กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--ศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ
ฝีมืองานหัตถศิลป์จักสานไม้ไผ่มีมาเนิ่นนาน เห็นมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย เป็นของใช้ภายในครัวเรือน นานับชนิดควบคู่กับชีวิตวิถีไทย และเห็นได้มากในพื้นบ้านชนบท เช่น กระโด่ง กระบุง กระจาดใส่ของ กระติ๊บใส่ข้าวเหนียว เอกลักษณ์ไทยที่จับต้องได้ง่ายเหล่านี้ กลับกลายเป็นเครื่องมืออุปกรณ์ใกล้ตัวที่ช่วยบำบัดป้องกันโรคได้อย่างดีเยี่ยม
ผศ. วาสนา สายมา เจ้าของแบรนด์ "วาสนา" มาลัยพู่กลิ่นจากตอกไม้ไผ่ กล่าวว่า หลังจากได้เป็นสมาชิกศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) หรือ SACICT ในปีนี้ SACICT ได้คัดเลือกให้เข้ามาร่วมออกบูทในงาน SACICT เพลิน Craft 2561 งานแสดงสินค้าหัตถศิลป์ที่สำคัญอีกงานหนึ่งของ SACICT ซึ่งมิใช่ว่างานหัตถศิลป์ทุกชิ้นจะสามารถได้เข้ามาร่วมออกบูทกับ SACICT ได้ง่ายดายนัก งานประดิษฐ์จักสานที่นำมาออกงานนี้ เป็นงานฝีมือที่ต้องใช้ความประณีต ละเอียดอ่อน งานแต่ละชิ้นกว่าจะสำเร็จได้ต้องใช้เวลานาน คนที่เก่งแล้วอย่างน้อยประมาณ 4 วัน คนที่ยังไม่คล่องก็ใช้เวลาประมาณ 7-8 วันต่อชิ้น จึงรู้สึกยินดี คุ้มค่าและภูมิใจมากกับความมุ่งมั่นทำงานจักสานไม้ไผ่ที่คิดสร้างสรรค์ออกมาเป็น มาลัย พู่กลิ่น อุบะ ชนิดต่างๆ ที่ทำมาจากตอกไม้ไผ่ ซึ่งเป็นงานที่รัก ชื่นชอบ ได้เห็นและสัมผัสอยู่ในสายเลือดตลอดมาตั้งแต่ยังเด็กๆ ที่คุณยายชอบสานเสื่อกก ตะกร้าไม้ไผ่ใช้เอง ใช้กระเป๋าสาน
"งานร้อยมาลัย พู่กลิ่น อุบะ เป็นงานใช้ประดับบ้านเรือน ใช้ตกแต่งตามงานพิธีมงคลและพิธีสำคัญๆ ต่างๆ ส่วนใหญ่จะใช้ร้อยจากดอกไม้สด แต่เราได้ริเริ่มคิดรังสรรค์ออกมาเป็นมาลัยแบบใหม่ขึ้นจากตอกไม้ไผ่ที่ให้ความแตกต่างจากเดิม มีความคงทนอยู่ได้นานกว่า ให้คุณค่าความเป็นธรรมชาติ และความสวยงดงามตาไม่แพ้กัน โดยประยุกต์ขึ้นมาจากภูมิปัญญาชาวบ้านดั้งเดิมที่มีอยู่แล้ว เริ่มมาตั้งแต่ตอนอายุ 25-26 ปี เรื่อยมา ด้วยความที่เป็นครูสอนงานหัตถกรรมอยู่แล้ว จึงนำมาทำการศึกษา วิจัย ออกแบบ คิดค้นวิธีการประดิษฐ์ลวดลายแบบใหม่ๆ ด้วยการใช้ความประณีตของตอกไม้ไผ่จากพื้นบ้านที่มีจำนวนมากทางภาคเหนือ มาประดิดประดอยเป็นงานนวัตหัตถศิลป์ที่สวยงดงามขึ้นจากฝีมือล้วนๆ" ผศ. วาสนา กล่าว
วาสนา กล่าวอีกว่า ร้อยมาลัยจากตอกไม้ไผ่เป็นงานจักสานเครื่องประดับแบบไทยๆ ที่เป็นเอกลักษณ์ของไทย ใช้เป็นเครื่องสูง เครื่องบูชา ชนิดต่างๆ ในงานพิธีไทยโบราณ ดังกล่าวนี้ เป็นงานที่ได้ต่อยอดจากงานจักสานไม้ไผ่ทั่วไปภูมิปัญญาพื้นบ้านดั้งเดิมให้กลับคืนความเป็นเอกลักษณ์แบบไทยที่หยิบจับต้องได้ง่ายๆ โดยการจักสานออกมาเป็นตอกไผ่แต่ละเส้นมาร้อยเรียงเป็น ดอกมะลิ ดอกจำปี ดอกพิกุล ดอกรัก ดอกไม้ต่างๆ เชื่อมเรียงต่อกัน จับรวมมัดเป็นพู่ลงตัวอย่างเป็นระเบียบสวยงาม ใช้วิธีการทำลายเชื้อราแบบภูมิปัญญาสมัยโบราณด้วยวิธีการแช่น้ำส้ม ตากแห้ง ต้มเพื่อขจัดแป้ง เป็นต้น สร้างขึ้นมาจนเป็นแบรนด์ "วาสนา" เป็นของตนเองจนถึงปัจจุบัน
การพัฒนาต่อยอดคุณค่างานหัตถศิลป์กับ SACICT นี้มิได้หยุดนิ่ง หลังจากมีแบรนด์เป็นของตนเองแล้ว "วาสนา" บอกอีกว่า 5-6 ปีที่ผ่านมานี้ ยังได้ลงพื้นที่เข้าไปอบรม สอนวิธีการออกแบบเพื่อลดขึ้นตอนการประดิษฐ์ให้น้อยลง รวมกลุ่มชุมชนพัฒนา จนเกิดเป็นเครือข่ายในภาคเหนือ 9 ชุมชน แหล่งที่มีต้นไม้ไผ่ขึ้นตามธรรมชาติ มีลวดลายสวยงาม หลากหลายชนิดเป็นจำนวนมาก ใน จ. พะเยา จ. เชียงราย จ. ลำพูน จ. เชียงใหม่ ที่ อ. แม่ริม อ. สารภี อ. แม่แตง อ.สันป่าตอง อ.ชัยปราการ อ. เชียงดาว สอนวิธีการประดิษฐ์และสร้างงานจักสานไม้ไผ่เป็นดอกไม้ชนิดต่างๆ เพื่อนำมาร้อยเป็นมาลัย อุบะ พู่กลิ่น เครื่องแขวนประดับ ในรูปแบบต่างๆ รวมแล้วกว่า 20 แบบ ชุมชนหนึ่งจะผลิตได้ไม่ต่ำกว่าหนึ่งหมื่นดอก ก่อให้เกิดรายได้อย่างน้อย 170-200 บาทต่อคนต่อวัน
"ที่สำคัญคุณค่าของงานหัตถศิลป์นี้ คือ นอกจากการสร้างรายได้ให้กับชุมชนแล้ว ยังทำให้ผู้สูงวัยที่อยู่ในชุมชน รู้สึกว่าตนเองมีคุณค่ามากขึ้น บางคนที่ต้องอยู่อย่างเดียวดาย ห่างไกลลูก ห่างไกลหลาน มาดูแลอย่างใกล้ชิด ทำให้เกิดความสัมพันธ์เชื่อมโยงระหว่างวัยผู้หนุ่ม ผู้สาวกับผู้แก่ ผู้แก่กับผู้แก่ด้วยกัน ไม่ต้องเงียบเหงา สนุกสนาน ได้พูดคุยกัน ได้ทำกิจกรรมร่วมกัน ไม่ฟุ้งรอคอยคิดถึงลูกหลาน จิตใจเบิกบาน เกิดความผ่อนคลาย ได้ฝึกคิดจดจำวิธีการทำซ้ำๆ ในการประดิษฐ์ร้อยจักตอกไผ่ขึ้นรูปเป็นดอกไม้ชนิดต่างๆ สร้างคุณค่าอย่างสวยงาม เกิดเป็นสมาธิภายในจิต บริหารกล้ามเนื้อมือ ที่มีผลช่วยให้ผู้สูงวัยในชุมชนไม่หลงลืมง่าย และป้องกันการเกิดโรคอัลไซเมอร์ นับเป็นนวัตหัตถศิลป์บำบัดได้อีกหนึ่งด้วย" เจ้าของแบรนด์วาสนากล่าวย้ำ
ปัจจุบัน "วาสนา" ในวัย 58 ปี ยังเป็นอาจารย์สอน หลักสูตรออกแบบอุตสาหกรรม คณะศิลปกรรมและสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนาอีกด้วย ที่ผ่านมาเคยคิดสร้างสรรค์งานจักสานตอกไม้ไผ่ เป็นโคมไฟรังนก จนได้รับรางวัล Innovative Craft Award 2012 ของ SACICT ในประเภทประชาชนทั่วไป