กรุงเทพฯ--8 มิ.ย.--Med Agency
หากพูดถึงศิลปะการนวดแผนไทย ไม่เพียงเป็นที่นิยมเฉพาะในกลุ่มคนไทย และชาวเอเชียเท่านั้น แต่ปัจจุบันได้เป็นที่รู้จักกันอย่างแพร่หลายในหมู่ชาวต่างชาติที่ชื่นชอบการบำบัดผ่อนคลายด้วยการนวดรวมทั้งการนวดร่วมกับการใช้สมุนไพรตามศาสตร์การประกอบโรคศิลป์ โดยมี กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ผลักดันให้ตลาดการนวดไทยบูมขึ้นส่งผลถึง รูปแบบธุรกิจร้านสปา หรือ สถานประกอบกิจการการ สปาไทย นวดไทยเพื่อสุขภาพได้มาตรฐาน ได้รับความสนใจในต่างประเทศมากขึ้น คนไทยในต่างประเทศนิยมเปิดร้านนวดไทย และ สปา ซึ่งปัจจัยสำคัญประการหนึ่งที่ธุรกิจจะดำเนินไปอย่างราบรื่นในต่างประเทศก็จำเป็นต้องได้ใบอนุญาต ตามขั้นตอนของกฎหมายครอบคลุมทั้งตัวสถานประกอบการและผู้ให้บริการในสายอาชีพนี้
เว็บไซต์เมดฮับนิวส์ดอทคอม MEDHUBNEWS.COM และ เพจ sasook รายงานว่า นวดไทย เป็นเรื่องที่นายกรัฐมนตรีให้ความสำคัญมาก เป็นนโยบายของรัฐบาล ช่วงนี้จึงมีการพูดเรื่องสาธารณสุข นวดไทย บ่อยๆ รวมทั้งการผลักดันให้ "นวดไทย" เป็นมรดกโลกตามแผนการดำเนินงานของกระทรวงวัฒนธรรม และ กระทรวงสาธารณสุข โดยจะไม่ใช้คำว่า "Thai Massage" แต่จะเปลี่ยนเป็น "นวดไทย" คงไว้ซึ่งอัตลักษณ์ไทย ที่เป็นภูมิปัญญาคนไทยจริงๆ ทั้งนี้ ในสหรัฐอเมริกา เป็นประเทศหนึ่งที่มีร้านให้บริการนวดสปานวดไทยจำนวนมาก หลายแห่งดำเนินธุรกิจอย่างถูกต้อง แต่หลายแห่งก็หลีกเลี่ยงกฎหมาย จนถูกตรวจจับและถูกปิดกิจการด้วยความไม่รู้กฎหมายหรือระเบียบการดำเนินธุรกิจในท้องถิ่น ในต่างประเทศค่อนข้างเข้มงวดเรื่องการตรวจจับอย่างมาก ทำให้ใบอนุญาต เป็นเรื่องสำคัญมาก เพราะจะเป็นใบเบิกทางที่จะออกไปทำงานต่างประเทศ ปัจจุบันในประเทศไทย มีโรงเรียนเปิดหลักสูตรการนวดมากมายเพื่ออบรมตามมาตรฐานโดยมี กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก เป็นผู้มอบอำนาจให้แต่ละสถาบันเปิดคอร์สจัดการเรียนการสอน อบรมการนวด ทักษะการนวดไทยประเภทต่างๆ ตามมาตรฐาน เช่น สมาคมแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย มีการเปิดเป็น "ศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงาน" มีสำนักงานใหญ่ตั้งภายในกระทรวงสาธารณสุข ถนนติวานนท์ และกระจายสาขาไปทั่วประเทศเพื่อให้สะดวกต่อผู้ประกอบอาชีพ เพราะธุรกิจร้านสปา นวดไทยมีมหาศาล
ดังนั้นผู้ที่อยู่ในวิชาชีพนี้มีความเชื่อมั่นใน "สมาคมแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย" ด้วยความที่จัดตั้งมายาวนาน และ สถานที่ภายในรั้วกระทรวงสาธารณสุข โดยใบอนุญาตที่ออกจาก "สมาคมแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย" มีโลโก้สมาคมฯ ทางวิชาชีพฯ จะมี ความภักดีในตราสินค้า ( Brand Loyalty ) และ มูลค่าตราสินค้าสูงมาก ( brand value)
หากจะมองให้เห็นภาพกว้างๆ คล้ายๆ กับ แพทย์แผนปัจจุบันที่เรียนกัน 6 ปี กว่าจะสามารถสอบผ่านจากสถาบันนั้นๆ และ ขอใบอนุญาตประกอบโรคศิลปะ ซึ่งต้องใช้มาตรฐานสูง เพราะคำว่า "หมอ" ประชาชนจะศรัทธานับถือมาก และคาดว่า "สมาคมแพทย์แผนไทยแห่งประเทศไทย" ก็ต้องมีมาตรฐานเช่นเดียวกัน
สำหรับ การออกใบอนุญาตประกอบกิจการ และ ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพนวดไทยรายบุคคล มีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ( สบส .) ดำเนินการตรวจ และ ขึ้นทะเบียน ซึ่งก่อนหน้านี้ไทยเรายังไม่มีการควบคุมมาตรฐาน จึงมีการออก พรบ.ฉบับใหม่ 2559 ขึ้นมาควบคุมดูแลให้มีมาตรฐาน คุ้มครองผู้บริโภค ขณะที่ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ( สบส .) เป็นหน่วยงานที่แยกตัวออกมาจากสำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข จำนวนบุคลากรจึงไม่เพียงพอต่อภาระงาน แต่เนื้องานเทียบเท่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา หรือ อย.ที่มีทั้งงบประมาณ และ บุคลากรจำนวนมาก จึงทำให้เกิดปัญหาในวิชาชีพแพทย์แผนไทย เป็นความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา มาตรฐานการเรียนการสอน กระทั่งบานปลายไปถึงเรื่องศักดิ์ศรีของวิชาชีพที่มีพลังมหาศาลในกลุ่มรากหญ้า และด้วย คุณภาพที่สังคมไทยยังมองไม่เห็นว่าเกิดอะไรขึ้น กลายเป็นระเบิดเวลาที่รอวันจะปะทุให้แตกลั่นสนั่นกระทรวงสาธารณสุข คล้ายๆ กับกระทรวงศึกษาธิการเวลานี้
ด้าน "ชมรมหมอนวดดี มีจรรยาบรรณ ไม่ทำแอบแฝง" เป็นแกนนำเครือข่ายตัวอย่างในการรณรงค์ให้วิชาชีพแพทย์แผนไทย อยู่ในมาตรฐานดั่งที่ปู่ย่าตาทวดของเราดำรงรักษาไว้ให้ลูกหลานมีงานทำในปัจจุบัน ซึ่งหากปล่อยไว้นานๆ ปัญหาจะยิ่งบานปลายขึ้นเรื่อยๆ ผู้ใดก็ตามอย่าริอาจกระทำระยำตำบอนกับวิชาชีพที่ท่านหมอชีวกโกมารภัจจ์ บรมครูแห่งการแพทย์แผนไทยได้สร้างมาตรฐานไว้ ต่อมาจึงเกิดการร่วมตัวกันของ "ชมรมหมอนวดดี มีจรรยาบรรณ ไม่ทำแอบแฝง" และเครือข่ายสื่อมวลชน ซึ่งเว็บไซต์เมดฮับนิวส์ดอทคอม MEDHUBNEWS.COM และ เพจ sasook ร่วมกันอาสาเข้ามากวาดบ้านให้สะอาด ทั้งหน้าบ้าน เพื่อนบ้านต่างๆ ในเรื่องที่เกี่ยวกับการนวดไทย นวดสปา หากพบว่าร้านนวดไหนทำแอบแฝง ไม่ว่าจะเป็นสปาชายหญิง สปาเกย์ ก็ต้องดำเนินการหมด สำหรับผู้ที่อยากเป็นแนวร่วมสามารถติดต่อมาได้ตลอดเวลา โดยเรามีไทม์ไลน์ในการแก้ปัญหาให้ได้ผลตลอดเวลา
สำหรับโครงสร้างการกำกับดูแลกิจการที่มีมูลค่ามหาศาลนี้ สร้างงาน สร้างเม็ดเงินเข้าประเทศมากมาย อยู่ภายใต้กฎหมายของ กรมสนับสนุนบริการสุขภาพ ( สบส .) มีแพทย์หญิงประนอม คำเที่ยง อธิบดี ได้มอบหมายให้ นายแพทย์ภานุวัฒน์ ปานเกตุ รองอธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ กำกับดูแลสถานประกอบการเพื่อสุขภาพของประเทศไทยทั้งหมด
ดังนั้นปัญหาร้องเรียน คุ้มครองผู้บริโภค ต่างๆ จึงเข้ามาทาง สบส.ซึ่งต่อไปจะมีภาระงานที่มากขึ้น ตาม พรบ.ที่เขียนไว้ครอบคลุมสถานประกอบการเพื่อสุขภาพทั้งหมด เช่น สถานดูแลพักฟื้นคนชรา สถานออกกำลังกายฟิตเนส โยคะ ฯลฯ เทรนเนอร์จะต้องมีใบอนุญาตตามมาตรฐาน
ล่าสุด นายแพทย์ภัทรพล จึงสมเจตไพศาล รองโฆษกกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (กรม สบส.) กระทรวงสาธารณสุข และผู้อำนวยการกองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ให้สัมภาษณ์ว่า จากข้อมูลของกองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ กรม สบส. พบว่า ปัจจุบัน ทั่วประเทศมีสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ ทั้งสปา นวดเพื่อสุขภาพ หรือเสริมความงาม ที่ขึ้นทะเบียนกับกรม สบส.และสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ เกือบ 3,000 แห่ง และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง หลายแห่ง จึงต้องมีการแข่งขันกันในด้านธุรกิจ ด้วยการจัดโปรโมชั่น หรือขึ้นป้ายโฆษณาเพื่อดึงดูดให้ประชาชนเข้ารับบริการกับตน ซึ่งตามกฎหมายพระราชบัญญัติสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ พ.ศ.2559 มิได้ห้ามให้มีการโฆษณาแต่อย่างใด แต่ผู้รับอนุญาตให้ประกอบกิจการฯ จะต้องดำเนินการให้ถูกต้องและเหมาะสมตามที่กฎหมายกำหนด ไม่โฆษณาในลักษณะที่เป็นเท็จ โอ้อวดเกินจริง หรือส่อไปในทางลามกอนาจาร โดยเฉพาะการอวดอ้างสรรพคุณของการบริการว่าสามารถรักษาหรือป้องกันโรคได้นั้นยิ่งห้ามโดยเด็ดขาด เนื่องด้วย สถานประกอบการเพื่อสุขภาพนั้นจัดตั้งขึ้นด้วยวัตถุประสงค์เพื่อให้บริการที่เกี่ยวกับการ ดูแลและเสริมสร้างสุขภาพโดยวิธีการบำบัดด้วยน้ำ หรือการนวดร่างกายเป็นหลัก มิได้มีบทบาทในการป้องกัน บำบัด รักษาโรคแต่อย่างใด "การนวดเพื่อบำบัด รักษาโรค และฟื้นฟูสุขภาพโดยใช้ศาสตร์นวดไทยนั้น หากผู้นวดขาดความชำนาญก็อาจจะทำให้เกิดอาการฟกช้ำ กล้ามเนื้ออักเสบ บวมแดง หรืออาจจะส่งผลกระทบต่อโรคประจำตัวของผู้รับบริการได้จึงต้องกระทำในสถานพยาบาล และรับบริการจากแพทย์ที่ได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพการแพทย์แผนไทยเท่านั้น ดังนั้น การโฆษณาว่าสถานประกอบการเพื่อสุขภาพของตนสามารถให้บริการบำบัดรักษาโรค อาทิ โรคไมเกรน, โรคเกาต์, โรครูมาตอย หรือกระดูกทับเส้น ฯลฯ จึงถือว่าเป็นการโฆษณาในลักษณะที่เป็นเท็จ โอ้อวดเกินจริง ทำให้เกิดความเข้าใจผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับการประกอบกิจการ
หากพนักงานเจ้าหน้าที่ฯตรวจพบจะมีคำสั่งให้ผู้ประกอบกิจการแก้ไขให้ถูกต้องในระยะเวลาที่กำหนด และหากไม่ดำเนินการแก้ไขภายในระยะเวลาที่กำหนดจะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป ซึ่งมีโทษถึงขั้นพักใช้หรือเพิกถอนใบอนุญาต" นายแพทย์ภัทรพล กล่าว
ทั้งนี้ กรม สบส.ขอเชิญชวนให้ประชาชนทุกคนมาร่วมเป็นเครือข่ายคุ้มครองผู้บริโภคในด้านระบบบริการสุขภาพ หากพบเห็นเบาะแสการกระทำผิดของสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ
ไม่ว่าจะเป็นการโฆษณาโอ้อวดเกินจริง หรือแอบแฝงบริการผิดกฎหมายในเขตกรุงเทพฯ สามารถแจ้งได้ที่ศูนย์รับเรื่องร้องเรียนกรม สบส.ทางหมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7000 ต่อ 18618 และกองสถานประกอบการเพื่อสุขภาพ หมายเลขโทรศัพท์ 02 193 7080 หรือทางเฟสบุ๊ค : ศูนย์รับเรื่องร้องเรียน สบส.กระทรวงสาธารณสุข