กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์
ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับปัญหาสุนัข-แมวจรจัด โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,210 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 27 - 30 มีนาคม 2561 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่าประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้ต่อปัญหาสุนัข-แมวจรจัด เนื่องจาก ในปี 2560 มีผู้เสียชีวิตจากเชื้อพิษสุนัขบ้า 11 รายและในปี 2561 มีผู้เสียชีวิตจากเชื้อพิษสุนัขบ้าแล้ว 7 ราย และสำนักควบคุม ป้องกันและบำบัดโรคสัตว์ กรมปศุสัตว์ พบว่าพื้นที่ที่พบเชื้อพิษสุนัขบ้ามีมากถึง 40 จังหวัด รวมไปถึงกรุงเทพมหานครที่มีการตรวจพบสัตว์ติดเชื้อพิษสุนัขบ้าจำนวน 6 ตัว ทำให้เกิดความรู้สึกไม่ปลอดภัยเกี่ยวกับสุนัข-แมวจรจัด ซึ่งสาเหตุหลักในการแพร่เชื้อพิษสุนัขบ้าจากสัตว์เลี้ยงไปสู่คนมาจาก ปัญหาสุนัข-แมวจรจัดซึ่งมีการคาดการณ์จำนวนสุนัข-แมวจรจัดทั่วประเทศมีจำนวนมากกว่า 1 ล้านตัว หากมีการแก้ไขปัญหาสุนัข-แมวจรจัดก็จำทำให้ปัญหาเรื่องของเชื้อพิษสุนัขบ้า ลดลงได้ แต่กระบวนการในการแก้ไขปัญหาสุนัข-แมวจรจัดยังไม่สามารถทำให้มีการลดจำนวนสุนัข-แมวจรจัดได้ โดยกรุงเทพมหานครมีศูนย์พักพิงสุนัขจรจัด เขตประเวศ เพื่อเป็นใช้เป็นสถานที่เลี้ยงดูสุนัขและแมวจรจัด ซึ่งปัจจุบันมีจำนวนสุนัขจรจัดพักพิงในพื้นที่รวม ประมาณ 1,000 ตัว และมีแมวจรจัดรวมประมาณ 200 ตัว ซึ่งไม่เพียงพอต่อสุนัขและแมวจรจัดที่มีอยู่ในกรุงเทพมหานคร ในช่วงที่ผ่านมามีการถกเถียงในประเด็นปัญหาสุนัข-แมวจรจัด ว่าจะมีการแก้ไขอย่างไร โดยเฉพาะประเด็นเรื่องผู้เลี้ยงจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสัตว์เลี้ยงของตนเอง การขึ้นทะเบียนสุนัข-แมว การเก็บภาษีสัตว์เลี้ยง รวมไปถึงประเด็นการ เซตซีโร่ (SET ZERO) หรือแนวทางการจำกัดสุนัขจรจัดที่ไม่มีเจ้าของทิ้ง ความคิดเห็นของประชาชนต่อปัญหาสุนัข-แมวจรจัด โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าสุนัข-แมวจรจัดเป็นปัญหาสังคมที่ต้องเร่งแก้ไข ร้อยละ 61.8 และเคยพบเห็นสุนัข-แมวจรจัด ในบริเวณที่อยู่อาศัย ร้อยละ 68.9
คิดว่าสุนัข-แมวจรจัด จะเป็นอันตรายต่อตนเองและผู้อื่น ร้อยละ 52.6 และคิดว่าสุนัข-แมวจรจัด มีโอกาสในการแพร่เชื้อพิษสุนัขบ้า ร้อยละ 62.0
คิดว่าปัญหาสุนัข-แมวจรจัดเกิดจากความมักง่ายของผู้เลี้ยง ร้อยละ 68.4 และทราบว่าผู้ที่นำสัตว์เลี้ยงมาปล่อยทิ้งหรือไม่รักษาความสะอาด หรือปล่อยให้ก่อความเดือดร้อนรำคาญแก่ชุมชน ผู้เป็นเจ้าของจะถูกปรับ 5,000 บาท กฎหมาย ร้อยละ 48.3
คิดว่าการให้อาหารสุนัข-แมวจรจัดเป็นการทำให้ปัญหาสุนัข-แมวจรจัดเพิ่มมากขึ้น ร้อยละ 51.2 และอยากให้ผู้ที่ให้อาหารสุนัข-แมวจรจัด ที่ไม่ได้เลี้ยงดูอย่างใกล้ชิด หยุดพฤติกรรม ร้อยละ 49.7
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่อยากให้ผู้เลี้ยงสุนัข-แมวมีความรับผิดชอบในการดูแลไม่ปล่อยออกนอกบ้านโดยไม่มีผู้ดูแล ร้อยละ 65.8 และอยากให้หน่วยงานภาครัฐมีกระบวนการนำสุนัข-แมวจรจัดไปดูแลในสถานที่ที่เหมาะสม ร้อยละ 68.0
อยากให้กรุงเทพมหานครเป็นเมืองที่ปลอดจากสุนัข-แมวจรจัด เพื่อความปลอดภัยของประชาชน ร้อยละ 60.1 และอยากให้หน่วยงานภาครัฐเร่งรีบดำเนินการแก้ไขปัญหาสุนัข-แมวจรจัดให้ไม่มีในกรุงเทพมหานคร ร้อยละ 59.8
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เห็นด้วยในการที่หน่วยงานภาครัฐมีการขึ้นทะเบียนสุนัข-แมว โดยผู้เลี้ยงจะต้องมีความรับผิดชอบต่อสัตว์เลี้ยงของตนเอง ร้อยละ 69.5