กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--เบรนเอเซีย คอมมิวนิเคชั่น
อีกครั้งที่ทีมไทยสร้างชื่อเสียงบนเวทีนานาชาติ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) กวาด 3 รางวัลจากการแข่งขัน Huawei ICT Competition 2018 Global Final ระหว่างสถาบันกลุ่ม HAINA ประกอบด้วย 1. รางวัลผลงานดีเด่น (Outstanding Performance Award) 2.รางวัลผู้สอนยอดเยี่ยม (Excellent ICT Academy Instructor Award) และ 3. รางวัลสถาบันยอดเยี่ยม (Excellent ICT Academy Award)
HAINA (Huawei Authorized Information and Network Academy) เป็นโครงการร่วมมือทางวิชาการระหว่างหัวเว่ยผู้นำไอซีทีระดับโลกกับสถาบันการศึกษาทั่วโลก 800 แห่ง ใน 15 ประเทศ เพื่อถ่ายทอดและพัฒนาองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารแก่คนรุ่นใหม่กว่า 40,000 คน ได้ทดลองปฏิบัติงานจริงกับอุปกรณ์เครือข่าย และมีศักยภาพความสามารถในระดับใบรับรอง HCNA (Huawei Certificate Network Associate) เพื่อเตรียมความพร้อมและทักษะความรู้ที่สามารถจะไปทำงานตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมไอทีทั่วโลกได้ทันทีเมื่อจบการศึกษา
3 หนุ่ม คือธีรวัฒน์ สุประภากร, ภาบถ ไกรกฤตยากุล และภาณุพงศ์ ร่วมจิต ทีมนักศึกษาจากประเทศไทยที่คว้ารางวัลผลงานดีเด่น (Outstanding Performance Award) ในเวทีแข่งขัน Huawei ICT Competition 2018 Global Final ที่เมืองเซินเจิ้น ประเทศจีน บอกเล่าว่า "นี่เป็นครั้งแรกของประเทศไทยที่เข้าร่วมการแข่งขันในเวทีระดับโลกครั้งนี้ มีทีมที่เข้ารอบสุดท้ายจากทั่วโลกเพียง 23 ทีม พวกเราทีมไทยได้เตรียมตัวมาเป็นอย่างดี ทั้งศึกษาและทบทวนความรู้ด้าน Routing and Switching Technology, WLAN, Network Security,Cloud Computing และ Storage จากระดับ HCNA HCNP และ HCIE รวมทั้งอาจารย์ให้ฝีกทดสอบการปฏิบัติจริงกับอุปกรณ์เครือข่ายคอมพิวเตอร์ที่ศูนย์ HAINA ของภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม
...เวลาในการแข่งขันจริง 8 ชั่วโมง เริ่มตั้งแต่ 10 โมงเช้าถึง 6 โมงเย็น โจทย์คือการเชื่อมต่อเครือข่ายคอมพิวเตอร์ เพื่อให้สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ในวงกว้างอย่างปลอดภัยและมีประสิทธิภาพ โดยใช้ เร้าเตอร์ 7 ตัว สวิทซ์ 7 ตัว WLAN SAN ระหว่างสำนักงานใหญ่กับสำนักงานย่อยในภูมิภาคต่าง ๆ ให้ง่ายต่อการจัดการเครือข่าย ติดตั้ง Firewall เพื่อป้องกันภัยคุกคามที่อาจส่งผลกระทบต่อข้อมูลและทรัพยากรของบริษัท รวมทั้งเชื่อมต่อเครือข่ายของบริษัทที่มีอยู่เดิมให้เข้ากับเทคโนโลยีรูปแบบใหม่อย่าง Cloud Computing และ Storageซึ่งการเชื่อมต่อ Cloud Computing และ Storage เป็นอุปสรรคที่สำคัญในการแข่งขัน แม้ว่าเราจะขาดประสบการณ์ แต่เราก็ก้าวข้ามข้อจำกัดนี้ ด้วยการมุ่งมั่นศึกษาระบบในส่วนต่างๆที่ไม่เคยเรียนมาก่อน และตั้งสติระหว่างการแข่งขันเดินหน้าแก้ไขปัญหาไปทีละขั้นตอน เริ่มตั้งแต่กระบวนการคิดและลงมือปฏิบัติได้อย่างมีประสิทธิภาพ
...ในฐานะที่เราเป็นคนรุ่นใหม่ จะนำประสบการณ์จากการแข่งขันเวทีระดับโลกครั้งนี้ มาต่อยอดในธุรกิจสตาร์ทอัพ เราเป็นเสมือนกลุ่มนวัตกรผู้สร้างและพัฒนานวัตกรรม อุปกรณ์ต่าง ๆ และงานบริการด้านไอที ซึ่งสิ่งให้สามารถตอบโจทย์การพัฒนาชาติในยุค 4.0 ได้อย่างยั่งยืนครับ"
ด้าน ผศ.ดร.นภัทร สระเอี่ยม อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม คณะวิศวกรรมศาสตร์ สจล. ผู้ได้รับรางวัลชนะเลิศผู้สอนยอดเยี่ยม (Huawei Excellent ICT Academy Instructor Awards) กล่าวว่า "สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) จัดตั้งศูนย์ HAINA เป็นแห่งแรกในประเทศไทย โดยทางหัวเว่ยส่งวิศวกรจีนมาเสริมความรู้ให้แก่คณาจารย์ 10 วัน ผ่านการทดสอบและได้ใบรับรองระดับผู้สอน (Huawei Excellent ICT Academy Instructor) หรือ HCAI มีการอบรมหลักสูตร Huawei Certified Internetwork Expert (HCIE) ภายหลัง ใช้ระยะเวลาการอบรม 1 สัปดาห์ และสอบผ่านใบรับรองระดับ HCIE ใน 6 เดือนต่อมา หลังจากนั้นก็นำความรู้ด้าน ICT และ ระบบเครือข่ายมาถ่ายทอดให้แก่นักศึกษาในภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคม กระตุ้นการเรียนรู้แบบ Active Learning ผ่านอุปกรณ์เครือข่ายระดับองค์กรที่ความก้าวหน้าและทันสมัย มีโปรแกรมจำลองแบบและข้อมูลต่าง ๆ ให้นักศึกษาชั้นปีที่ 4 ที่เลือกเรียนวิชาของ HAINA ได้เรียนรู้และทดลองจริง เริ่มจากแนะนำเทคโนโลยีเครือข่ายให้นักศึกษาเห็นภาพรวมทิศทางและระบบทั้งหมด ให้นักศึกษาเข้าใจด้านทฤษฎีทั้งหมดก่อน แล้วลงมือปฏิบัติกับอุปกรณ์จริง นักศึกษาจึงเข้าใจมุมมองระบบเครือข่ายที่ใช้งานจริงในโลกไอที มากกว่าการสอนแบบเดิมที่อ้างอิงจากตำราและงานวิจัยเท่านั้น ทำให้ศูนย์ HAINA ของภาควิชาวิศวกรรมโทรคมนาคมมีนักศึกษาสามารถสอบใบรับรอง HCNA ได้มากที่สุดในโลก"
รศ.ดร.คมสัน มาลีสี คณบดี คณะวิศวลาดกระบัง กล่าวว่า " การที่สจล.ได้รับรางวัลสถาบันยอดเยี่ยม (Excellent ICT Academy Award) เป็นความภาคภูมิใจอย่างยิ่งเทคโนโลยีที่ผกผันไปอย่างรวดเร็ว การปรับตัวจึงเป็นสิ่งที่สำคัญของการศึกษา หลักสูตรการเรียนการสอนด้านดิจิทัลเทคโนโลยีของไทย ควรมีการผสมผสานศาสตร์อื่น ๆ เข้าด้วยกัน เช่น ความมั่นคงปลอดภัยในระบบเครือข่าย การใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยจัดการ ผู้สอนและนักศึกษาต้องเร่งเรียนรู้เทคโนโลยีให้หลากหลายตลอดเวลา และควรร่วมมือกับภาคเอกชนและหน่วยงานต่าง ๆอย่างใกล้ชิด เพื่อให้เห็นถึงปัญหาและแนวทางปรับหลักสูตรสำหรับผลิตนักศึกษาที่มีทักษะสูงและความสามารถที่ตอบรับกับอนาคตแนวโน้มอุตสาหกรรมไอที พร้อมไปกับพัฒนาหลักสูตรให้ทันสมัยเข้ากับอุตสาหกรรม ด้านนักศึกษาเองก็ควรศึกษาอัพเดทเทคโนโลยีใหม่ ๆ ด้วยตนเองอย่างสม่ำเสมอด้วยเช่นกัน"