กรุงเทพฯ--11 มิ.ย.--สถาบันวิจัยวิทยาสาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย
กระทรวงวิทย์ นำ วทน.วิจัยพัฒนาปุ๋ยอินทรีย์จากของเหลือทิ้งอุตสาหกรรมน้ำตาล ทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ลดต้นทุนผลิตอ้อย 30% ในพื้นที่ส่งเสริมอ้อย 5 แสนไร่ จ.นครสวรรค์/อุตรดิตถ์/ชัยนาท สร้างความอุดมสมบูรณ์แก่ดินอย่างยั่งยืน
เนื้อข่าว:
ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี พร้อมคณะ ตรวจติดตามผลการดำเนินงานของ ศูนย์เชี่ยวชาญนวัตกรรมเกษตรสร้างสรรค์ สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ในการนำวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรม (วทน.) ดำเนินโครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตปุ๋ยอินทรีย์จากของเหลือทิ้งอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง รวมทั้งโครงการวิจัยและพัฒนาการผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมีเพื่อวิจัยและพัฒนาการผลิตปุ๋ยอินทรีย์สำหรับใช้ในการปรับปรุงดินและทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมีลดต้นทุนการเพาะปลูกอ้อย ได้ร้อยละ 30 ปรับปรุงและสร้างความอุดมสมบูรณ์ของดินอย่างยั่งยืน ในพื้นที่เขตส่งเสริมอ้อยกว่า 500,000 ไร่ ของ บริษัทเกษตรไทยอินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้ประกอบการซึ่งมีกำลังการผลิตน้ำตาลต่อวันมากที่สุดในโลก โดยมี ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ วว. พร้อมด้วยผู้บริหารและพนักงาน กลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ ร่วมให้การต้อนรับ ในวันที่ 11 มิถุนายน 2561 ณ ตำบลหนองโพ อำเภอตาคลี จังหวัดนครสวรรค์
ดร.ลักษมี ปลั่งแสงมาศ ผู้ว่าการ วว. กล่าวว่า วว. ดำเนินโครงการวิจัยฯ ดังกล่าวมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2560 ประสบผลสำเร็จในการดำเนินงาน คือ ได้กรรมวิธีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์โดยการหมักของเหลือทิ้งจากอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่อง และสามารถใช้เชื้อจุลินทรีย์ร่นระยะเวลาการย่อยสลายความสมบูรณ์ของปุ๋ยลงเหลือเพียง 1 เดือน จากปกติใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน โดยปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตได้สามารถใช้ในการปรับปรุงดินและทดแทนการใช้ปุ๋ยเคมี ช่วยลดต้นทุนการเพาะปลูกอ้อยและพืชอื่นๆได้ร้อยละ 30 รวมทั้งสามารถสร้างความอุดมสมบูรณ์ของดินได้อย่างยั่งยืน
"...กลุ่มเป้าหมายในการดำเนินโครงการนี้คือ เกษตรกรที่เป็นชาวไร่คู่สัญญาในพื้นที่เขตส่งเสริมอ้อยของโรงงานเกษตรไทยอินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ อุตรดิตถ์ และชัยนาท ซึ่งมีประมาณ 10,000 ราย บนเนื้อที่กว่า 500,000 ไร่ ทั้งนี้การพัฒนาวิทยาการ เทคโนโลยี และวิธีการจัดการ ในการผลิตอ้อยต้องการการวิจัยพื้นฐานและการวิจัยประยุกต์ต่อยอดที่สามารถนำมาใช้ได้จริงอย่างต่อเนื่อง ในทุกด้านของการผลิตอ้อย เช่น เทคโนโลยีการปรับปรุงดินด้วยปุ๋ยอินทรีย์ และการลดต้นทุนการผลิตอ้อยโดยการใช้ปุ๋ยอินทรีย์เคมี ภาครัฐจะต้องดำเนินการเพื่อสนับสนุนให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยมีอาชีพที่มั่นคงยั่งยืน และได้ปริมาณผลผลิตที่เพียงพอกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรม โดยการดำเนินงานของ วว. ภายใต้โครงการสามารถตอบโจทย์ดังกล่าวได้อย่างเป็นรูปธรรม..." ผู้ว่าการ วว. กล่าว
อนึ่ง ประเทศไทยเป็นประเทศผู้ปลูกอ้อยมากเป็นอันดับ 4-5 ของโลก และเป็นผู้ส่งออกน้ำตาลทรายเป็นอันดับ 2 ของโลก สามารถสร้างรายได้จากการจ้าหน่ายน้ำตาลทรายทั้งในประเทศและส่งออกได้ปีละ 180,000 ล้านบาท นอกจากนี้ยังเป็นแหล่งสร้างงานสร้างรายได้แก่ชาวไร่อ้อยกว่า 200,000 ครัวเรือน คิดเป็นประชากรกว่า 1 ล้านคน และ แรงงานอื่นอีกกว่า 1 ล้านคน ดังนั้นอ้อยซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ใช้ในอุตสาหกรรมอ้อย น้ำตาลทราย และอุตสาหกรรมต่อเนื่อง จึงเป็นพืชที่มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม
กอปรกับปัจจุบันอ้อยยังเป็นวัตถุดิบที่นำไปใช้ในการสร้างผลิตภัณฑ์ที่สำคัญอื่นๆ อีกมากมายโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การผลิตเอทานอล อ้อยจึงเป็นพืชที่มีความต้องการสูงกว่าปริมาณผลผลิตของเกษตรกร ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะมีอันดับในการส่งออกน้ำตาลเป็นอันดับต้นๆ ของโลกก็ตาม การพัฒนาประสิทธิภาพการผลิตอ้อยเพื่อให้ได้ผลผลิตอ้อยเพียงพอ และยั่งยืนบนสภาวะของการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม และการขาดแคลนแรงงานในภาคการเกษตร ต้องการวิทยาการการจัดการ และเทคโนโลยีที่สามารถแก้ไขปัญหา และส่งเสริมให้การปลูกอ้อยมีประสิทธิภาพสูงสุดในแต่ละพื้นที่ ซึ่งจะทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น และเกษตรกรชาวไร่อ้อยมีความมั่นคงและเชื่อมั่นในระบบการผลิตอ้อยของประเทศ