กรุงเทพฯ--29 พ.ย.--วว.
ลูกไก่แรกเกิดจนถึงอายุ 8 วัน มีความเสี่ยงสูงมากต่อการติดเชื้อแซลโมเนลลาหรือแบคทีเรียก่อโรค เนื่องจากลำไส้ของลูกไก่ยังไม่มีเชื้อประจำถิ่น (normal flora) และระบบภูมิคุ้มกันของลูกไก่ยังพัฒนาไม่สมบูรณ์ ดังนั้นการให้ผลิตภัณฑ์ Competitive Exclusion แก่ลูกไก่ จึงเป็นการเร่งให้ลูกไก่มีเชื้อประจำถิ่นในลำไส้เร็วขึ้น ซึ่งเชื้อเหล่านี้จะเข้ายึดครองพื้นผิวของผนังลำไส้ ทำให้เชื้อก่อโรคไม่สามารถเข้ายึดเกาะผนังลำไส้ได้ ส่งผลให้เชื้อก่อโรคไม่สามารถก่อให้เกิดการติดเชื้อและถูกขับออกจากตัวไก่ นอกจากนี้เชื้อในผลิตภัณฑ์ Competitive Exclusion ยังสามารถสร้าง กรดไขมันระเหยได้(volatile fatty acid) ที่มีฤทธิ์ต้านเชื้อแบคทีเรียก่อโรคด้วย ดังนั้นผลิตภัณฑ์ Competitive Exclusion จะช่วยป้องกันลูกไก่จากการติดเชื้อจากสภาพแวดล้อมได้ดี
สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) โดยฝ่ายเทคโนโลยีชีวภาพ ประสบความสำเร็จในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ Competitive Exclusion โดยได้นำเชื้อประจำถิ่นที่แยกจากลำไส้ไก่ที่มีสุขภาพดี ซึ่งได้จากไก่ตามฟาร์มที่เลี้ยงในภาคต่างๆ ของประเทศ แล้วนำมาแยกจนได้กลุ่มเชื้อบริสุทธิ์ โดยใช้ถังปฏิกรณ์ชีวภาพสำหรับเพิ่มจำนวนเชื้อที่ต้องการ ภายใต้สภาวะที่มีการควบคุมปริมาณออกซิเจนและไนโตรเจนให้เหมาะสมต่อการเจริญของเชื้อ และเมื่อทำการทดสอบในห้องทดลอง พบว่ามีประสิทธิภาพในการต้านเชื้อ Escherichia coli, Salmonella Typhimurium, S. Enteritidis, Campylobacter jejunii และ Clostridium perfringens ได้เป็นอย่างดี
วว.ได้พัฒนาผลิตภัณฑ์ Competitive Exclusion มี 2 รูปแบบ คือ
1. ผลิตภัณฑ์ Competitive Exclusion แบบผง
2. ผลิตภัณฑ์ Competitive Exclusion แบบน้ำ
ผลิตภัณฑ์ทั้ง 2 รูปแบบจะมีองค์ประกอบหลัก เป็นกลุ่มเชื้อที่ทราบองค์ประกอบที่แน่นอน ผสมกับสาร prebiotics เพื่อช่วยเร่งการเจริญของเชื้อในลำไส้ของลูกไก่
สำหรับการศึกษาเบื้องต้นถึงประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ในการป้องกันการติดเชื้อ S. Enteritidis ในลูกไก่ SPF จำนวน 300 ตัว ในระดับห้องปฏิบัติการ พบว่า ผลิตภัณฑ์มีประสิทธิภาพที่จะป้องกันไม่ให้ลูกไก่ติดเชื้อ S. Enteritidis ได้ดีกว่ากลุ่มควบคุมที่ไม่ได้รับผลิตภัณฑ์ 50-80% ของจำนวนไก่ทดลอง เมื่อมีการให้เชื้อ S. Enteritidis แก่ไก่ในปริมาณ 104 - 106 cfu ต่อตัว
นอกจากนี้จากการศึกษาประสิทธิภาพของผลิตภัณฑ์ Competitive Exclusion ในด้านของการเป็นสารเร่งการเจริญ (feed additive) พบว่า ไก่ที่ได้รับผลิตภัณฑ์ Competitive Exclusion มีผลการเลี้ยงที่ดีกว่ากลุ่มควบคุม ทั้งในเรื่องของน้ำหนักตัว อัตราการแลกเนื้อ และค่าดัชนีผลการเลี้ยง การประเมินผลกำไรต่อตัวสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ได้รับผลิตภัณฑ์เท่ากับ 1.65 บาท
ขณะนี้ วว.กำลังดำเนินการทดลองเพื่อยืนยันประสิทธิภาพการป้องกันการติดเชื้อแซลโมเนลลาของลูกไก่ในระดับฟาร์ม รวมทั้งการศึกษาความคงตัวของผลิตภัณฑ์ในสภาวะต่างๆ คาดว่าจะต้องใช้เวลาในการทดลองไม่ต่ำกว่า 6 — 12 เดือน
สนใจสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นางจารุวรรณ สิทธิผล ฝ่ายเทคโนโลยีชีวภาพ วว.โทร. 02577 9054 ในวันและเวลาราชการ