กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์
ศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ สถาบันวิจัยและพัฒนา มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้ดำเนินโครงการสำรวจความคิดเห็นเกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงาน โดยเก็บจากกลุ่มตัวอย่างจากประชาชนที่อาศัยอยู่ในจังหวัดกรุงเทพมหานคร จำนวนทั้งสิ้น 1,174 กลุ่มตัวอย่าง เก็บข้อมูลในวันที่ 6 - 9 กุมภาพันธ์ 2561 ซึ่งกลุ่มตัวอย่างในการสำรวจครั้งนี้ใช้เกณฑ์ตารางสำเร็จรูปของ Taro Yamane กำหนดว่าประชากรเกิน 100,000 คนต้องการความเชื่อมั่น 95% และความผิดพลาดไม่เกิน 3% ต้องใช้กลุ่มตัวอย่างจำนวน 1,111 กลุ่มตัวอย่าง
ผู้ช่วยศาสตราจารย์สิงห์ สิงห์ขจร ประธานคณะกรรมการศูนย์สำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์ กล่าวว่า ผลการสำรวจในครั้งนี้ต่ออยากจะสะท้อนให้เห็นถึงปัญหาสังคมอีกมุมหนึ่งที่สังคมอาจจะไม่อยากรับรู้ ความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในสังคม แต่ปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบกับสังคม การมีเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงานมักไม่ได้คิดถึงผลที่จะเกิดตามมา การที่ไม่มีความพร้อม ทำให้เกิดปัญหาครอบครัวซึ่งนำไปสู่ปัญหาการหย่าร้าง การมีเพศสัมพันธ์อาจทำให้เกิดการติดเชื้อโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ ที่สำคัญคือ โรคเอดส์ และโรคในกลุ่มกามโรค ปัญหาสังคมในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงานส่งผลกระทบต่อขนบธรรมเนียม วัฒนธรรมอันดีของสังคมไทย โดยผลการสำรวจความคิดเห็นบ้านสมเด็จโพลล์เกี่ยวกับเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงาน โดยมีข้อมูลที่น่าสนใจดังต่อไปนี้
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าปัญหาการมีเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงาน เป็นปัญหาสังคม ร้อยละ 52.6 อันดับที่สองคือไม่ใช่ ร้อยละ 27.0 อันดับที่สามคือ ไม่แน่ใจ ร้อยละ 20.4 และคิดว่าสังคมไทยในปัจจุบันสามารถรับได้กับเรื่องของการมีเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงานร้อยละ 62.7 อันดับที่สองคือรับไม่ได้ ร้อยละ 19.6 และอันดับที่สามคือ ไม่แน่ใจ ร้อยละ 17.7
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าการมีเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงานเป็นเรื่องปกติ ร้อยละ 70.2อันดับที่สองคือไม่แน่ใจ ร้อยละ 15.7 และอันดับที่สามคือไม่ใช่ ร้อยละ 14.1 และอยากให้สังคมไทยมีการเปลี่ยนแปลงเกี่ยวกับความคิดเรื่องการมีเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงาน ร้อยละ 74.4 อันดับที่สองคือไม่แน่ใจ ร้อยละ 13.4 และอันดับที่สามคือไม่อยากให้ยอมรับ ร้อยละ 12.2
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่คิดว่าการป้องกันโรคติดต่อของการมีเพศสัมพันธ์วิธีที่ดีที่สุดคือใช้ถุงยางอนามัย ร้อยละ 78.3 อันดับที่สองคือเลือกคู่นอนที่รู้สึกปลอดภัย ร้อยละ 14.0 และอันดับที่สามคือไม่สนใจในการป้องกัน ร้อยละ 7.7 และคิดว่าการป้องกันการตั้งครรภ์วิธีที่ดีที่สุดคือใช้ถุงยางอนามัย ร้อยละ 65.0 อันดับที่สองคือทานยาคุมกำเนิด ร้อยละ 19.2 และอันดับที่สามคือหลั่งภายนอก ร้อยละ 15.8
กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่เคยมีเพศสัมพันธ์ก่อนการแต่งงาน ร้อยละ 67.9 อันดับที่สองคือไม่แน่ใจ ร้อยละ 20.9 และอันดับที่สามคือไม่เคย ร้อยละ 11.2 และมีเพศสัมพันธ์ครั้งแรกมากที่สุดคืออายุ 16 – 18 ปีร้อยละ 28.3 อันดับที่สองคืออายุ 19 – 20 ปี ร้อยละ 26.3 อันดับที่สามคืออายุมากกว่า 20 ปี ร้อยละ 15.8 อันดับที่สี่คืออายุ 12 – 15 ปีและไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ร้อยละ 13.6 และอันดับที่สุดท้ายคืออายุต่ำกว่า 12 ปี ร้อยละ 2.4
ในส่วนของการเคยมีเพศสัมพันธ์มาแล้ว 2 – 3 คน ร้อยละ 34.6 อันดับที่สองคือ 4 – 5 คน ร้อยละ 19.8 อันดับที่สามคือ 1 คนร้อยละ 17.0 อันดับที่สี่คือไม่เคยมีเพศสัมพันธ์ ร้อยละ 13.6 อันดับที่ห้าคือ 6 – 10 คน ร้อยละ 7.9 และอันดับที่สุดท้ายคือมากกว่า 10 คน ร้อยละ 7.1