กรุงเทพฯ--11 มิ.ย.--กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
กระทรวงเกษตร หนุนขยายผลแนวทางการแก้ไขปัญหาเกษตกรบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติ โดยเฉพาะพื้นที่เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มรดกโลก ชู "แก่นมะกรูดโมเดล" ต้นแบบโมเดลบูรณาการหน่วยงานทุกภาคส่วนน้อมนำศาสตร์พระราชาแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการ สามารถลดการบุกรุกพื้นที่ป่า เพิ่มพื้นที่สีเขียวจัดการอนุรักษ์ดินและน้ำ ปรับเปลี่ยนพื้นที่เพาะปลูกตามแนวทางเกษตรทฤษฎีใหม่และส่งเสริมการท่องเที่ยวจนสามารถตั้งกองทุนหมุนเวียนพึ่งตนเองกลายเป็นต้นแบบการแก้ไขปัญหาแบบบูรณาการได้จริง
นายวิวัฒน์ ศัลยกำธร รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ลงพื้นที่ตรวจราชการ ณ บ้านแก่นมะกรูด อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี โดยรับฟังสรุปความสำเร็จของโครงการแก่นมะกรูดโมเดล และกล่าวมอบนโยบายให้กับข้าราชการระดับสูงและหน่วยงานในกำกับว่า ขอให้ข้าราชการทุกคนยึดหลักการให้แม่นยำคือคำว่า 'แม่นทฤษฎี มีวิญญาณ ประสานเซียน' เพื่อเป้าหมายการฟื้นฟูระบบเกษตรกรรมของไทยโดยทฤษฎีที่นำมาใช้ทั้งหมดมาจาก 'ศาสตร์พระราชา' และทฤษฎีใหม่ซึ่งทฤษฎีใหม่ไม่ได้มีเพียงเกษตรทฤษฎีใหม่เท่านั้นแต่ยังมีทฤษฎีใหม่ๆ อีกมากมายจาก 4,000 กว่าโครงการทั่วประเทศ จึงต้องมีนโยบายให้ผู้ปฏิบัติงานในทุกหน่วยงานเร่งศึกษาศาสตร์ของในหลวงรัชกาลที่ 9 ที่ทำไว้ให้ดูแล้วอย่างจริงจัง เพื่อนำลงไปช่วยเหลือเกษตรกรให้ได้มากที่สุดต้องศึกษาอย่างจริงจัง เช่นการแก้ไขปัญหาการชะล้างพังทลายของหน้าดินนั้นพระองค์ท่านทำไว้ให้ดูแล้วว่า หากเราปรับพื้นที่ให้เป็นขั้นบันได กักดิน เก็บน้ำไว้ในพื้นที่ให้ได้มากที่สุด จะสามารถสร้างความชุ่มชื้นไว้ให้พอสำหรับการเพาะปลูก จะปลูกอะไรก็ได้แบบผสมผสาน หรือจะเลี้ยงปลาในนาบนที่สูงยังทำได้ มีตัวอย่างทำไว้ให้ดูแล้ว สิ่งเหล่านี้จำเป็นต้องเร่งทำเพราะไม่เช่นนั้นการสูญเสียหน้าดินจากการชะล้างพังทลายในระดับนี้จะส่งผลให้เกิดการสูญเสียทางเศรษฐกิจมากขึ้นเรื่อยๆ ปัจจุบันเราสูญเสียเงินไปกับการชะล้างหน้าดินสูงถึงปีละกว่า 2.3 ล้านล้านบาทต่อปี ในขณะที่งบประมาณที่เก็บได้ปีละเพียง 2.7ล้านล้านบาทเท่านั้น ที่สำคัญการแก้ปัญหาของเกษตรกรต้องใช้จิตวิญญาณในการทำงาน และทำงานประสานกับหน่วยงานอื่นๆ เหมือนที่โครงการต้นแบบพื้นที่ 'แก่นมะกรูดโมเดล' ทำสำเร็จมาแล้ว
ทั้งนี้ โครงการนำร่องต้นแบบบูรณาการหน่วยงานร่วมแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่เกิดจากการบูรณาการหลายหน่วยงาน และดำเนินการในหลายมิติ เริ่มจากการสำรวจเพื่อกำหนดแนวเขตที่ดินร่วมกับสำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (GISTDA) ดำเนินการสำรวจและออกแบบการบริหารจัดการน้ำร่วมกับกรมชลประทานโดยปรับปรุงอ่างเก็บน้ำและระบบท่อส่งน้ำอ่างห้วยแก้วแม่ดีน้อยให้สามารถเพิ่มพื้นที่ใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้น มีการพัฒนาเกษตรผสมผสาน เกษตรประณีต การส่งเสริมการท่องเที่ยวทำให้ในปีที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาท่องเที่ยวถึง 80,000 คน สร้างรายได้ให้กับเกษตรกรในพื้นที่กว่า 3 ล้านบาท และสามารถลดพื้นที่การปลูกพืชเชิงเดี่ยวและคืนผืนที่สีเขียวรอบเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มรดกโลกได้ถึง 2,698 ไร่ภายในระยะเวลาเพียง 3 ปี
ด้านนายเอกรัตน์ พรหมศิริแสน หัวหน้าโครงการพื้นที่ต้นแบบการแก้ไขปัญหาการเกษตรและพัฒนาพื้นที่ต้นแบบ ต.แก่นมะกรูด อ.บ้านไร่ จ.อุทัยธานี กล่าวสรุปความสำเร็จว่า โครงการดำเนินการเมื่อต้นปี 2557 โดยสถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานงานพระราชดำริ ร่วมกับองค์การบริหารส่วนจังหวัดอุทัยธานีและจังหวัดอุทัยธานีเข้ามาสำรวจปัญหาในพื้นที่และความต้องการของชาวบ้านเพื่อหาแนวทางที่จะลดการบุกรุกพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าห้วยขาแข้ง มรดกโลก พบว่าชาวบ้าน 4 หมู่บ้านของแก่นมะกรูดมีพื้นที่ 21,600 ไร่ส่วนใหญ่ทำเกษตรเชิงเดี่ยว เช่น การปลูกข้าวโพด เลี้ยงสัตว์ ซึ่งทำให้หน้าดินเสื่อมโทรม และแหล่งเก็บน้ำตื้นเขินเกิดอุทกภัยน้ำป่าไหลหลาก ไฟไหม้ป่าและหมอกควันจนส่งผลให้เกษตรกรมีรายได้ไม่พอกับรายจ่ายเกิดภาวะหนี้สินกว่า 150,000 บาทต่อครัวเรือน
ดังนั้น จึงมีการพัฒนาระบบเกษตรและอาชีพโดยน้อมนำ "เกษตรทฤษฎีใหม่ประยุกต์" โคกหนองนา โมเดลลงปฏิบัติด้วยรูปแบบการรวมกลุ่มกันจำนวน 17 ราย พื้นที่ 317 ไร่ เริ่มดำเนินการเมื่อปี 2559 จากการรับสมัครเกษตรกรเข้าอบรมเพื่อปรับเปลี่ยนความคิดและลงมือทำโดยมุ่งเน้นให้เกษตรกร "ระเบิดจากข้างใน" จนประสบความสำเร็จดังตัวอย่าง นายวันนบ ขอสุข เกษตรกรชาวแก่นมะกรูด ดำเนินการในพื้นที่ 23 ไร่ เดิมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ได้ผลผลิต 14 เกวียน (21 ตัน) ขายเกวียนละ 12,000 บาท ได้รายได้ 168,000 บาทต่อปีต้นทุน 73,202 บาท กำไร 94,798 บาท หลังทำโคกหนองนา ปลูกกล้วยขายได้รายได้สัปดาห์ละ 7,000 บาทรายได้ต่อปี 336,000 บาท แหล่งท่องเที่ยว โฮมสเตย์ไร่อุ๋ยกื๋อ มีรายได้ช่วงเทศกาลปีใหม่ 270,000 บาทนอกจากนั้นยังมีผลไม้ อาทิ สับปะรด ฝรั่ง ส้มโอและพืช ผัก พอกินตลอดทั้งปี กลายเป็นตัวอย่างความสำเร็จแก้ไขปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่ามรดกโลกได้จริง