กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--สกว.
ยางพาราถือเป็นพืชเศรษฐกิจที่สำคัญของภาคใต้ การเปลี่ยนสวนยางในพื้นที่จากพืชเชิงเดี่ยวให้มีความหลากหลายทางชีวภาพ ถือเป็นความท้าทายของนักวิจัย เพราะนอกจากการเปลี่ยนความคิดชาวสวนยางแล้ว สิ่งที่ต้องคำนึงถึงคือ หลักประกันความเสี่ยงเรื่องราคารายได้เสริมจากพืชอื่นและความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อม จากโจทย์ดังกล่าวจึงนำไปสู่งานวิจัยเกี่ยวกับ "นิเวศบริการและความหลากหลายทางชีวภาพที่กลับคืนมาในแปลงวนเกษตรยางพารา"
ดร.เชิดศักดิ์ เกื้อรักษ์ รองผู้อำนวยการวิทยาลัยภูมิปัญญาชุมชน นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยทักษิณ ซึ่งศึกษาเกี่ยวกับเรื่องนี้ กล่าวว่า งานวิจัยชุดนี้เป็นงานวิจัยย่อยของชุดโครงการหลัก "การบริหารจัดการน้ำแบบมีส่วนร่วมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตคนลุ่มน้ำอย่างยั่งยืน"ในพื้นที่เชิงเขาบรรทัด ตำบลเขาปู่ อำเภอศรีบรรพต จังหวัดพัทลุง สนับสนุนโดย สถาบันวิจัยและพัฒนาร่วมกับหน่วยบูรณาการวิจัยและความร่วมมือเพื่อพัฒนาเชิงพื้นที่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.)
แนวคิดแรกเริ่มในการทำงานวิจัยชุดนี้คือ "น้ำต้องคู่กับป่า" ประกอบกับวิถีชาวบ้านที่ประกอบอาชีพทำสวนยางพาราเป็นทุนเดิม ก่อนหน้านี้สวนยางพาราของชาวบ้านเป็นระบบการปลูกแบบพืชเชิงเดี่ยว โจทย์คือทำอย่างไรให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ในสวนยางและต้องแก้ปัญหาปากท้องของเกษตรกรชาวสวนยางควบคู่ไปด้วย
ดังนั้น แนวคิดการสร้างป่าในพื้นที่เกษตรโดยการทำวนเกษตรยางพารา ด้วยการนำนิเวศบริการ(Ecosystem Services) ที่เกิดขึ้นมาช่วยอธิบาย จึงเป็นแนวคิดที่ลงตัวที่สุด ด้วยเป็นงานบริการของธรรมชาติมักจะถูกมองข้ามอยู่เสมอ โดยเฉพาะในมุมมองของเกษตรกรที่เน้นทางด้านเศรษฐกิจเป็นหลัก
"ครั้งแรกที่ลงพื้นที่ไม่มีชาวบ้านอยากทำวิจัยกับเราเพราะเขาปลูกยางพาราเชิงเดี่ยวมานาน เขาไม่กล้าเสี่ยง กลัวว่าผลผลิตจะน้อยลง ผมทำเรื่องนี้เพราะรู้ว่าโจทย์จริงๆของเกษตรกรตอนนี้คือชาวสวนยางมีปัญหา มีความเสี่ยงเรื่องราคายาง นั่นคือปัญหาเรื่องปากท้องของเขา ขณะเดียวกันนอกจากปัญหาปากท้องที่ชาวบ้านเจอ เราต้องแก้ปัญหาน้ำแล้งด้วย ก่อนหน้านี้เมื่อ 2 ปีที่แล้วพื้นที่ต้นน้ำบ้านเขาปู่ประสบภัยแล้งอย่างรุนแรงซึ่งเป็นปัญหาพื้นฐานของงานวิจัยจึงเป็นที่มาของการทำโจทย์วิจัยในเรื่องนี้"
จากการค้นคว้าและวิจัยอย่างต่อเนื่องจากแปลงทดลองจำนวน 9 ไร่ ของชาวบ้าน โดยมีระยะการปลูกยางที่ไม่หนาแน่นอย่างในอดีต ทำให้สามารถปลูกพืชเสริมอย่างอื่นได้ด้วย ในแบบ Framework species หรือการฟื้นฟูป่าด้วยพันธุ์ไม้โครงสร้างในสวนยางพารา ที่คัดเลือกเอาเฉพาะพรรณพืชพื้นถิ่นของภาคใต้กว่า 30 ชนิด มาทดลอง โดยมีปราชญ์ชาวบ้านที่มีองค์ความรู้ในด้านพันธุ์ไม้พื้นถิ่นเข้ามาช่วยในการสนับสนุนข้อมูลการปลูก เช่น จำปาป่า ตำเสา กาแฟพันธุ์พื้นเมืองเขาบรรทัด ผักกูด บอนส้ม เป็นต้น จากผลวิจัยพบว่า ต้นยางสามารถเติบโตได้ปกติ แต่มีปริมาณน้ำยางและเปอร์เซนต์น้ำยางดีกว่าการปลูกยางเชิงเดี่ยวในแบบเดิมๆ
ดร.เชิดศักดิ์ กล่าวว่า การปลูกยางพาราในแบบวนเกษตรยางพารา ก่อให้เกิดนิเวศบริการที่ดีขึ้นในพื้นที่ เมื่อเปรียบเทียบกับสวนยางพาราเชิงเดี่ยว ทำให้เกษตรกรสามารถลดต้นทุนการผลิต เช่น ปุ๋ย แรงงาน ไปโดยปริยาย รวมทั้งเพิ่มรายได้จากพืชอื่นๆที่อยู่ในสวนยางและสามารถแก้ปัญหาในเรื่องการบริหารจัดการน้ำอย่างยั่งยืนได้ตรงจุด เพราะพิสูจน์ได้แปลงวนเกษตรยางพาราช่วยทำให้ดินมีสรรถนะในการอุ้มน้ำได้ดีขึ้น
อย่างไรก็ตาม ผลลัพธ์ที่ได้ของนิเวศบริการในสวนยางพารา ก่อให้เกิดกลไกของการเกื้อหนุนระหว่างคนกับป่า และคนกับพืชเศรษฐกิจ ส่งผลให้การทำอาชีพสวนยางพาราเป็นไปอย่างยั่งยืน โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพากลไกของตลาดเพียงอย่างเดียว และเป็นการสร้างความสมดุลในระบบนิเวศโดยใช้ธรรมชาติบำบัดธรรมชาติได้อย่างลงตัว