กรุงเทพฯ--12 มิ.ย.--โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล
เบาหวานเข้าจอประสาทตา (Diabetic Retinopathy) หรือเรียกง่ายๆ ว่าเบาหวานขึ้นตา คือภาวะแทรกซ้อนที่พบในผู้ป่วยที่เป็นโรคเบาหวาน ส่งผลให้เกิดอาการตามัว ซึ่งอาจร้ายแรงถึงขั้นสูญเสียการมองเห็นหรือตาบอดได้ ปัจจัยที่ทำให้เกิดเบาหวานขึ้นตา มีอยู่ 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่ ระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงเกินเกณฑ์จากการคุมโรคเบาหวานได้ไม่ดี และระยะเวลาที่เป็นเบาหวาน ยิ่งเป็นเบาหวานนานหลายปี โอกาสที่เบาหวานจะขึ้นตาก็มีมากตามไปด้วย
กลไกการเกิดเบาหวานขึ้นตา เกิดจากระดับน้ำตาลในเลือดที่สูงอยู่เป็นระยะเวลานาน ทำให้ผนังของหลอดเลือดผิดปกติ ซึ่งจอประสาทตาเป็นส่วนของลูกตาที่มีหลอดเลือดมาเลี้ยงจำนวนมาก จึงได้รับผลกระทบดังกล่าว เกิดเลือดออกในจอประสาทตา เกิดการบวมของจุดรับภาพชัดบนจอประสาทตา เกิดเส้นเลือดงอกใหม่ที่ผิดปกติ มีภาวะต้อหินแทรกซ้อน และเกิดพังผืดดึงรั้งจอประสาทตาให้หลุดลอกได้ในที่สุด นอกจากนี้ ระดับน้ำตาลที่สูงยังสามารถทำให้เกิดเลนส์ตาบวม ส่งผลให้การมองเห็นไม่ชัดเจนคล้ายคนสายตาสั้น หากระดับน้ำตาลขึ้นๆลงๆไม่คงที่ ก็จะเป็นสาเหตุให้คนที่เป็นเบาหวานนั้นบางวันมองชัด บางวันมองไม่ชัด หรือมีค่าสายตาเปลี่ยนบ่อยได้วิธีรักษาเบาหวานเข้าจอประสาทตา แบ่งเป็น 3 วิธีหลักๆ ได้แก่
1. การยิงเลเซอร์ที่จอประสาทตา เพื่อลดโอกาสเกิดเลือดออกในน้ำวุ้นตา
2. การฉีดยาเข้าในน้ำวุ้นตา เพื่อลดภาวะบวมบริเวณจุดรับภาพชัดในจอประสาทตา
3. การผ่าตัดจอประสาทตา ใช้ในกรณีที่เป็นเบาหวานเข้าจอประสาทตาระยะรุนแรง เช่น มี พังผืดดึงจอประสาทตาให้หลุดลอก หรือมีเลือดออกในน้ำวุ้นตา
การป้องกันเบาหวานไม่ให้ขึ้นตาหรือชะลอความรุนแรงของเบาหวานขึ้นตา ทำได้โดย
1. คุมระดับน้ำตาลในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม ได้แก่ ค่าน้ำตาลสะสมหรือ Hemoglobin
A1C ไม่ควรมีค่าเกิน 7%
2. หากมีโรคอื่นร่วมด้วย ได้แก่ ความดันโลหิตสูงหรือไขมันในเลือดสูง ควรคุมค่าความดันโลหิตและค่าไขมันในเลือดให้อยู่ในเกณฑ์ปกติ ควบคู่ไปกับการคุมเบาหวาน จะช่วยชะลอความรุนแรงของเบาหวานขึ้นตาได้
3. หมั่นตรวจคัดกรองเบาหวานขึ้นตากับจักษุแพทย์เป็นประจำทุกปี อย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง เนื่องจาก หากพบเบาหวานขึ้นตาตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ผลการรักษาจะดีกว่าเจอโรคในระยะรุนแรงแล้ว
บทความโดย : แพทย์หญิง อุษณีย์ สีพงษ์พันธ์ จักษุวิทยา เฉพาะทาง โรงพยาบาลเวิลด์เมดิคอล
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม ศูนย์จักษุวิทยาเฉพาะทาง โทร. 02-836-9999 ต่อ 3621-2