TPIPP แจงภาครัฐยังรับซื้อพลังงานไฟฟ้าจากขยะ มั่นใจผลการดำเนินงานปีนี้เติบโตได้ดีตามแผน

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 12, 2018 12:02 —ThaiPR.net

กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--เอ็ม ที มัลติมีเดีย 'บมจ.ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์' หรือ TPIPP ผู้ประกอบธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ (RDF) และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้งที่ใหญ่ที่สุดในไทยที่มุ่งเน้นความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม แจงความคืบหน้าหลังภาครัฐทบทวนนโยบายรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตโดยพลังงานทดแทนจากภาคเอกชน ในส่วนของโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะยังเปิดรับซื้อไฟฟ้าจากเอกชนเช่นเดิม ด้านผู้บริหารมั่นใจผลการดำเนินงานในปีนี้จะเติบโตได้ดี หลังเริ่มรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะและโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง (TG 6 และ TG 4) ที่ COD ให้แก่ กฟผ.ตั้งแต่ต้นเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา และยังมีโรงไฟฟ้าอีก 2 โรงที่อยู่ระหว่างดำเนินการเพื่อ COD ให้ครบทุกโรงตามแผนงาน นายภัคพล เลี่ยวไพรัตน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายบัญชีและการเงิน บริษัท ทีพีไอ โพลีน เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ TPIPP เปิดเผยว่า หลังจากที่ภาครัฐได้มีการทบทวนนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าที่ผลิตโดยพลังงานทดแทนจากภาคเอกชนนั้น ในส่วนของโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะนั้น ทางกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงพลังงานได้มีการหารือกัน โดยที่ยังคงดำเนินการต่อไปตาม Roadmap ซึ่งกระทรวงมหาดไทยกำหนดไว้เช่นเดิม โดยจะให้ท้องถิ่นดำเนินการจัดหาเอกชนเข้ามาดำเนินการในรูปแบบ BOT โดยผลตอบแทนเป็นค่ากำจัดขยะ tipping fee และ ค่าไฟฟ้า ต่อไป โดยกระทรวงพลังงานจะยังคงรับซื้อไฟฟ้าด้วยราคาเป็นไปตามประกาศเดิม กรณีที่เป็นผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็กมาก (VSPP) จะรับซื้อไฟฟ้าที่อัตราประมาณ 5.78 บาทต่อหน่วย และผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) จะรับซื้อไฟฟ้าที่อัตราประมาณ 3.66 บาทต่อหน่วย ส่วนโครงการที่กรุงเทพมหานคร (กทม.) ยังคงอยู่ระหว่างเดินหน้าโครงการโรงกำจัดขยะและผลิตพลังงานไฟฟ้าเพิ่มเติมอีก 2 แห่งที่อ่อนนุชและหนองแขม ซึ่งแต่ละแห่งจะรองรับปริมาณขยะได้ไม่น้อยกว่า 1,000 ตันต่อวัน และผลิตพลังงานไฟฟ้าได้ไม่น้อยกว่า 20 MW เพื่อช่วยแก้ไขปัญหาขยะใน กทม.ที่เพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน โดยเบื้องต้นคาดว่าจะมีการเปิดประมูลให้ภาคเอกชนเข้าดำเนินโครงการดังกล่าวในไตรมาส 4 ของปีนี้ "บริษัทฯ มีประสบการณ์และความเชี่ยวชาญในการดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะมานาน โดยมองว่าการผลิตพลังงานไฟฟ้าด้วยเชื้อเพลิงจากขยะมีส่วนช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปีที่ผ่านมา กทม.มีปริมาณขยะเกิดขึ้นเฉลี่ย 10,000 ตันต่อวัน ขณะที่ขยะมูลฝอยทั่วประเทศในปีที่ผ่านมามีปริมาณสะสมประมาณกว่า 27 ล้านตัน ซึ่งส่งผลกระทบ และสร้างปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมและสุขอนามัย" นายภัคพล กล่าว นายภากร เลี่ยวไพรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ TPIPP กล่าวว่า มีความมั่นใจในภาพรวมการดำเนินงานในปีนี้จะเติบโตได้ดีตามแผนงาน โดยในช่วงครึ่งปีหลังของปีนี้คาดว่าจะมีการเติบโตที่ดีกว่าครึ่งปีแรก โดยมีปัจจัยหลักมาจากปริมาณการผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ หลังจากที่โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงจากขยะ TG 6 และโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนทิ้ง TG 4 ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมกัน 100 MW ได้ผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) และจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า 90 MW ตั้งแต่วันที่ 5 เมษายน 2561 ที่ผ่านมา ส่งผลให้ปัจจุบัน TPIPP มีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วทั้งสิ้น 5 โรง กำลังการผลิตติดตั้งรวม 220 MW นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังมีโรงไฟฟ้าอีก 2 โรงที่อยู่ระหว่างดำเนินการตามขั้นตอนการขอใบอนุญาต ได้แก่ โรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงจากขยะ-ถ่านหิน 70MW (TG 7)ที่คาดว่าจะเริ่ม COD ภายในเดือนมิถุนายนนี้ และโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหิน 150MW (TG 8) ที่คาดว่าจะเริ่ม COD ในไตรมาส 3 นี้ ซึ่งทั้ง 2 โรงจะจำหน่ายไฟฟ้าให้แก่ บมจ.ทีพีไอ โพลีน (TPIPL) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ ในอัตราเดียวกับที่ TPIPL ซื้อไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และจะส่งผลให้บริษัทฯ มีโรงไฟฟ้าที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ครบทุกแห่ง โดยมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งหมด 440 MW "มั่นใจว่าปีนี้จะเป็นปีที่ดีของบริษัทฯ จากผลการดำเนินงานที่มีแนวโน้มเติบโตได้อย่างต่อเนื่องและมั่นคง เนื่องจากในไตรมาส 2/61 เราเริ่มรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้า TG 6 และ TG 4 ที่ COD เป็นที่เรียบร้อย และหากโรงไฟฟ้าอีก 2 แห่งที่เหลือคือ TG 7 และ TG 8 สามารถ COD ตามแผนงาน ก็คาดว่าภาพรวมรายได้ของบริษัทฯ ในปีนี้จะเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 9,500-10,000 ล้านบาท" นายภากร กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ