กรุงเทพฯ--7 มิ.ย.--มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
รังผึ้งอัจฉริยะ (Smart Hive) รู้ภาษาผึ้ง แจ้งเตือนความผิดปกติในรังผึ้งก่อน ทำให้สามารถแก้ไขได้ทันเวลา ก่อนเกิดความเสียหาย ทำให้การเลี้ยงผึ้ง ง่ายและสะดวกขึ้นกว่าเดิม ลดเวลาทำงาน ลดการรบกวนรังผึ้ง เมื่อเกิดปัญหาในรัง แจ้งเตือนทันที ทำให้สามารถเข้าไปแก้ไขได้รวดเร็ว ลดการขาดทุน ผลผลิตและรายได้เพิ่มให้เกษตรกร
"ผึ้ง" มีบทบาทสำคัญในการผสมเกสรทางธรรมชาติ หากไม่มีผึ้งจะทำให้อาหารของมนุษย์หนึ่งในสามจะหายไป รวมทั้งพืชพรรณธรรมชาติกว่าร้อยละ 80 ส่งผลกระทบต่อการเกษตร เศรษฐกิจด้านมูลค่าการส่งออก ตั้งแต่ปี 2006 ปัญหาที่เกิดขึ้นของเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งทั้งในไทยและต่างประเทศ คือ ปรากฏการณ์การล่มสลายของผึ้ง (Colony Collapse Disorder) หรือโรคตายทั้งรังแบบไม่ทราบสาเหตุ โดยผู้เลี้ยงผึ้งสูญเสียผึ้งเลี้ยงกว่าร้อยละ 30 ในทุกๆปี ส่งผลต่อการลดจำนวนประชากรของผึ้งเป็นจำนวนมากซึ่งแน่นอนย่อมส่งผลต่อระบบนิเวศและเศรษฐกิจ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ยังไม่ทราบสาเหตุของเหตุการณ์นี้ที่แน่ชัด โดยอาจเกิดจากสภาวะแวดล้อม, โรคภัย หรือสารเคมี โดยปัญหานี้ได้จุดประกายความคิดและสร้างความท้าทายให้กับ ทีม Bee Connex ประกอบด้วย นายบุญฤทธิ์ บุญมาเรือง นายทิติยะ ตรีทิพไกวัลพร นายวัชริศ บุญยิ่ง และนายพีรกิตติ์ บุญกิตติ นักศึกษาภาควิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) เลือกเป็นโจทย์ใน Senior Project โดยการนำเทคโนโลยีการสื่อสารในทุกสรรพสิ่ง (Internet of Things-IoT)และการเรียนรู้ของเครื่องจักร(Machine Learning) คิดค้นระบบรังผึ้งอัจฉริยะ (Smart Hive) วิเคราะห์เสียงผึ้งเมื่อพบสัญญาณที่ผิดปกติ ระบบจะส่งข้อความเตือนผู้เลี้ยงผ่านแดชบอร์ดและไลน์แอพพลิเคชั่น(Line Application) โดยทีมคว้ารางวัลรางวัลชนะเลิศ การแข่งขันอิมเมจิ้นคัพประเทศไทย และล่าสุดสร้างชื่อให้ประเทศได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 การแข่งขันระดับภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 2018 เป็นตัวแทนภูมิภาคไปแข่งขันชิงถ้วยอิมเมจิ้นคัพระดับโลก ณ กรุงซีแอตเทิล สหรัฐอเมริกา
บุญฤทธิ์ เล่าว่า ปัจจุบันวิธีดูแลผึ้งใช้คนในสัดส่วน 300 กล่องต่อคน ใช้เวลา 10-20 นาทีต่อกล่อง ในการตรวจดูกล่องรังผึ้งจะต้องใช้ควันเป่าผึ้งและตรวจดูรวงรัง ซึ่งมีประมาณ 8-12 รวงรังต่อกล่อง ทำให้การดูแลและป้องกันศัตรูทางธรรมชาติที่จะสร้างความเสียหายต่อรังผึ้งทำได้ยาก ใช้เวลาและรบกวนผึ้งมาก จึงคิดแก้ปัญหาโดยใช้ระบบ IoT มาวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อใช้ในการดูแลกล่องรังผึ้ง ระบบจะแจ้งเตือนทันทีหากพบสัญญาณที่ผิดปกติที่เกิดขึ้นในรังผึ้ง โครงการเริ่มต้นจากสอบถามปัญหากับเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งหลายๆ แห่งในไทยและเริ่มทดสอบพัฒนาระบบในพื้นที่แล็บวิจัยผึ้งพื้นเมือง มจธ. วิทยาเขตราชบุรี พบว่าผึ้งสามารถสื่อสารหากันภายในโดยการเต้นรำ เสียง หรือการใช้ฟีโรโมน โดยมี ผศ.ดร.อรวรรณ ดวงภักดี หัวหน้าศูนย์วิจัยผึ้งพื้นเมือง มจธ. วิทยาเขตราชบุรี เป็นที่ปรึกษา จากการศึกษาพบว่า การใช้เสียงของผึ้งมีการใช้เสียงที่มีลักษณะเฉพาะในแต่ละพฤติกรรมของผึ้ง จึงเลือกเก็บเสียงของผึ้งเพื่อเป็นข้อมูลนำมาวิเคราะห์สถานการณ์ที่เกิดขึ้น ทำให้ทราบว่าผึ้งในรังเป็นอย่างไรโดยที่ไม่จำเป็นต้องเปิดกล่องดู ระบบสามารถตรวจจับสัญญาณผิดปกติในรังผึ้ง เช่น การรบกวนจากศัตรูธรรมชาติ คือ มดแดง ต่อ นกกินผึ้ง เป็นต้น โดยผึ้งจะส่งเสียงที่แสดงพฤติกรรมการเดือนเพื่อนร่วมรัง ตอบโต้กับศัตรูดังกล่าว ที่มีเอกลักษณ์เฉพาะชนิดของศัตรูเช่น เสียงขู่ มีลักษณะเสียงเหมือนคลื่นทะเล อยู่ช่วงความถี่ 300 - 3,600 เฮิร์ทซ์ และสัญญาณการหยุด (stop signal) เพื่อเตือนสมาชิกในรังถึงการรบกวนของศัตรูธรรมชาติ เมื่อแสดงเป็นSpectrogram จะเห็นเป็นเส้นแสดงความถี่สูงๆ เห็นได้ชัดเจนว่าภายในรังผึ้งต้องมีปัญหา ซึ่งระบบสามารถวิเคราะห์และแสดงผลได้ถูกต้องร้อยละ 80 โดยนำอุปกรณ์ IoT ไปติดตั้งเข้าภายในกล่องเลี้ยงผึ้ง เพื่อเก็บข้อมูล ภาพ เสียง อุณหภูมิ ความชื้น และน้ำหนัก เมื่อระบบเก็บข้อมูลและจะนำส่งไปยังระบบ Cloud ของตัวโมเดลที่สร้างขึ้น และทำการประมวลผล วิเคราะห์หาสัญญาณผิดปกติภายในกล่องเลี้ยงผึ้ง พร้อมทั้งสามารถส่งผลวิเคราะห์ไปยังผู้เลี้ยงผึ้งได้ 2 ช่องทาง คือ เว็บไซต์ และไลน์ เพื่อสะดวกในการดูข้อมูล ทำให้ผู้เลี้ยงสามารถดำเนินการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างทันที
บุญฤทธิ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างการพัฒนาต่อยอดผลงานไปสู่การเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ ที่จะมีประโยชน์ต่อการพัฒนาประเทศในยุคประเทศไทย 4.0 ได้อย่างเข้มแข็งต่อไป