กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
นายสุทธิ สุโกศล อธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน (กพร.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากการที่ กพร. ได้ดำเนินการโครงการเพิ่มศักยภาพผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนสวัสดิการแห่งรัฐ เพื่อสร้างงาน สร้างอาชีพ เพิ่มรายได้ และความมั่นคงในชีวิต ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2560 – 2564) ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคเท่าเทียมทางสังคม ที่มุ่งเป้า ฝึกอาชีพผู้มีรายได้น้อยที่ลงทะเบียนกว่า 6 แสนราย พลตำรวจเอก อดุลย์ แสงสิงแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ได้กำชับให้ดำเนินการในโครงการดังกล่าวอย่างมีเป้าหมายชัดเจน และมีแนวทางการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้มีรายได้น้อยอย่างครอบคลุมทั่วถึง เน้นความโปร่งใส ตรวจสอบได้ และต้องยกระดับการฝึกทักษะฝีมือแรงงานให้เพิ่มขึ้น เพื่อนำประเทศชาติสู่ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน
นายเฉลิมพงษ์ บุญรอด ผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาฝีมือแรงงาน 9 พิษณุโลก (สพร.9 พิษณุโลก) กล่าวต่อไปว่า สพร. 9 พิษณุโลก ได้ดำเนินการตามขั้นตอนแบบประชารัฐโดย สพร.9 พิษณุโลก ร่วมกับจังหวัด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ แรงงานจังหวัด ส่วนราชการ องค์กร ผู้นำท้องถิ่น ภาคประชาสังคม ดำเนินการฝึกอาชีพ เป้าหมาย 5,102 คน แบ่งเป็น 2 กิจกรรม ได้แก่ กิจกรรมการส่งเสริมและฝึกอาชีพหลักสูตรฝึกอาชีพเร่งด่วนช่างอเนกประสงค์ เป้าหมาย 259 คน และกิจกรรมการฝึกอาชีพเสริมเพื่อการมีงานทำหรือการประกอบอาชีพอิสระ เป้าหมาย 4,843 คน ซึ่งอยู่ระหว่างการฝึกอาชีพ (วันที่ 6 – 15 มิถุนายน 2561) จำนวน 3 รุ่น รุ่นละ 20 คน ได้แก่ การตรวจซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า การซ่อมประปาและสุขภัณฑ์ การซ่อมผนังและกระเบื้อง โดยการฝึกอาชีพนั้นจะใช้วิธีหมุนเวียนในแต่ละสาขาช่าง จนครบทุกสาขา ซึ่งในกิจกรรมแรกจะมอบเครื่องมือประกอบอาชีพให้แก่ผู้สำเร็จการฝึกด้วย เป็นการสนับสนุนให้ผู้มีรายได้น้อยมีอาชีพอย่างต่อเนื่องหลังจบการฝึก ทั้งนี้ปรารถนาให้ผู้เข้ารับการฝึกอาชีพได้รับความรู้ สามารถปฏิบัติงานที่เกี่ยวกับการซ่อมบำรุงที่พักอาศัย อาทิ การตรวจซ่อมอุปกรณ์ไฟฟ้า การซ่อมประปา การซ่อมผนังและกระเบื้อง และงานอื่นๆ ได้ เป็นต้น
นายไพทูล สีพิมพ์ (ทูน) อายุ 44 ปี อาชีพรับจ้างก่อสร้างทั่วไปในจังหวัดพิษณุโลกและจังหวัดใกล้เคียง บอกว่าได้ลงทะเบียนสมัครฝึกทักษะอาชีพผู้มีรายได้น้อย กิจกรรมการส่งเสริมและฝึกอาชีพ หลักสูตรฝึกอาชีพเร่งด่วนช่างอเนกประสงค์ (ช่างชุมชน) สาขาซ่อมผนังและกระเบื้อง มีความรู้สึกยินดีอย่างมากที่ได้เข้าร่วมฝึกอาชีพในโครงการนี้ ซึ่งจากเดิมตนมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับงานก่อสร้างมาบ้างพอสมควร แต่สนใจอยากมีความรู้ และทักษะเพิ่มเติม เพื่อให้มีความชำนาญในประกอบอาชีพก่อสร้างได้ดียิ่งขึ้น และมองว่าการเรียนรู้เป็นประสบการณ์ที่มีค่ามากที่สุด ไม่มีใครแก่เกินเรียน เพราะความรู้นั้นสามารถช่วยให้เราหาเลี้ยงชีพตนเองได้ไม่อดตาย ซึ่งเดิมรับจ้างทั่วไปหางานค่อนข้างยาก และไม่ได้มีงานให้ทำประจำทุกวัน อีกทั้งทูนไม่ได้เรียนจบสูง จึงไม่มีโอกาสในการเลือกงานได้ นับว่าเป็นโอกาสที่ดีและเหมาะสมที่สุดที่จะได้ฝึกอาชีพในโครงการนี้ คาดหวังว่าเมื่อฝึกจบแล้วสามารถประกอบอาชีพเลี้ยงตนเองได้อย่างแน่นอน และมีความมั่นคงในชีวิตเพิ่มมากขึ้นด้วย