กรุงเทพฯ--11 มิ.ย.--มหาวิทยาลัยนเรศวร
..."การสร้างงานศิลปะไม่จำเป็นต้องใช้สี พู่กัน ผ้าใบ หรืออุปกรณ์มากมาย"...
..."ผู้สร้างงานศิลปะก็ไม่จำเป็นต้องเป็นศิลปิน"...
คำกล่าวของนายบุญเกิด แก้วดี ประธานกลุ่มศิษย์เก่าคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รุ่น ๑๒ ในพิธีเปิดนิทรรศการ "ศิลปะสัญจร รุ่น ๑๒ ครั้งที่ ๔" ณ หอศิลป์ฯ อาคารวิสุทธิกษัตริย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร โดยมีผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.วศิน ปัญญาวุธตระกูล ผู้อำนวยการกองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร เป็นประธานเปิดงาน พร้อมด้วยศิษย์เก่าวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รุ่น ๑๒ จำนวน ๒๒ คน ที่สร้างสรรค์ผลงานจิตรกรรม ประติมากรรม ภาพพิมพ์ และสื่อผสม จำนวนกว่า ๗๐ ชิ้น
นายบุญเกิด แก้วดี เล่าถึงที่มาของนิทรรศการครั้งนี้ว่า "เมื่อทุกคนเรียนจบ ต่างก็แยกย้ายกันไปทำงาน มีอาชีพแตกต่างกันออกไป แต่ทุกคนยังคงสร้างงานศิลปะ ทั้งที่ส่วนใหญ่ไม่ได้มีอาชีพเป็นศิลปิน จึงเกิดความคิดที่จะรวมตัวกันนำผลงานมาจัดแสดงต่อสาธารณชน"
นายบุญเกิดและเพื่อน ๆ มีความเห็นตรงกันว่า การจัดแสดงผลงานศิลปะที่จะก่อเกิดคุณค่ามากที่สุดคือ ศิลปะสัญจร เพื่อเปิดโอกาสให้ศิษย์เก่า ผู้ที่ชื่นชอบงานศิลปะ หรือบุคคลทั่วไปเข้าใจได้ว่า การทำงานศิลปะไม่จำเป็นต้องมีอุปกรณ์ทุกอย่าง หรือมีแนวคิดที่สมบูรณ์แบบ ขอเพียงมีต้นทุนที่สำคัญคือ หัวใจ
"แม้ว่าเราจะทำอาชีพอะไรก็ตาม การได้สร้างงานศิลปะนับเป็นการระเหิดความชอบ ระบายอารมณ์ การทำสมาธิ เป็นทุกอย่างที่สามารถอธิบายได้ โดยนำวัสดุใกล้ตัว หรือสิ่งที่เราพบเห็น คลุกคลีอยู่ทุกวัน มาผสมผสาน ปะติดปะต่อ เป็นผลงานได้โดยไม่จำเป็นต้องซื้อหา"
ผลงานปั้นหล่อ Black news รูปหัวเสือ สะท้อนถึงข่าวใหญ่ เหตุการณ์ครั้งสำคัญของประเทศไทยคือ เสือดำ โดยพิเชษฐ วงศ์จันทร์สม อาชีพช่างแต่งหน้าสเปเชียลเอฟเฟ็ค ที่ปั้นหัวเสือจากปูนปลาสเตอร์ แล้วนำหนังสือพิมพ์มาปะติด ตกแต่งด้วยหนวด และที่สำคัญคือรอยเลือดอาบใบหน้า บอกให้รู้ว่าเราเสพข่าวจากหนังสือพิมพ์ แค่อ่าน รับรู้ แล้วก็ทิ้งไปโดยไม่ได้ให้ความสนใจ ไม่ได้ให้ความช่วยเหลือกัน ไม่ก่อเกิดประโยชน์อันใด
ผลงานสีอะคริลิคบนผืนผ้าใบ ชุด Vajra Chains โดย ดร.ปภาดา ทัตพรพันธ์ อาชีพโบรกเกอร์ หรือที่ปรึกษาด้านการเล่นหุ้น เมื่อไรก็ตามที่เกิดความเครียด ก็ระบายลงบนผืนผ้าใบ ในลักษณะเส้น กราฟ คล้ายลักษณะการขึ้นลงของหุ้น มีสีสันที่บ่งบอกถึงปริมาณของหุ้น เป็นผลงานศิลปะที่มีสีสันสวยงามแล้วยังช่วยผ่อนคลายความเครียดได้เป็นอย่างดี
ผลงาน Daily Life โดยมรกต ยศธำรง อาชีพดีเซเนอร์ออกแบบข้าวของเครื่องใช้จากหนัง ส่งออกต่างประเทศ จึงนำหนังมาตกแต่งกับสิ่งที่ใช้ในชีวิตประจำวัน โดยการสไลดหนังเป็นแผ่นบาง ๆ นำมาหุ้มจาน ช้อน แก้ว ตะเกียบ ตะหลิว หรือแม้กระทั่งม้วนกระดาษชำระ ด้วยลักษณะและสีธรรมชาติของหนังทำให้เกิดความรู้สึกนุ่มนวล ไม่แข็งกระด้าง
ผลงานประติมากรรมจากไม้และเหล็ก Walker โดยบุญเกิด แก้วดี อาชีพช่างเหล็ก รับเชื่อม ออกแบบงานเกี่ยวกับเหล็ก "วันหนึ่งเดินไปเจอเศษเหล็ก และไม้อัด ทิ้ง ๆ ไว้ มีรองเท้าวางอยู่คู่กัน ก็เลยคิดว่า ประสบการณ์มันเริ่มจากการที่เราทำงานทุกวัน ประสบการณ์ชีวิตที่ต้องมีการเรียนรู้ตลอดเวลา เหมือนกับต้นไม้ที่ค่อย ๆ เติบโต แข็งแรง จึงใช้เหล็กกับไม้อัดมาเชื่อม ดัดด้วยแก๊ส ทำโครงสร้างให้เหมือนต้นไม้ที่สามารถหมุนได้ มีกิ่งก้านเป็นรูปรองเท้าสื่อสารถึงการก้าวเดินไปข้างหน้า"
ศิลปะออกแบบได้ด้วยตัวเอง ชีวิตเราก็สามารถออกแบบ สร้างสรรค์ กำหนดทิศทางได้ด้วยตัวเองเช่นกัน นิทรรศการ "ศิลปะสัญจร รุ่น ๑๒ ครั้งที่ ๔" ยังสอนให้เรานำสิ่งที่เราชอบ ถนัด ทำอยู่ทุกวัน มาประยุกต์ พัฒนา สร้างคุณค่าให้สังคมได้ไม่มากก็น้อย ไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง
ขอเชิญชม นิทรรศการ "ศิลปะสัญจร รุ่น ๑๒ ครั้งที่ ๔" โดยศิษย์เก่าคณะวิจิตรศิลป์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รุ่น ๑๒ ได้ในวันและเวลาราชการ ตลอดเดือนมิถุนายนนี้ ณ หอศิลป์ฯ อาคารวิสุทธิกษัตริย์ มหาวิทยาลัยนเรศวร
สอบถามเพิ่มเติมได้ที่งานบ่มเพาะและส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม กองส่งเสริมศิลปวัฒนธรรม มหาวิทยาลัยนเรศวร โทร. ๐ ๕๕๙๖ ๑๑๔๘ และ ๐ ๕๕๙๖ ๑๒๐๒