้ผู้บริหารและพนักงาน สำนักงาน คปภ. มีคุณธรรมและความซื่อสัตย์สุจริตในการปฏิบัติงาน ยึดมั่นคุณธรรม 4 ประการคือ "พอเพียง วินัย สุจริต อาสา" ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ในพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร
นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. ยังมีแนวทางปฏิบัติด้านจริยธรรมและจรรยาบรรณของพนักงาน คปภ. เพื่อให้พนักงานยึดถือและปฏิบัติให้ถูกต้องตามหลักจริยธรรมด้วยความเสมอภาค เป็นธรรม โปร่งใส โดยยึดหลักธรรมาภิบาลและความถูกต้องชัดเจนในการดำเนินงาน เพื่อนำพาอุตสาหกรรมประกันภัยไปสู่การเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน และยังได้กำหนดหลักธรรมาภิบาล (Good Corporate Governance) ให้บริษัทประกันภัยมีระบบการบริหารจัดการที่ดีและให้การบริการที่มีคุณภาพ เพื่อสร้างความเชื่อมั่นไว้วางใจจากประชาชนให้กับธุรกิจประกันภัย ซึ่งการดำเนินการต่อไปสำนักงาน คปภ. จะจัด Workshop โดยเริ่มจากส่วนกลาง ระดับสายงานร่วมระดมความคิดเห็นต่อพฤติกรรมที่ไม่พึงประสงค์ที่ต้องการจะลด และพฤติกรรมที่พึงประสงค์ที่ต้องการให้เกิดขึ้นในสายงาน และรวบรวม วิเคราะห์ ก่อนนำมากำหนดคุณธรรมหลัก รวมถึงแนวทางปฏิบัติที่จะดำเนินการในระยะเวลา 1 ปี จากนั้นจะดำเนินการในส่วนภูมิภาคต่อไป
เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้ายว่า "สำนักงาน คปภ. ตระหนักถึงความสำคัญของธรรมาภิบาล (Good Corporate Governance) เพื่อนำองค์กรไปสู่การเติบโตอย่างสมดุลและยั่งยืน ทั้งยังเสริมสร้างความเชื่อมั่นและความน่าเชื่อถือต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย โดยได้จัดทำแนวทางธรรมาภิบาลของสำนักงาน คปภ. ซึ่งมีความเข้มงวดไม่น้อยไปกว่ามาตรฐานธรรมาภิบาลสากลขององค์กรเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organization for Economic Co-operation and Development : OECD) และมาตรฐานการกำกับดูแลธุรกิจประกันภัย (Insurance Core Principles : ICP) ซึ่งกำหนดโดยสมาคมผู้กำกับดูแลธุรกิจประกันภัยนานาชาติ (International Association of Insurance Supervisors : IAIS) และมีความเข้มข้นไม่น้อยไปกว่ามาตรฐานธรรมาภิบาลที่ได้กำหนดให้ผู้อยู่ใต้การกำกับดูแลถือปฏิบัติ"