กรุงเทพฯ--6 มิ.ย.--มรภ.สงขลา
มรภ.สงขลา จับมือ สกว. ร่วมพัฒนาโจทย์วิจัยพื้นที่อุทยานธรณีโลก จ.สตูล กำหนด 4 ประเด็น คน ชุมชน เศรษฐกิจ ทรัพยากร สนองความต้องการของท้องถิ่น เป็นกรอบการให้ทุน
ดร.บรรจง ทองสร้าง ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา (มรภ.สงขลา) เปิดเผยว่า เมื่อเร็วๆ นี้ มรภ.สงขลาร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดประชุมเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การพัฒนาโจทย์วิจัยในพื้นที่อุทยานธรณีโลก จ.สตูล" ณ ห้องประชุม วิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ มรภ.สงขลา วิทยาเขตสตูล และพื้นที่อุทยานธรณีโลก อ.เมือง อ.มะนัง อ.ละงู และ อ.ทุ่งหว้า เพื่อสนับสนุนการให้ทุนวิจัยแก่นักวิจัยจากหน่วยงานต่างๆ อย่าง สกว. มรภ.สงขลา วิทยาลัยนวัตกรรมและการจัดการ วิทยาเขตสตูล หน่วยงานราชการ นักวิชาการและผู้สนใจทั่วไป รวมกว่า 200 คน ซึ่งในการประชุมครั้งนี้เป็นการระดมสมอง วิเคราะห์ความเป็นไปได้ และศึกษาแนวทางขับเคลื่อนงานวิจัยในพื้นที่อุทยานธรณีโลก จ.สตูล ตลอดจนลงพื้นที่แหล่งธรณีศึกษาเขาน้อย ต.กำแพง แหล่งธรณีศึกษา เขาโต๊ะสามยอด แหล่งธรณีศึกษาทวดบุญส่ง ผู้สร้างออกซิเจนให้กับโลกในยุคแรก แหล่งสโตรมาโตไลท์ คลองห้วยบ้า ต.นาทอน อ.ทุ่งหว้า พิพิธภัณฑ์อุทยานธรณีสตูล เขตข้ามกาลเวลา การเปลี่ยนผ่านของยุคทางธรณี และ กลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนผ้ามัดย้อมลายซากฟอสซิลดึกดำบรรพ์ เพื่อค้นหาโจทย์วิจัย ส่งผลให้เกิดโจทย์วิจัย 4 ประเด็น คือ คน ชุมชน เศรษฐกิจ และ ทรัพยากร โดย สกว. จะนำหัวข้อดังกล่าวมากำหนดกรอบการให้ทุนวิจัยพัฒนาพื้นที่
ดร.บรรจง กล่าวว่า มรภ.สงขลา บริหารจัดการโดยยึดพันธกิจหลัก 4 พันธกิจ หนึ่งในนั้นคือวิจัยและพัฒนา เพื่อสร้างองค์ความรู้ให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของท้องถิ่น โดยสนับสนุนการดำเนินงานวิจัยและบริการวิชาการทุกรูปแบบ เพื่อแก้ปัญหาและพัฒนาท้องถิ่นสู่ความเข้มแข็งอย่างยั่งยืนในพื้นที่รับผิดชอบของมหาวิทยาลัย ครอบคลุมพื้นที่ จ.สงขลา พัทลุง และ สตูล ซึ่งการทำวิจัยและบริการวิชาการที่จะส่งเสริมการพัฒนาท้องถิ่นนั้น ขั้นตอนสำคัญที่เป็นหัวใจของงานคือการค้นหาโจทย์วิจัยและความต้องการจากท้องถิ่น อาจกล่าวได้ว่าเป็นตัวกำหนดว่างานวิจัยและโครงการบริการวิชาการจะมีทิศทางแบบไหน เกิดผลกระทบอย่างไร และมากน้อยเพียงใด ดังนั้น งานวิจัยและการบริการวิชาการจะให้ความสำคัญกับขั้นตอนนี้ และมีหลักการหรือฐานคิดคือ การมีส่วนร่วมจากชุมชนในท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้ที่รับประโยชน์โดยตรง
"สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ โจทย์วิจัยและโครงการบริการวิชาการต้องมาจากปัญหาและความต้องการของชุมชนอย่างแท้จริง ต้องมีความเป็นไปได้ที่จะประสบผลสำเร็จ ต้องยกระดับทักษะการแก้ปัญหาของชุมชนผ่านการศึกษาค้นคว้าข้อมูล ทุกคนที่เข้าร่วมมีความเข้าใจต่อโจทย์วิจัยและโครงการบริการวิชาการอย่างชัดเจน เพื่อให้ได้งานวิจัยที่สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ มรภ.สงขลา ในการเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำเพื่อพัฒนาท้องถิ่นภาคใต้สู่สากล" ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนา กล่าวและว่า
ประกอบกับการลงนามความร่วมมือทางวิชาการระหว่างมหาวิทยาลัยกับอุทยานธรณีสตูล เพื่อดำเนินงานศึกษาวิจัย ฝึกอบรม ส่งเสริม เผยแพร่ พัฒนาบุคลากรด้านการท่องเทียว ศิลปวัฒนธรรมและอนุรักษ์ซากดึกดำบรรพ์ในเขตพื้นที่อุทยานธรณีสตูล และบันทึกข้อตกลงความร่วมมือเครือข่ายการวิจัยเพื่อพัฒนาภาคใต้ เพื่อพัฒนางานวิจัยของพื้นที่ภาคใต้ ตลอดจนสนับสนุนการดำเนินการพัฒนาและขับเคลื่อนการดำเนินงานอุทยานธรณีโลก จ.สตูล ที่ได้รับการประกาศจากยูเนสโกเมื่อวันที่ 17 เมษายน 2561 ให้เป็นอุทยานธรณีโลกแห่งแรกของประเทศไทย ได้รับการพัฒนาสู่สากลอย่างเป็นระบบ บนพื้นฐานองค์ความรู้จากการศึกษาวิจัย ดังนั้น สถาบันวิจัยและพัฒนา จึงได้จัดประชุมในครั้งนี้ขึ้น โดยความร่วมมือกับเครือข่ายการวิจัยเพื่อพัฒนาภาคใต้ เครือข่ายอุดมศึกษาภาคใต้ตอนล่าง ส่วนราชการใน จ.สตูล และ สกว. ในฐานะแหล่งทุนที่สนับสนุนการศึกษาวิจัย เพื่อให้ได้โจทย์วิจัยที่กำกับด้วยหลักการสำคัญ 4 ประการข้างต้น